ประเทศไทยแม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด19 จะอยู่ในระดับต่ำ และควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่าในหลาย ๆ ประเทศ แต่วิกฤตครั้งนี้ก็ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อย  โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว หนึ่งในเครื่องยนต์หลัก ที่ไทยมีโดยรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นสัดส่วนถึง 12% ของ GDP

     เมื่อเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงขนาดนี้ แต่การเดินทางระหว่างประเทศมีแนวโน้มจะเป็นด่านสุดท้ายที่จะถูกคลายล็อก ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว หรือฟื้นตัวแบบรูปตัว V เลยหรือไม่ เหล่านี้เป็นคำถามสำคัญที่หลายคนยังกังวลและต้องหาทางออก

      ข้อมูลจาก KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร  ระบุว่า เศรษฐกิจไทยอาจไม่สามารถคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างฉับพลันได้ถึงแม้จะมีการทยอยเปิดเมืองแล้วก็ตาม ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ข้อ คือ

การเปิดรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มจะเป็นด่านสุดท้ายที่จะถูกคลายล็อก

       กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะกลับมาได้บ้างจากการปลดล็อกภายในประเทศ แต่การใช้จ่ายภายในประเทศก็ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยเม็ดเงินที่สูญเสียไปจากการท่องเที่ยวที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทย

       จากตัวเลขสถิตินักท่องเที่ยว ประมาณได้ว่า ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในประเทศไทยถึงประมาณ 1 ล้านคนต่อวันโดยเฉลี่ย (อาจมากน้อยต่างกันตามฤดูกาล) และจากสถิติบัญชีรายได้ประชาชาติ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 6,039 บาทต่อคนต่อวัน สูงกว่าการใช้จ่ายเฉลี่ยของไทยเที่ยวไทยกันเองถึงกว่า 2 เท่า และมากกว่าการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของคนไทยถึง 13 เท่า หากจะให้การใช้จ่ายของคนไทยกันเองสามารถชดเชยผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากรายได้ที่สูญเสียไปจากการท่องเที่ยวได้หมด คนไทยวัย 15 ปีขึ้นไปทุกๆ คน ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 56.5 ล้านคน จะต้องเพิ่มการใช้จ่ายขึ้นคนละ 20% ซึ่งคงเป็นไปได้ยากในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้

       ซึ่งการเปิดรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มจะเป็นด่านสุดท้ายที่จะถูกคลายล็อก ด้วยความยากในการตรวจสอบนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใหม่ในประเทศ เพราะยังไม่มีระบบการตรวจสอบผู้ติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพทราบผลได้รวดเร็ว และระบบการติดตามคัดกรองผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อที่รัดกุมและครอบคลุมเพียงพอ

       ในปี 2019 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีถึง 39.8 ล้านคน คิดเป็นนักท่องเที่ยวขาเข้าเฉลี่ย 109,040 คนในแต่ละวัน ถ้าจะเปิดการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ในช่วงนี้ อาจจะต้องมีการเตรียมการทั้งระบบการตรวจสอบ สถานที่กักตัว และระบบติดตามให้เพียงพอกับคนจำนวนมากที่จะเข้ามาในแต่ละวัน จึงคาดหวังได้ยากว่าประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เต็มที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในปีนี้

 

การเปิดเมืองแบบที่ยังมีการรักษาระยะห่างทางสังคม  อย่างเคร่งครัด

          social distancing ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อควบคุมโรค ฉะนั้น แม้ว่าไทยจะสามารถเปิดประเทศเพื่ออนุญาตให้มีการเดินทางและการท่องเที่ยวได้กับบางประเทศหรือกลุ่มประเทศ แต่การท่องเที่ยวแบบต้องกักตัวและรักษาระยะห่าง ย่อมมีผลต่อการตัดสินใจมาท่องเที่ยวของต่างชาติ และเพิ่มต้นทุนทำให้หลายธุรกิจไม่สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้เต็มศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวดสปา กรุ๊ปทัวร์ การโดยสารรถบัส สถานที่จัดการแสดงโชว์ ผับบาร์ ล้วนแล้วแต่ต้องมีการจัดระเบียบใหม่ อาจทำให้รับลูกค้าได้เพียงครึ่งเดียวของระดับปกติ บางธุรกิจที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็มีแนวโน้มถูกปิดยาว

"หากรายได้จากการท่องเที่ยว-ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องไม่กลับมาเป็นปกติ ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการใช้จ่ายของผู้ประกอบการและแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

        ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นปีละ 12% โดยเฉลี่ย การท่องเที่ยวที่โตอย่างก้าวกระโดดทำให้คนไทยหันมาทำธุรกิจโรงแรมที่พักเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน โดยระหว่างปี 2013-2018 จำนวนโรงแรมที่พักเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 10% (ยังไม่นับรวมที่พักที่ไม่ได้จดทะเบียนกิจการโรงแรม ซึ่งน่าจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก)

        หากดูอัตราการเติบโตของจำนวนห้องพัก จะเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคืออยู่ที่ 7% ต่อปี แสดงว่าที่พักที่เกิดใหม่ในระยะหลังมีขนาดเล็กลง นั่นคือผู้ประกอบการรายเล็กกระโดดลงมาทำธุรกิจที่พักกันมากขึ้น จำนวนแรงงานที่เข้ามาอยู่ในภาคโรงแรมและภัตตาคารก็เพิ่มขึ้นเช่นกันเฉลี่ย 4% ต่อปี

       สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ หากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้อาจอยู่ไม่รอดและต้องปิดตัวลง สภาวะวิกฤตการท่องเที่ยวไทยเช่นนี้ย่อมกระทบต่อรายได้ของทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องอีกมหาศาล เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจถึงแม้จะเริ่มมีการทยอยเปิดเมือง

         ดังนั้นภาคธุรกิจไทยโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็ก คงต้องปรับตัวกันอย่างหนัก เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพราะจากการปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งมองว่าจะมาเพิ่มอีกเพียง 3 ล้านคน บนข้อสมมุติว่าไทยจะสามารถทยอยเปิดประเทศให้กับบางประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำได้ และจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในทั้งปีนี้มีเพียง 9 ล้านคน ลดลงถึง 77% จากตัวเลขปีที่แล้ว ถ้าเราไม่สามารถเปิดประเทศได้เลยก็อาจจะมีความเสี่ยงที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะต่ำกว่านี้ ซึ่งเป็นผลให้ KKP Research กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้ปรับประมาณการ GDP ปีนี้โตติดลบ 9% จากเดิมที่ประเมินติดลบ 6.8%

 

“ไทยเที่ยวไทย” ความหวังเฮือกสุดท้ายของธุรกิจท่องเที่ยว

       เมื่อสถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยโดยรวมในปีนี้ รายได้รวมอาจหดตัวเหลือมูลค่าเพียงแค่ 1 ใน 3 ของเป้าหมายรายได้ 3.18 ล้านล้านบาท ที่วางไว้ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา หรือประมาณ 1.23 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่คาดว่าจะลดเหลือที่ราว 7-8 แสนล้านบาท จากเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ประมาณ 14-16 ล้านคน

       ดังนั้นความหวังของธุรกิจท่องเที่ยว ก็จะต้องพึ่งพารายได้จาก “ไทยเที่ยวไทย” ที่คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 4-5 แสนล้านบาทมาพยุง ซึ่งขณะนี้ภาครัฐ ก็ได้เตรียมมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และการบริโภคของคนไทยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากงบประมาณ 4 แสนล้านบาทตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 1.9 ล้านล้านบาท

       ข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เผยว่า มาตรการดังกล่าวดำเนินการภายใต้โครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลพยายามจะกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ โจทย์หลักคือ ทำอย่างไรให้คนไทยออกไปเที่ยวกันในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม ตุลาคม 2563 นี้ โดยเฉพาะเดือนกรกฎาคมนี้ที่รัฐบาลกำลังพิจารณาเพิ่มวันหยุดชดเชยที่ยกมาจากช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา

“หากมีวันหยุดเพิ่มขึ้นบวกกับแรงกระตุ้นจากภาครัฐน่าจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1.23 ล้านล้านบาท ซึ่ง 4-5 แสนล้านบาทจะมาจากในประเทศน่าจะใกล้เคียงความจริงได้มากขึ้น

       ด้านกระทรวงการคลัง เผยแนวทางในการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่คาดว่าน่าจะทำได้เป็นอันดับแรก คือ การส่งเสริมให้บุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. ได้เดินทางท่องเที่ยว  พร้อมอยู่ระหว่างการพิจารณานำแนวทางของมาตรการแคชแบ็ก หรือให้เงินคืน มาใช้ในการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเมื่อมีการไปเที่ยวและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว รัฐบาลก็จะจ่ายเงินกลับคืนให้ประชาชนทันที ซึ่งแนวทางนี้น่าจะได้ผลดีมากกว่า ส่วนรายละเอียดว่าจะให้เงินคืนเท่าไหร่อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยทั้งหมดจะต้องเร่งสรุปออกมาเป็นแพ็กเกจเดียว เพื่อเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

       ส่วนเรื่องการแจกเงิน หรือการแจกบัตรกำนัล เป็นอีกข้อเสนอหนึ่งของ ททท. ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า แต่ละแนวทางมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร โดยจะต้องให้คุ้มค่า และเป็นไปตามเป้าหมาย คือ การกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างแท้จริง

      "ตัวแปรที่สำคัญที่ชี้ว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาเร็วหรือช้ามี 3 ปัจจัยหลักคือ 1.สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศ 2.สถานการณ์การแพร่ระบาดของต่างประเทศ เพราะ 2 ใน 3 ของรายได้ท่องเที่ยวมาจากต่างประเทศ และ 3.ความพร้อมของผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัว เช่น เรื่องของมาตรฐานด้านสุขอนามัยที่เป็น new normal"

 

      ส่วนสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ บอกว่า ตอนนี้ทั้งโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร บางส่วนทำแคมเปญทั้งลด แลก แจก แถม เพื่อดึงเงินสดเข้ามาพยุงธุรกิจไปก่อน เพราะการเปิดให้บริการในวันนี้ก็ใช่ว่าคนจะเดินทางกันอย่างคึกคักเหมือนเดิม ส่วนใหญ่ยังกลัว และยังเดินทางเพื่อกลับบ้าน หรือเพื่อทำงาน ส่วนที่เป็นการท่องเที่ยวยังมีปริมาณน้อย ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนก็ยังไม่เปิดให้บริการ เพราะมองว่าถ้าเปิดไปแล้วจะมีนักท่องเที่ยวหรือไม่ กลัวได้ไม่คุ้มเสีย

       โดยประเมินว่ากว่าคนไทยจะกล้าออกมาเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวจริง ๆ นั้นน่าจะใช้ระยะเวลาสักประมาณ 3 เดือนหลังจากที่รัฐบาลปลดล็อก หาก 3 เดือน นับจากนี้ (มิถุนายน-สิงหาคม) เป็นต้นไป ไม่มีการกลับมาแพร่ระบาดรอบ 2 อีกครั้งเชื่อว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวในทุกภาคส่วนจะทยอยเปิดให้บริการเพิ่มมากขึ้นและน่าจะทำให้บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวของตลาดไทยเที่ยวไทยหรือคนไทยเที่ยวภายในประเทศ กลับมาสู่ภาวะปกติได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

      อย่างไรก็ดีสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ ได้เตรียมวางแผนการทำการตลาดและทำแคมเปญการตลาดเพื่อ kick off ในส่วนของตลาดไทยเที่ยวไทย หรือการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อช่วยกันสร้างบรรยากาศและสร้างความเชื่อมั่น ให้นักท่องเที่ยวเกิดการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว

     โดยเริ่มต้นจากการจัดโครงการพาผู้ประกอบการนำเที่ยวลงไปสำรวจความพร้อมของจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งผู้ว่าฯประกาศปลดล็อกด้านการท่องเที่ยวเป็นจังหวัดแรก ซึ่งจะเปิดจังหวัดต้อนรับคาราวาน สทน. เป็นคณะแรกในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ภายใต้ชื่อโครงการ “คาราวานสาย SHA” และจะเริ่มขายโปรแกรมท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป

      และหลังจากนี้สทน.ยังมีแผนลงไปสำรวจความพร้อมของจังหวัดระยอง, นครศรีธรรมราช, ระนอง และกลุ่ม 3 จังหวัดภาคกลาง คือ อ่างทอง, สิงห์บุรี, ชัยนาท ตามลำดับ และจังหวัดอื่น ๆ ที่มีความพร้อมต่อไป

      นอกจากจะดูเรื่องของความพร้อมในด้านการรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว ทาง สทน.ยังได้คิดรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ ตามมาตรการ social distancing ซึ่งเป็น new norm หรือ New Normal ของภาคการท่องเที่ยว โดยกิจกรรมที่วางแผนจัดที่กาญจนบุรี จะเป็นคอนเซ็ปต์ “drive in” คือขับรถไปดูหนัง นำรถไปจอดในสนามกว้าง ๆดูหนัง รับประทานอาหารในรถ หรือนอกรถก็ได้ ในบริเวณพื้นที่ของตัวเอง ส่วนที่จังหวัดระยองนั้นกำลังทำคอนเซ็ปต์เสนอทาง ททท. โดยคาดว่าจะออกมาเป็นคอนเซ็ปต์จัดคอนเสิร์ตเล็ก ๆ ริมชายหาด ซึ่งจะเป็นคาราวานคอนเสิร์ตที่ให้นักท่องเที่ยวขับคาราวานรถยนต์ไปดูคอนเสิร์ตริมชายหาด โดยนักท่องเที่ยวจะอยู่ในรถหรือนอกรถก็ได้ แต่ต้องอยู่ในบริเวณของตัวเองเช่นกัน

เหล่านี้ล้วนเป็นแผนของการปรับตัว หากมองในแง่ดี วิกฤตโควิดครั้งนี้นับเป็นโอกาสให้เศรษฐกิจไทยได้ ‘รีเซ็ต’ ตัวเอง ลดการกระจุกตัวของโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งมากจนเกินไป และมองหาเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่