วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 เป็นปรากฎการณ์ที่สั่นสะเทือนทุกมิติเชิงสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจ (Emerging market) อย่างประเทศไทย ซึ่งมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ยังอ่อนไหว โดยก่อนหน้าการเข้ามาของไวรัสโคโรนา ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาประชากรวัยแรงงานไร้งานทำและกำลังเข้าสู่ภาวะตกงาน

            กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) ได้เปิดเผยสถิติจำนวนประชากรตกงานหรืออยู่ในภาวะไร้งานทำทั่วโลกในปี 2019 ว่ามีค่าเฉลี่ยประมาณ 4.9% โดยประเทศไทยมีอัตราประชากรที่ไม่มีงานทำ 1.2% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ไม่มีงานทำทั่วโลก กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2012 โดยในขณะนั้น ประเทศไทยมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.7%

            ในขณะเดียวกัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization; ILO) ได้ทำการประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาไว้ว่า ในกรณี bas case พบว่าจะมีแรงงานจำนวนกว่า 25 ล้านตำแหน่งที่ต้องหายไปจากตลาดแรงงาน และในกรณี Worst case จะมีผู้ตกงานทันทีจำนวนถึง 188 ล้านตำแหน่งเนื่องจากการไวรัสโคโรนา

Source: https://www.imf.org/external/datamapper

 

ไวรัสโคโรนา ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยจำนวนเท่าไร

เชื้อไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเป็นผลให้ทุกประเทศที่ได้รับผลกระทบทั่วโลกต้องประกาศใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social distancing) อย่างฉุกเฉิน และสำหรับประเทศไทย ได้ออกมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ด้วยการออกพรก.ฉุกเฉินโดยมีคำสั่งปิด ห้าง ร้าน และบริการหลายส่วน ยกเว้นแต่ร้านค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการอุปโภคและบริโภค ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากต้องหยุดกิจการชั่วคราว และส่งผลให้แรงงานนอกระบบที่ทำงานในสถานที่นั้นๆ ต้องกลายเป็นผู้ไร้งานทำในทันที

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้เห็นรวบรวมข้อมูลสถิติภาวะการทำงานของประชากรอย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยข้อมูลภาวะการทำงานของประชากรเดือนธันวาคม 2562 พบว่า มีจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.21 ล้านคน โดยเป็นผู้มีงานทำ 37.66 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.67 แสนคน และผู้รอฤดูกาลทำงาน 1.79 ล้านคน ในจำนวนผู้มีงานทำ 37.66 ล้านคนนี้ 43.69% เป็นแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33, 39, 30 จำนวน 16.45 ล้าน โดยอีก 56.31% หรือ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีงานทำทั้งประเทศ คิดเป็นจำนวนประมาณ 21.21 ล้านคน คือแรงงานนอกระบบ

หากพิจารณาเฉพาะแรงงานนอกระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่แรงงานเหล่านี้ได้รับผลกระทบมากที่สุดอ้างอิงจากผลการสำรวจแรงงานนอกระบบ 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแรงงานนอกระบบ 26.3% หรือจำนวนประมาณ 2.13 ล้านคน
นอกจากกลุ่มแรงงานนอกระบบที่เหมือนถูกถอดฟันเฟืองชีวิตจนต้องหยุดนิ่งแล้ว กลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอีกหนึ่งกลุ่ม คือกลุ่มอาชีพพนักงานบริการในร้านค้าและตลาด ซึ่งมีจำนวนถึง 7.75 ล้านคน

การเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดของโรคระบาดนับเป็นฝันร้ายต่อภาคแรงงานและเศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศไทยที่คาดการณ์จำนวนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างฉับพลันถึงประมาณ 9.88 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบและแรงงานที่อยู่ในภาคบริการในร้านค้าและตลาด ในขณะเดียวกันมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาจากภาครัฐ ที่จะโอบอุ้มผู้ได้รับผลกระทบในขระนี้ รองรับแรงงานนอกระบบเพียงแค่ 3 ล้านคนเท่านั้น นอกจากนี้ยังไม่รวมถึงแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างหรือปรับอัตราการเงินเดือน ทำให้แม้ฝันร้ายอย่าง COVID-19 จะผ่านพ้นไปแล้วฝันร้ายจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยก็ไม่อาจจะจากไปได้ง่ายๆ

 

อ้างอิง:

COVID-19 and the world of work: Impact and policy responses

แรงงานนอกระบบ ชีวิตที่แสนเปราะบาง

สำรวจภาวะการทำงานของประชากร ธันวาคม 2562

จำนวนสถานประกอบการและจำนวนผู้ประกันตน กองทุนประกันสังคมทั่วราชอาณาจักร