หลายๆ คนที่มีแผนจะปลูกบ้านใหม่หรือ ซื้อบ้าน หลังใหม่หลังจากเกิดน้ำท่วม คงต้องไตร่ตรองและคิดและคิดให้หนักมากขึ้น คำถามหลายๆคำถามว่า จะ ซื้อบ้าน แถวไหนถึงจะรอดจากน้ำท่วม จะปลูกบ้านในย่านไหน หรือต้องศึกษาข้อมูลอะไรบ้างก่อนจะ ซื้อบ้าน ถึงจะปลอดภัยจากน้ำท่วมในอนาคตต่อไปได้ คำตอบนั้นง่ายนิดเดียว เมื่อผู้ซื้อเป็นห่วงว่า "น้ำ" จะท่วมบ้านอีกหรือไม่ ก็ต้องดูปัจจัยและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับ "น้ำ" ที่เกี่ยวข้องกับบ้านและ ที่ดิน เป็นหลัก
เป็นเรื่องปกติที่เวลาจะเลือกซื้อหาบ้านจัดสรร หรือเลือกซื้อ ที่ดิน ปลูกบ้านใหม่ ผู้ซื้อมักเลือกจากทำเลที่ตั้งว่าใกล้สถานที่สำคัญ หรือไม่ เช่น ที่ทำงาน โรงเรียนของลูก ศูนย์การค้า ตลาด ทางด่วน สนามบิน ฯลฯ ควบคู่ไปกับการเลือกจากข้อมูลรูปแบบบ้าน ราคา และชื่อเสียงของบริษัท เป็นต้น แต่หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 2554 ประกอบกับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ "น้ำ" อยู่ตลอดเวลาจากสื่อมวลชนต่างๆ ด้วยเหตุนี้ "ผู้ซื้อ" หรือ "ผู้บริโภค" จะต้องศึกษาข้อมูลและทำการบ้านให้มากขึ้น ก่อนจะตัดสินใจตั้งหลักปักฐานให้กับตนเองและครอบครัวมีเรื่องอะไรกันบ้าง ดังนี้

  • โซนผังเมือง : โซนสีต่างๆ ที่ปรากฎในผังเมืองเป็นตัวบ่งชี้ว่าเมืองนั้นๆ กำหนดแนวทางการใช้พื้นที่ดินแต่ละเขตเป็นอย่างไร มีการใช้งานในลักษณะใดบ้าง เช่น พาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย หรือจะเป็นพื้นที่ เกษตรกรรม หรือพื้นที่รับน้ำ(flood way)หรือไม่ หากใช่ควรจะอยู่ห่างๆจากโซนเหล่านี้ไว้จะดีกว่า
  • แนวคันกั้นน้ำ : ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีการวางตำแหน่งคันกั้นน้ำเพื่อบริหารจัดการน้ำตามพระราชดำริไว้ การเลือก ซื้อบ้าน หรือ ที่ดิน ที่อยู่ภายในแนวคันกั้นน้ำก็จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมได้ระดับหนึ่ง
  • ตำแหน่งคู คลอง แหล่งน้ำธรรมชาติ : จากประสบการณ์น้ำท่วมในครั้งใหญ่ที่ผ่านมา เห็นได้ชัดเจนว่าน้ำจะเอ่อล้นจากเส้นทางน้ำธรรมชาติคือ คูคลอง ต่างๆ พร้อมกับค่อยๆ ผุดๆปุดๆ ขึ้นมาจากท่อระบายน้ำตามถนนหนทางต่างๆ ดังนั้นบ้านเรือนริมน้ำที่หลายคนชอบไปอยู่เพราะ คิดว่ามีวิวทิวทัศน์สวยงามก็จะมีความเสี่ยงจากน้ำมากเช่นกัน
  • ความสูงต่ำของที่ดิน/ที่ตั้ง (Topography) : แต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิประเทศจะมีระดับความสูงต่ำของที่ดินหรือที่ตั้งที่แตกตต่างกัน ทำให้เมื่อน้ำท่วมระดับน้ำในแต่ละพื้นที่จะมีความลึกต่างกันเหมือนกับระดับในสระว่ายน้ำ เห็นได้จากเวลามองที่ผิวน้ำ จะพบว่าผิวน้ำด้านบนมีความเรียบเสมอกัน แต่ก้นบ่อของสระว่ายน้ำจะมีระดับลึกหรือตื้นต่างกัน ดังนั้นหากเลือกที่ดินสำหรับปลูกบ้านในพื้นที่ที่มีระดับสูงกว่าระดับน้ำทะเลอ้างอิง หรือระดับถนนสาธารณะภายนอกหมู่บ้านของเราก็จะมีความเสี่ยงจากน้ำท่วมน้อยกว่า
  • เส้นทางน้ำไหล : เมื่อฝนตกลงบนผิวดิน น้ำจะซึมลงไปในดินและผิวดิน ส่วนที่เป็นน้ำบนผิวดินจะไหลลงสู่ที่ต่ำและไหลลงไปสู่แม่น้ำลำคลอง ที่เหลือจะซึมลงผิวดิน ดังนั้นการเลือกตำแหน่งในการปลูกสร้างบ้านเรือนด้องไม่ขวางทางที่น้ำไหลผ่าน เพราะแรงของน้ำนั้นมหาศาลสามารถทำให้ถนนขาดหรือบ้านถล่มได้ ดังนั้นในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือแม้แต่กรุงเทพฯ ก็ตามก่อนจะสร้างบ้านหรือซื้อที่ดินต้องลองสังเกตว่า เมื่อฝนตกลงมาแล้วเส้นทางการไหลของน้ำฝนหรือน้ำธรรมชาติอื่นๆ ไหลผ่านแนวที่ดินของเราหรือไม่ หากมีก็ควรจะหลีกเลี่ยง
  • มาตรการป้องกันน้ำท่วม : ข้อมูลนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ลูกค้าทุกคนควรสอบถามเพื่อความมั่นใจในอนาคตว่า หมู่บ้านจัดสรรแต่ละโครงการที่ท่านสนใจมีการเตรียมการหรือมีแผนรองรับเหตุน้ำท่วมไว้อย่างไรบ้าง อาทิ การ จัดเตรียมพื้นที่หน่วงน้ำ การจัดทำเขื่อนหรือคันกั้นน้ำภายในโครงการ รูปแบบการระบายน้ำ ไปจนถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อการอพยพหนีน้ำว่ามีหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเสี่ยงจากน้ำท่วมในทำเลที่ตั้ง ว่ามีมากเพียงใด
ประเด็นเหล่านี้ เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคในฐานะผู้ที่คิดจะ ซื้อบ้าน หรือ ที่ดินใหม่เพื่อจะปลูกบ้านในอนาคต ควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจและประเมินความเสี่ยงจากน้ำ (ท่วม) ได้ด้วยตนเอง เพื่อสวัสดิภาพความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของท่านและครอบครัว แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของบริษัทบ้านจัดสรรและเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่จะต้องนำเสนอให้ลูกค้าพิจารณาประกอบการขายตั้งแต่แรกเพื่อแสดงถึงความจริงใจและอาจใช้เป็นแรงจูงใจทางการตลาดได้อีกด้วย


Source : BuildTech Buyers' Guide 2012/2013

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก :