ซัมซุงถอดบทเรียนความสำเร็จ Samsung Innovations Campus สอน 'Coding' ออนไลน์ให้สำเร็จ ต้องเน้นพัฒนาเนื้อหา แพลตฟอร์ม และพันธมิตร เสียงตอบรับ ‘เยาวชนดิจิทัล’ ผู้เข้าร่วมโครงการกว่าร้อยละ 80 มีความพึงพอใจ ได้รับความรู้และทักษะที่นำไปใช้ได้จริงในอนาคต ครึ่งปีหลังเตรียมขยายผลสร้างนวัตกรรุ่นเยาว์ ต่อยอดโมเดลผสานความรู้ Coding กับความเข้าใจและการพัฒนานวัตกรรม

วาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ในผู้จัดการโครงการ Samsung Innovation Campus กล่าวว่า โครงการนี้พัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพเด็กไทยในยุคดิจิทัลผ่านการอบรมโค้ดดิ้ง (Coding) ตามวิสัยทัศน์ ในการมุ่งสร้างพลังคน มุ่งสร้างอนาคตที่ดีร่วมกัน (Together for Tomorrow! Enabling People) ของซัมซุงทั่วโลก

ในปีนี้ได้พบว่าการยกระดับโครงการสู่รูปแบบออนไลน์ได้ผลตอบรับจากผู้เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี โดยผลจากการสำรวจพึงพอใจของนักเรียนผู้ร่วมโครงการ พบว่า กว่าร้อยละ 80 พึงพอใจในรูปแบบ เนื้อหาและพบว่า สามารถนำเอาความรู้และทักษะที่ได้ไปใช้กับงานในอนาคต แม้จะมีข้อจำกัดในเรื่องรูปแบบที่จำเป็นจะต้องอบรมผ่านทางออนไลน์เท่านั้น แต่ความสำเร็จของโครงการปีนี้ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน

อันดับแรกคือการที่โครงการทำการปรับเนื้อหาทั้งในส่วนของ Coding ที่เน้นภาษาที่สามารถเสริมความเข้าใจระหว่างกัน เป็นภาษาพื้นฐานที่เรียนได้ง่ายผ่านห้องเรียนในลักษณะออนไลน์ และเนื้อหายังต้องเหมาะกับเยาวชนที่ไม่มีพื้นฐานด้าน Codingมาก่อน พร้อมกันนี้ยังเสริมเนื้อหาในส่วนของความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรมและเครื่องมือสำหรับนวัตกร เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งด้านความรู้และทักษะแห่งอนาคตให้กับผู้เข้าร่วมโครงการอย่างรอบด้านและสามารถสร้างสรรค์ไอเดียออกแบบนวัตกรรมได้

 

นอกจากนี้ ระบบสนับสนุนการเรียนออนไลน์ ทั้งในส่วนที่เป็นโปรแกรมเรียนสด ติดตามและปรึกษาเนื้อหา รวมถึงความร่วมมือจากพันธมิตรที่เข้ามาร่วมพัฒนาเนื้อหายังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้โครงการสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยในปีนี้ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เป็นพันธมิตรที่เข้ามาช่วยพัฒนาเนื้อหาโค้ดดิ้ง 3 ภาษา Scratch C และ Python และบริษัท สยามเมนทิส จำกัด ร่วมพัฒนาเนื้อหาและออกแบบกิจกรรมเสริมความเข้าใจความสำคัญและการออกแบบพัฒนานวัตกรรม

ด้าน อาจารย์อดิศักดิ์ เสือสมิง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า จากโครงการนี้เราได้เห็นศักยภาพของเด็กๆ ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียน ที่สามารถทำความเข้าใจเนื้อหาที่มีความยากและท้าทายสูงในระดับมหาวิทยาลัยได้จากที่ไม่มีความรู้มาก่อน ประเด็นการตั้งคำถาม ซึ่งนักเรียนตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนได้ดี แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีความใฝ่รู้ อยากแก้ปัญหา และอยากพัฒนาผลงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเห็นได้ชัดว่า ผู้เข้าร่วมโครงการนับเป็น ‘เยาวชนแห่งยุคดิจิทัล’ ที่แท้จริง

“เขาสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาไอทีได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีพื้นฐานความเข้าใจดีอยู่แล้ว สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี เพราะมีตัวอย่างให้เห็นอยู่รอบตัว เช่น แอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน และสามารถประยุกต์ต่อยอดได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ แบบที่คนรุ่นที่ผ่านมาไม่เคยเห็นมาก่อน”

ทั้งนี้ หากเริ่มปูความรู้และช่วยผลักดันนวัตกรรุ่นเยาว์ได้เร็วเท่าไร ก็สามารถส่งเสริมให้มีความรู้และประสบความสำเร็จได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งความรู้ที่ได้รับจากโครงการจะเป็นประโยชน์ต่อเส้นทางอาชีพนวัตกร นักออกแบบและพัฒนาโปรแกรม และนักวิจัยนวัตกรรม ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดงานในปัจจุบัน

สำหรับเยาวชน ผู้เข้าร่วมโครงการสร้างนวัตกรรุ่นเยาว์นั้น หลายคนซึ่งมีความสนใจในเรื่อง Coding เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลังจากได้เข้าอบรมต่างได้รับความรู้และทักษะเตรียมพร้อมมากยิ่งขึ้นสำหรับงานในวันข้างหน้า

ชนุดม ทัศนวิฑูรกฤษ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เผยว่า “ผมสนใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่แล้ว และเมื่อโตขึ้นก็อยากเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ เพราะคิดว่าในอนาคตจะต้องมีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ การเรียนในโครงการ SIC ทำให้ผมรู้สึกมั่นใจมากขึ้นที่จะไปต่อทางด้านนี้ เพราะเรียนแล้วสนุก ได้เข้าใจวิธีการเขียนโปรแกรมภาษาต่างๆ และรู้จักคำสั่งการต่างๆ มากขึ้นครับ”

ขณะที่ ชิษนุพงศ์ เลิศพิทักษ์สิทธิ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เล่าถึงการอบรมในครั้งนี้ว่า โครงการ SIC ทำให้ได้เรียนภาษาโปรแกรมมิ่งใหม่ๆ และจากการเรียนเกี่ยวกับพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้รู้ว่าสิ่งของรอบตัวหลายอย่างที่ใช้ในปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องกับ Coding อย่างโซเชียลมีเดียที่เราใช้อยู่ประจำ หรือเกมที่ชอบเล่นก็ต้องผ่านการเขียนโปรแกรม ในอนาคตอยากเขียนโปรแกรมที่ช่วยในการตามหาของส่วนตัว เพราะเชื่อว่านอกจากตัวเองแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่ชอบหาของไม่เจอ ตอนนี้เรากดปุ่มตามหาสมาร์ทโฟนหรือหูฟังได้ แต่ในอนาคตอยากทำให้หาของได้ทุกอย่าง และมองว่าความรู้ที่ได้มาสามารถนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

เช่นเดียวกับ ณภัค วิทยาดี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ที่เล่าว่า “การมาร่วมโครงการทำให้ได้เรียนภาษาซีเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่เคยมีโอกาสได้เรียนจากที่ไหนมาก่อน และไม่ต้องเสียเงินเพื่อเรียนพิเศษนอกเวลา  ซึ่งความรู้ภาษาซีจะช่วยให้เข้าใจภาษาโปรแกรมมิ่งในระดับที่ยากขึ้นได้ นอกจากการเรียนโค้ดดิ้งแล้ว ตอนนี้รู้สึกสนใจเรื่องอาหาร ในอนาคตก็อยากใช้ความรู้โค้ดดิ้งเพื่อเขียนโปรแกรมที่ช่วยจัดการออเดอร์ในร้านอาหารค่ะ หนูคิดว่าความรู้ Coding สามารถประยุกต์ได้กับหลายๆ อย่าง”

ทั้งนี้ ซัมซุงมีแผนที่จะขยายผลความสำเร็จของโครงการ Samsung Innovation Campus ในครึ่งปีหลังของ 2563 โดยเตรียมจัดค่ายโค้ดดิ้งระยะสั้น พัฒนาต่อยอดจากโมเดลที่ผสานความรู้ Coding กับความเข้าใจและการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างนวัตกรรุ่นเยาว์ที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนโลกในอนาคตต่อไป

SOURCE : www.bangkokbiznews.com