ข้อเสนอที่ 3 การกู้ร่วม

เป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้กู้ที่มีคุณสมบัติไม่พอ ธนาคารไม่อนุมัติวงเงิน จึงต้องมีผู้อื่นมาร่วมเป็นลูกหนี้ด้วย เพื่อเพิ่มความสามารถในการกู้ ให้ได้รับวงเงินกู้ที่สูงขึ้น การกู้ร่วมควรเกิดขึ้นระหว่างญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิด

          การกู้ร่วมคืออะไร คือการเพิ่มฐานรายได้ของผู้กู้ให้เพียงพอต่อการผ่อนชำระหนี้ในวงเงินที่ต้องการ ด้วยการใช้อีกบุคคลหนึ่งมาเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ลูกหนี้ทั้งสองต้องร่วมกันผ่อนชำระหนี้ก้อนนี้ให้หมดภายในระยะเวลาที่กำหนด การกู้ร่วมจะมีผู้กู้หลัก 1 คน และผู้กู้ร่วมได้ตามแต่เงื่อนไขของสถาบันการเงินซึ่งแต่ละแห่งจะกำหนดไว้ไม่เท่ากัน แต่ส่วนมากไม่เกิน 1 – 2 คน

           คุณสมบัติผู้กู้ร่วม โดยรวมแล้วคุณสมบัติของผู้กู้ร่วมจะไม่ต่างกับผู้กู้ทั่วไป คือต้องเป็นผู้มีรายได้และอาชีพมั่นคง เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว และไม่มีประวัติเสียหายด้านการเงิน (เช่นติดเครดิตบูโร เป็นต้น) บางธนาคารกำหนดชัดเจนว่าผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้กู้ เช่น เป็นบิดามารดา เป็นสามี – ภรรยา หรือพี่น้องท้องเดียวกันเท่านั้น เนื่องจากทางธนาคารต้องการความมั่นใจว่าผู้กู้ร่วมต้องมีความรับผิดชอบต่อหนี้ร่วมกับผู้กู้ได้จริงๆ

          ขั้นตอนการกู้ร่วม ไม่ต่างกับการขอกู้เพียงคนเดียว เพียงแต่การกู้ร่วมจะมีชื่อลูกหนี้สองคน และใช้หลักฐานรายได้ของทั้งคู่ประกอบการพิจารณา

          วงเงิน การกู้ร่วมจะได้วงเงินเท่ากับบุคคล 2 คน ยื่นขอกู้รวมกัน
           เช่น ต้องการยื่นขอสินเชื่อบ้านราคา 2.1 ล้านบาท
           ผู้กู้มีฐานเงินเดือน 30,000 บาท
           ธนาคารอนุมัติวงเงินที่ 50 เท่าของรายได้ (อาจมากกว่าหรือน้อยกว่าแล้วแต่ธนาคารนั้นๆ)
           จะได้รับวงเงินอนุมัติที่ 1.5 ล้าน บาท
           จะเห็นได้ว่าไม่มีทางขอกู้ในวงเงินดังกล่าวผ่าน แต่ถ้ามีผู้กู้ร่วม ซึ่งฐานเงินเดือนเท่ากัน ก็จะได้รับวงเงินเพิ่มอีก 1.5 ล้านบาท วงเงินที่สามารถกู้ได้สูงสุด คือ 3 ล้านบาท

           สิทธิของผู้กู้ร่วม ผู้กู้ทั้งสองคนจะมีสิทธิ์ในหนี้และในสินทรัพย์ ซึ่งในที่นี้คืออสังหาริมทรัพย์ที่ร่วมกันกู้คนละครึ่ง จนกว่าจะผ่อนชำระหมดและทำการโอนเป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง หรือจะเป็นเจ้าของร่วมกันต่อไปก็ได้

           ระยะเวลาผ่อนชำระ ไม่เกิน 30 ปี หรือรวมกับอายุผู้กู้แล้วไม่เกิน 65 ปี กรณีกู้ร่วมให้นับจากอายุของผู้กู้ที่อายุน้อยกว่าเป็นเกณฑ์

          การกู้ร่วมมีข้อดีคือช่วยให้ได้วงเงินที่สูงขึ้น และเป็นการร่วมรับผิดชอบของคนใกล้ชิด แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยง เพราะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปัดความรับผิดชอบหนี้สินก็จะตกอยู่ที่คนที่เหลือ จึงควรเลือกผู้กู้ร่วมที่ไว้ใจได้เท่านั้น

การกู้ร่วมต่างกับการค้ำประกันตรงที่ การค้ำประกันไม่ทำให้วงเงินเพิ่มขึ้น แต่สำหรับด้านความรับผิดชอบหากเกิดการฟ้องร้องแล้วไม่ต่างกัน คือหากผู้กู้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ผู้กู้ร่วมและผู้้ค้ำประกันต่างก็ตกเป็นจำเลยร่วมกัน

TerraBKK คู่มือซื้อขายบ้าน

X Close