ในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดจากโควิด ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด แต่สำหรับการขยายสินค้าออนไลน์กลับตรงกันข้าม เพราะกลับมียอดสั่งซื้อสินค้าพุ่งสูง หลายความเห็นใน Social media ของผู้ขายของออนไลน์ก็ออกมาบอกเป็นเสียงเดียวกัน ว่าในช่วงเวลาโรคระบาดนี้ กลับสามารถทำยอดขายได้ดีกว่าช่วงเวลาปกติถึง 200% เพราะอะไรถึงเป็นแบบนี้?

 

Retail Therapy เมื่อการช้อปปิ้งคือการเยียวยาใจ

ไม่นานมานี้มีการพูดถึง Retail Therapy หรือการ ช้อปปิ้งบำบัด ซึ่งเป็นจิตวิทยาแห่งการจับจ่ายซื้อของเพื่อสร้างภาวะเชิงบวกของจิตใจ โดยงานวิจัยของสหรัฐอเมริกาชี้ว่า ประชากรกว่า 1 ใน 3 ใช้การช้อปปิ้งบำบัดเพื่อจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวล โดยการช้อปปิ้งส่งผลโดยตรงต่อความรู้สึกของการมีอำนาจในการควบคุมบางอย่างได้ มักจะสะท้อนมาจากคนที่กำลังเจอกับสถานการณ์ที่เกินควบคุมหรือไม่เป็นอย่างใจ เพราะเมื่อเวลาได้ช้อปปิ้ง อำนาจของการเลือกซื้อสินค้านั้นอยู่ในมือเรา ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนถูกเติมเต็ม

โดยเฉพาะเมื่อหลายคนล้วนประสบกับเหตุการณ์โรคระบาดซึ่งเป็นสิ่งใหม่และไม่สามารถควบคุมได้การช้อปปิ้งบำบัดจึงเกิดมากขึ้นเนื่องจากคนส่วนใหญ่โหยหาอำนาจของการควบคุมและความรู้สึกเติมเต็ม

 

 

ช้อปปิ้งออนไลน์ ธุรกิจที่เติบโตฝ่าโรคระบาด

รายงานจาก สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้ว่ามูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 8-10% ต่อปี ทำให้ในปี 2561 มูลค่าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซพุ่งทะยานไปถึง 3.2 ล้านล้านบาทโดยนอกจากการซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นเฉพาะแล้วการช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านทางการแชทก็เป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ

Facebook และ บริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ประเทศไทย​ (BCG) ได้ทำการสำรวจประชากรจำนวน 8,864 คน ใน 9 ประเทศ ผ่านการสัมภาษณ์ผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้เชี่ยวชาญ พบว่าคนไทยมีระดับความคุ้นเคยและความรู้เรื่องการช่อปปิ้งออนไลน์สูงถึง 86% และเรียนรู้การซื้อของผ่านการแชท 61% โดย BCG คาดว่าภายใน 3-5 ปี การซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านการแชท จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 20-35% เลยทีเดียว

รายงานจาก JD.com ระบุยอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในสินค้าประเภทข้าวและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นกว่า 154% เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคอื่นๆ อาทิ อาหารทะเลและเนื้อวัว นอกจากนั้นสถิติจาก Priceza ยังพบว่า ในภาวะโรคระบาดจากโควิด ทำให้แนวโน้มการช้อปปิ้งออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น 100% และสำหรับยอดช้อปปิ้งออนไลน์ของเจดีเซ็นทรัลในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นถึง 200% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน เช่นเดียวกับผลสำรวจของ กสทช. พบว่าในเดือนกุมภาษพันธ์ มียอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นสูงจากเดือนมกราคม มากกว่า 80%

 

 

ช้อปปิ้งบำบัด อาจช่วยได้แค่ในระยะสั้น

ในสถานการณ์ที่เกินควบคุมผู้คนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้ตามปกติทำให้ช่องว่างของการตัดสินใจซื้อสินค้าลดลงผู้บริโภคสามารถลดขั้นตอนและตัดสินใจได้ง่ายขึ้นทำให้การช้อปปิ้งออนไลน์จึงเติบโตสวนกระแสสถานการณ์ปัจจุบันแต่อย่างไรก็ตามแม้การช้อปปิ้งบำบัดจะทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจในชั่วครู่แต่เมื่อความรู้สึกเติมเต็มเหล่านั้นระเหยหายไปหลังจากคลื่นความสุขนั้นผ่านพ้นไปแล้วสิ่งที่เกิดตามมาคือความรู้สึกผิดและความเสียดายและรู้สึกว่าไม่น่าซื้อสิ่งนี้มาเลยซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความเครียดและความกังวลใจที่จะเกิดขึ้นหลังจากเสพความสุขชั่วคราวนั้นไปแล้วสัญญานเหล่านี้อาจตามมาด้วยปัญหาการเงินอีกด้วย