นอกจาก “ความล้มเหลว” จะเป็นครูชั้นดีที่สอนให้เจ็บแล้วจำ จะได้ไม่เจ็บซ้ำหรือเจ็บหนักแบบเดิมอีก ความสำเร็จก็เป็นอีกหนึ่งติวเตอร์คนสำคัญทำให้ได้เรียนรู้ และต่อยอดไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

         เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับเหล่านักสร้างแบรนด์ที่กำลังหาหนทางเพื่อยืนหยัดในโลกใบเดิมแต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปจนตำราธุรกิจเล่มเก่าไม่ใช่แค่ล้าสมัย แต่เหมือนพูดกันคนละเรื่อง

         คงไม่มีทางลัดไหนที่จะชี้ทางสว่างได้ดีไปกว่าการเรียนรู้และถอดบทเรียนจากแบรนด์ระดับท็อปของโลกที่ขยันหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาเพื่อสร้างความเป็นหนึ่ง จากนี้ คือ 4 บทเรียนที่จอห์น สตีเวน คอลัมน์นิสต์แห่งเว็บไซต์ Brandwatch สกัดออกมาแล้วว่าน่าทำตาม


         1.ตีความ “ประสบการณ์ที่มอบให้ลูกค้า” ใหม่


         สองแบรนด์ดังที่ถือเป็นตัวอย่างของการสร้างแบรนด์ให้เข้าไปนั่งในใจลูกค้าแบบไม่ยัดเยียด คือ แอปเปิ้ล ค่ายไอทียักษ์ใหญ่ และ อิเกีย แบรนด์เฟอร์นิเจอร์แถวหน้าของโลก ที่เลือกจุดกระแสให้กับแบรนด์ด้วยการนำกลยุทธ์การสร้างประสบการณ์ร่วมกับลูกค้ามาใช้ได้อย่างน่าสนใจ จนเกิดการบอกต่อ


         เริ่มจากแอปเปิ้ล ก่อนหน้านี้ได้ส่งแคมเปญ “unboxing Apple” หรือ “unboxing iPhone” ออกมา จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่บนโลกออนไลน์ เมื่อมีผู้ใช้หลายคนพากันอัพโหลดคลิปแชร์ประสบการณ์เปิดกล่องไอโฟนไม่พอ ยังมีชาวโซเชียลพากันเข้าไปชมคลิปมากมาย ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่จริงๆแล้วเป็นกลยุทธ์อันแยบยลของแอปเปิ้ลที่ถึงขั้นสร้างห้องลับที่เรียกว่า Apple’s secret unboxing room ขึ้นมาเพื่อคิดค้นหากล่องบรรจุอุปกรณ์ที่จะสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้านั่นเอง


         ขณะที่ อิเกีย (IKEA) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ของโลก เลือกนิยามการสร้างประสบการณ์ร่วมกับลูกค้า ด้วยการวางตัวเป็นมากกว่าร้านเฟอร์นิเจอร์ แต่เป็นเหมือนมินิสเปซที่มีทั้งร้านอาหาร และ พื้นที่สำหรับให้เด็กๆได้รับความเพลิดเพลิน จนทำให้ลูกค้ามาแล้วรู้สึกประทับใจจนอยากกลับมาใช้บริการอีกเรื่อยๆ ทั้งนี้จะเห็นว่า ประสบการณ์ร่วมระหว่างอิเกียกับลูกค้านั้นสร้างได้โดยไม่จำเป็นต้องนำเฟอร์นิเจอร์มาเป็นตัวชูโรงเพื่อให้ลูกค้าอยากกลับมาแม้แต่น้อย


         2.ดึงลูกค้ามาเป็นแนวร่วม


         ตัวอย่างความสำเร็จของการใช้กลยุทธ์นี้คงไม่มีคาดถึงถ้าไม่ใช่โค้ก เจ้าของแคมเปญ Share A COKE ซึ่งจุดประกายขึ้นที่ออสเตรเลียเป็นแห่งแรก ก่อนจะสร้างปรากฏการณ์ไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย แคมเปญนี้พาให้โค้กยิ้มร่ากับกระแสตอบรับและยังได้รับรางวัลมากมายกลับมา กลายเป็นกรณีศึกษาที่นักการตลาดหยิบยกมาชวนคุย


          แคมเปญนี้เริ่มต้นจากการพบว่ากลุ่มวัยรุ่นในออสเตรเลียเริ่มมองว่าโค้กไม่ใช่เครื่องดื่มยอดนิยมอีกต่อไป ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะชวนให้กลุ่มวัยรุ่นหันมาเหลียวแลโค้กอีกครั้ง คือ การสร้างกิมมิคให้กับแบรนด์ด้วยการนำชื่อนำหน้าหรือ First Name ที่นิยมมากที่สุดของคนออสเตรเลียจำนวน 150 ชื่อมาพิมพ์ลงกระป๋องโค้ก พร้อมกับออกแบบกระป๋องให้มีคำต่างๆ ที่ใช้สื่อแทนความรู้สึก จากนั้นจึงเชิญชวนให้ทุกคนร่วมส่งโค้กให้แก่กัน ปรากฏว่าแคมเปญดังกล่าวได้รับกระแสตอบรับถล่มทลาย มีคนแชร์รูปตัวเองกับกระป๋องโค้กที่มีชื่อตัวเองพร้อมติดแฮชแทค #Shareacoke มากกว่า 5 แสนรูป เพิ่มยอดผู้ติดตามในเฟซบุ๊คของโค้ก 25 ล้านคน และยังกระตุ้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นให้หันมาดื่มโค้กมากถึง 7%


         เช่นเดียวกับไมโครซอฟท์ ตอนที่เปิดตัวเบราว์เซอร์ IE9 ทางแบรนด์เลือกทำหนังโฆษณาที่ชื่อว่า The Random Adventures of Brandon Generator พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเข้ามาร่วมแสดงไอเดียเกี่ยวกับตอบจบของหนังผ่านอินเตอร์แอกทีฟ ฮับที่ต้องใช้เบราว์เซอร์ IE9


         ผลจากแคมเปญดังกล่าวทำให้มีผู้ใช้กว่า 6 แสนคนเข้ามาที่เว็บไซต์ Brandon Generator มีผู้ใช้กว่า 1.7 ล้านคนดาวน์โหลด IE9 ไปใช้ เท่านั้นยังไม่พอไมโครซอฟท์ยังสามารถขยายส่วนแบ่งการตลาดผู้ใช้  IE ไปได้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้อีกด้วย


          3.แบรนด์ต้องกระตุ้นความรู้สึกของลูกค้าได้


         มายา แอนเจลู นักเขียน กวี และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้รับรางวัลในหลากหลายสาขาเคยกล่าวไว้ว่า ”คนเราจะลืมสิ่งที่คุณพูด สิ่งที่คุณทำ แต่จะไม่ลืมสิ่งที่คุณทำให้เขารู้สึก” เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้แบรนด์ของคุณเป็นที่จดจำ ลองไปดูเทคนิคของไนกี้ แบรนด์รองเท้าชื่อดัง ในการสื่อสารอันทรงพลังที่สามารถกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนว่าแบรนด์มีพลังบางอย่างที่จะผลักดันให้พวกเขาก้าวผ่านอุปสรรคไปสู่ความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สโลแกนสั้นๆง่ายๆ แต่ปลุกกำลังใจอย่าง “Just do it” หรือ การเลือกนักกีฬาหลายๆคนมาเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวของคนธรรมดาที่ไม่ยอมแพ้จนไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ล้วนเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ค่อยๆกระตุ้นให้ลูกค้าไม่เพียงรู้สึกว่าไม่ว่าใครก็ยิ่งใหญ่ได้ แต่ยังทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ซื้อรองเท้ากีฬา แต่กำลังซื้อความหวังและกำลังใจเพื่อพิชิตเส้นทางฝันของตัวเอง

        4.ทำให้แบรนด์เป็นอยู่ในกระแสตลอดเวลา


         โรเบิร์ต กรีน นักเขียน เจ้าของผลงานหนังสือ The 48 Laws of Power อันโด่งดัง เคยบอกไว้ว่า บางครั้งการได้รับความสนใจต่อให้เป็นในแง่ลบ ก็ดีกว่าถูกมองอย่างว่างเปล่า เช่นเดียวกับแบรนด์ อย่างน้อยจะยังมีตัวตนในใจลูกค้าก็ต่อเมื่อยังเป็นที่พูดถึง ยกตัวอย่าง แอปเปิ้ล ก่อนจะมีการเปิดตัวไอโฟนรุ่นใหม่มักมีข่าวหลุดออกมาเป็นระลอก ใครจะรู้ว่านั่นอาจเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการเรียกแขก กระตุ้นความสนใจล่วงหน้า เพื่อกรุยทางให้กับแบรนด์ก็เป็นได้


         แล้วคุณหล่ะ? คิดว่ากลยุทธ์ไหนตอบโจทย์กับบริบทของสังคมไทยที่สุด