เมื่อรัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณเปิดเมืองทีละน้อย จะลดการแพร่ของไวรัสใน BTS, รถเมล์, เรือ อย่างไร

เป็นปัญหาน่าขบคิด เพราะโดยปกติ ระบบขนส่งเหล่านี้มักอัดคนแน่นเป็นปลากระป๋อง วิธีแก้โดยใช้ระบบฟอกอากาศ การฉีดสารฆ่าเชื้อ เริ่มมีพูดกันบ้าง แต่น่าจะแก้การแพร่เชื้อได้น้อยเมื่อคนจำนวนมากไม่สามารถเว้นระยะห่างจากกันได้

ลองคิดกันเล่นๆ ว่าจะเอา big data มาใช้อย่างไร หากผู้คนที่ใช้เส้นทางขนส่งมีทางเลือกในการไปทำงานที่เหลื่อมเวลากันได้

เช่น ในเส้นทางหนึ่งๆ ของ BTS หากมีคนเดินทางอัดแน่นจำนวน 100,000 คนตอน 7 โมงเช้า เราอาจจะใช้ App (ตาม vector เส้นทาง) ในการให้แต่ละคนเลือกเวลาออกเดินทาง (และเวลาเริ่มทำงาน) แทนที่ทุกคนจะเข้างานตอน 8:00 ก็ให้เหลื่อมกัน ตั้งแต่เข้างาน 8:00, 9:00, 10:00, ไปจนถึงบ่ายและเย็นเลยก็ได้

ระบบจะประมวลผลว่าทางเลือกที่เกิดขึ้น จะกลายเป็นความหนาแน่นระดับไหนในช่วงเวลาต่างๆ และเสนอทางเลือกให้แต่ละคนเลือกเวลาอื่น เพื่อได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด (optimal) ในการลดความหนาแน่นและเพิ่มระยะห่างระหว่างคน

ใครจะรู้ว่า ชาวออฟฟิศกลุ่มหนึ่ง อาจเลือกไปทำงานตอน 6 โมงเย็นและอยู่ถึงเช้าก็ได้ ผลลัพธ์ที่จะได้ กลายเป็นการยิงปืนนัดเดียว ได้นกถึงสามตัว ดังนี้

1) ผลดีด้านสาธารณสุข: ลดการแพร่ของไวรัส ด้วยการเพิ่มระยะห่าง (social distance) ซึ่งวิธีนี้แม้จะสู้การทำงานอยู่บ้านไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ลดความเสี่ยงที่จะได้รับไวรัส รวมถึงลด viral load (ปริมาณไวรัส) ของการหายใจไวรัสเข้าร่างกายซ้ำแล้วซ้ำอีก

2) ผลดีด้านเศรษฐกิจและสังคม: ทำให้ผู้คนสามารถกลับไปทำงานและมีรายได้อีกครั้ง เมื่อพนักงานประจำบริษัท ห้างร้าน มหาวิทยาลัยกลับไปทำงานได้ กลุ่มคนอื่นๆ ก็จะได้รายได้กลับมาด้วย อย่างร้านอาหาร ธุรกิจขนาดเล็กตามห้องแถว แผงลอย

ยกตัวอย่าง แต่เดิม การเข้าทำงานพร้อมกันทำให้เพิ่ม viral load ต่อทั้งคนซื้อและคนขาย ลองนึกภาพสถานี BTS ศาลาแดงเวลาเข้างาน ทุกคนจะกรูกันลงจาก BTS และไปอัดแน่นกันบนทางเท้า ซึ่งระหว่างทางก็จะแวะซื้ออาหารตามห้องแถวและแผงลอย แลกเปลี่ยนไวรัสกัน

ถ้าลูกค้า 300 คนซื้อข้าวแกงพร้อมกันในหนึ่งชั่วโมง (เทียบกับลูกค้า 300 คน ที่ทยอยกันมาทีละคนในหนึ่งวัน) แม่ค้าจะได้รายได้เท่าเดิม …. แต่คนที่มาซื้อ จะได้ไวรัสไม่เท่ากัน

การลดความหนาแน่น ด้วยการเหลื่อมเวลา จะอัดฉีดเศรษฐกิจ และทำให้ร้านค้าและแผงลอยสามารถมีลูกค้าอีกครั้ง และทำให้การเว้นระยะห่างทางสังคมทำได้ง่ายขึ้น

3) ผลดีด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม: ลดการใช้ไฟฟ้าในอาคารด้วยการไม่เปิดไฟเปิดแอร์พร้อมกัน ทำให้ลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (peak demand) และเกลี่ยให้การใช้ไฟฟ้ากระจายไปตามชั่วโมงต่างๆ ของวัน เมื่อลด peak demand ได้ก็ชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับ peak ได้ รวมถึงลดการเผาผลาญเชื้อเพลิงในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดด้วย

นอกจากนี้ หากนโยบายการไปทำงานอย่างเหลื่อมเวลาเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย การจราจรบนท้องถนนก็จะลดลง เนื่องจากมีการลดจำนวนรถที่ขับออกมาพร้อมกัน ทำให้ลดมลพิษทางอากาศไปด้วย

“สิ่งหนึ่งที่นักอนุรักษ์มักจะมองข้ามอยู่เสมอก็คือ การตื่นนอนไปทำงานพร้อมๆ กัน เป็นการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่”

แนวคิดการเหลื่อมเวลาไปทำงาน (แทนที่จะไปทำงานพร้อมกัน) น่าจะนำมาใช้เป็นนโยบายสาธารณสุข ที่จะช่วยชะลอการแพร่ของไวรัสได้ในระดับหนึ่ง

ทั้งนี้ แนวทางการเหลื่อมเวลาอาจทำได้ในหลายระดับ ทั้งการเหลื่อมระดับชั่วโมง ดังที่ได้ยกตัวอย่างข้างต้น รวมไปถึงการเหลื่อมสัปดาห์ เช่น พนักงานในบริษัทหนึ่งๆ อาจจะผลัดกันมาทำงาน อาทิตย์เว้นอาทิตย์ และเวลาที่เหลือก็ทำงานที่บ้าน เพื่อลดความหนาแน่นของพนักงานในอาคาร เป็นการลดความเสี่ยงของการได้รับเชื้อไวรัสทั้งในระบบขนส่งมวลชนและในอาคารอีกด้วย ทั้งนี้ ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ต้องมีใจเปิดกว้าง และคิดค้นวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนอยู่ในที่ทำงานพร้อมกันอีกต่อไป

SOURCE : www.thaipublica.org