ใครกำลังรู้สึกว่าช่วงนี้ห้องหับเริ่มรกรุงรังเพราะร้างราจากการกวาดเก็บ  เริ่มมีข้ออ้างกับทุกสิ่งทุกอย่าง และพูด “เดี๋ยว” จนติดเป็นนิสัย อาการข้างต้นอาจเป็นสัญญาณว่าตัวขี้เกียจกำลังเกาะติดตัวคุณ  ซีเคร็ต จะพาคุณ สลัดตัวขี้เกียจ ออกไปให้ไกล

Step1หาแรงจูงใจ

สาเหตุลำดับต้น ๆ ของความขี้เกียจคือการขาดแรงจูงใจ เรื่องนี้แก้ไขได้ด้วยการกระตุ้นให้ตนเองคิดถึงเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา เช่น หากคุณต้องจัดบ้านใหม่ ลองหาภาพเกี่ยวกับการแต่งห้องสวย ๆ มาแปะไว้ในที่ที่สามารถเห็นได้บ่อย ๆ

นอกจากนี้ยังสามารถนำเทคนิคของ ดร.กุ๊กกานดาบุญโสธรสถิตย์ เจ้าของงานเขียน เรียนเป็นที่โหล่โผล่เป็นนักเรียนทุน(เมืองนอก) มาใช้ได้ คือหากตั้งเป้าจะทำอะไรแล้ว ต้องป่าวประกาศให้โลกรับรู้ เช่น “วันนี้ฉันจะเคลียร์งานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จ” “ฉันจะอ่านหนังสือสอบให้จบ” การทำเช่นนี้ช่วยเป็นแรงกระตุ้นได้เป็นอย่างดีเพราะเมื่อไหร่ที่เริ่มขี้เกียจ คุณจะตระหนักได้ว่า มีหลายคนกำลังเฝ้ารอดูคุณอยู่

Step2ทำทีละอย่าง

หลายคนพยายามจัดการงานทุกอย่างที่มีในมือไปพร้อม ๆ กัน อาจฟังดูเป็นเรื่องดีที่งานทุกอย่างสามารถสำเร็จทันเวลาแล้วได้พักผ่อนยาว ๆ รวดเดียว แต่การทำเช่นนี้อาจส่งผลให้งานผิดพลาดได้ง่าย แถมยังสูบพลังชีวิตไปอย่างมหาศาล ทำให้คุณโหยหาการหยุดพักบ่อยขึ้น และเข้าสู่ภาวะขี้เกียจง่ายขึ้นเช่นกัน ทางที่ดีควรจดจ่อกับงานทีละอย่าง โดยทำงานที่ต้องส่งก่อนเป็นอันดับแรก

Step3แบ่งงานออกเป็นส่วน

หลายคนผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานใหญ่และยากเพราะไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี เคล็ดลับสำคัญคือ คุณต้องหัดแบ่งงานออกเป็นส่วน ๆ แล้วเริ่มอุ่นเครื่องด้วยการทำส่วนที่ง่ายที่สุดหรือเล็กน้อยที่สุดก่อน เมื่อทำงานชิ้นเล็กเสร็จคุณจะรู้สึกว่าการทำงานขั้นต่อไปจนจบไม่ใช่เรื่องหนักหนาอย่างที่กังวลไว้แต่แรก

Step4พักเบรกให้เป็น

การปั่นงานยิงยาวรวดเดียวจนจบแล้วค่อยพักอาจไม่ใช่วิธีที่ดีเท่าไหร่ เพราะการทำอะไรอย่างต่อเนื่องนานกว่า 30 - 40 นาทีจะทำให้สมองเริ่มชินชาและประสิทธิภาพของงานเริ่มลดลง สอดคล้องกับที่ โจโรบินสัน (JoeRobinson) นักจัดการความเครียดและเทรนเนอร์ด้านคุณภาพชีวิตการทำงานกล่าวว่า การทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมงทำให้สมองเครียดขึ้นสองเท่า และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นโรคหัวใจ นี่เองจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวยุโรปจึงนิยมงีบหลับตอนกลางวัน

ลองพักเบรกระหว่างการทำงานดูบ้างด้วยการใช้เทคนิค 20 / 10 คือทำงาน 20 นาทีแล้วสลับไปพัก 10 นาที หรืออาจใช้เทคนิค 45 / 15 คือทำงาน 45 นาที พัก 15 นาทีก็ได้

Step5ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ

หากคุณพยายามตั้งใจทำงานสุด ๆ แล้ว แต่หนึ่งชั่วโมงผ่านไปก็ยังไม่สามารถทำงานได้ จริง ๆ แนะนำให้ลองหันไปทำอย่างอื่นแทน  อาจเป็นงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างจัดโต๊ะหรือรีดผ้า ในขณะทำกิจกรรมเหล่านั้น คุณจะคิดได้ว่า“ทำไมฉันต้องเสียเวลาทำงานมาทำอะไรแบบนี้”หลังจากนั้นคุณจะตื่นตัวในการทำงานขึ้นมาอีกเท่าตัว การทำอย่างนี้ไม่เพียงช่วยให้คุณสามารถเริ่มทำงานได้เท่านั้น แต่คุณยังได้โต๊ะที่สะอาดตาและผ้าเรียบ ๆเพิ่มขึ้นเป็นกอง

Step6ธรรมชาติบำบัดช่วยได้

จิลล์โทมัส(JillThomas)นักธรรมชาติบำบัดแนะนำวิธีสลัดความอ่อนเพลียไว้ว่า ให้ลองออกกำลังกายตอนเช้า กินอาหารเช้าที่มีเส้นใยสูง โปรตีนต่ำ และไม่หวาน เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชให้ได้วันละ 3 - 5 ขีด เพื่อรักษาค่าความเป็นกรดในเลือดให้อยู่ในระดับเหมาะสม ดื่มน้ำสะอาดวันละ 1.5 - 2 ลิตร เพื่อช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายของเสีย กินไขมันดี กรดไขมันที่จำเป็น (EFAs) เช่น โอเมก้า - 3 และโอเมก้า - 6 เพื่อช่วยให้เซลล์ประสาททำหน้าที่รับส่งข้อมูลในสมอง และสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิธีเหล่านี้จะช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นและตื่นตัวพร้อมสำหรับการเริ่มต้นวันใหม่

Step7เขียนเป้าหมายให้ชัด

ลองเขียนเป้าหมายงานหรือเป้าหมายในชีวิตของคุณเป็นข้อ ๆ ลงบนกระดาษโพสต์อิทหลาย ๆ แผ่น จากนั้นนำไปแปะไว้ในที่ที่คุณมองเห็นบ่อย ๆ เช่น บนโต๊ะทำงาน บนตู้เย็น ข้างเตียงนอน หรือบานกระจกในห้องน้ำ เมื่อทำเรื่องใดสำเร็จตามเป้าหมายแล้วก็ขีดฆ่าออกทีละข้อ วิธีนี้ช่วยให้คุณเห็นว่า แท้จริงแล้วตัวคุณก็มีประสิทธิภาพที่จะทำอะไรให้สำเร็จได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณมีพลังใจอยากทำเป้าหมายต่อไปให้สำเร็จเช่นกัน

ลองดูนะคะอาจช่วยให้คุณกำจัดความขี้เกียจออกไปได้บ้างไม่มากก็น้อย

ที่มา: คอลัมน์ Life Management นิตยสาร Secret ฉบับที่ 183

เรื่อง: มินู 

SOURCE : www.goodlifeupdate.com