ขอบคุณข้อมูลจาก : www.BuilderNews.in.th นิตยสาร Builder Vol.22 AUGUST 2015 เรื่องโดย: ผศ.รัชด ชมภูนิช คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

"เมืองไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นฝรั่งฉันใด สถาปนิกไทยจึงไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาฝรั่งให้มากกว่า YES NO OK ฉันนั้น" ความภูมิใจของประเทศไทยตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบันคือ ความสามารถในการรักษาเอกราชของประเทศมาเป็นเวลาช้านาน และไม่เคยตกอยู่ภายใต้อาณานิคมและลัทธิใดๆ เหมือนประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ดังนั้นเราจึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารให้เข้าใจมากมายเหมือนประเทศอื่นๆ เพราะเรามีภาษาไทยเป็นภาษาราชการ และใช้เป็นภาษาหลักประจำชาติมาโดยตลอด

ความภูมิใจเรื่องนี้จึงแพร่หลายกระจายตัวมาที่วิชาชีพสถาปนิกและนักเรียนสถาปนิกไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงพบว่าสถาปนิกไทยและนักเรียนสถาปนิกมีทักษะความรู้ภาษาอังกฤษต่ำจนถึงต่ำมาก หรือต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับสถาปนิกในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นเวลาอ่านหนังสือหรือตำราภาษาอังกฤษ สถาปนิกไทยเราจึงทำได้แค่ดูรูปภาพเป็นหลัก เพราะเราอ่านภาษาอังกฤษไม่เข้าใจ และเราก็พึงพอใจเพียงแค่นำรูปด้านหรือ Detail สวยๆ จากอาคารในต่างประเทศมาใช้แบบฉาบฉวย โดยไม่เข้าใจที่มาที่ไปอย่างลึกซึ้งนอกจากนี้เราก็ยังขาดความสามารถในการอ่านและจับประเด็นความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานวิชาชีพจากตำราภาษาอังกฤษให้เข้าใจได้ เพราะเราไม่เคยถูกฝึกให้เคยชินกับอ่านภาษาอังกฤษ (ภาษาไทยก็เช่นกัน) สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นความเสียโอกาสทางความรู้ของนักเรียนสถาปนิกและสถาปนิกบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง คราวนี้เราลองมาดูทักษะด้านการพูด(อังกฤษ) กันดูบ้าง มีเรื่องเล่าเมื่อวานนี้ที่น่าเศร้าเกี่ยวกับความรู้ในการสื่อสารภาษาอังกฤษของสถาปนิกชาวไทยอีกเรื่องหนึ่ง คือมีคำกล่าวของสถาปนิกต่างชาติในการประชุมของสมาคมสถาปนิกแห่งเอเซีย หรือ Arcasia เมื่อหลายปี ที่ผ่านมาถึงการแบ่งประเภทของประเทศในเอเชียที่ควรเข้าไปทำงานและไม่ควรเข้าไปหางานทำ พบว่าประเทศไทยมาเป็นตัวเลือกลำดับแรก ที่สถาปนิกต่างชาติควรเข้ามาทำงานด้วยเหตุผลว่า “Thai Architects understand English good enough to receive order, But they can’t understand English good enough to give order” หรือแปลเป็นไทยได้ความว่า สถาปนิกไทยมีความเข้าใจภาษาอังกฤษดีพอสำหรับคำสั่ง และไม่สามารถใช้งานได้ดีอย่างเพียงพอในการออกคำสั่ง ลองย้อนกลับมาดูปัญหาที่มักพบเสมอในวงการศึกษาของบ้านเรา จะพบว่านักเรียนสถาปนิกไทยมักทำหน้าเหมือนกินยาขมหม้อใหญ่หรือถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเสมอ เมื่ออาจารย์มอบหมายให้อ่านบทความหรือตำราภาษาอังกฤษให้เข้าใจและรู้เรื่อง และในวงการวิชาชีพสถาปนิกเราเอง สถาปนิกไทยเราก็ไม่คุ้นและเคยชินกับการทำความเข้าใจข้อมูลความรู้ที่เป็นภาษาอังกฤษในด้านต่างๆ ในทุกๆ เรื่อง ไปจนถึงเราก็มักไม่เข้าใจ Technical term ที่เป็นภาษาอังกฤษในการทำงานอีกด้วย ซึ่งเป็นความนัยที่น่าเศร้าว่าสถาปนิกไทยเราทำได้เพียงแค่รับคำสั่งจากสถาปนิกต่างชาติเท่านั้นเอง วิธีการแก้ไขของสถาปนิกไทยเราคือทำหน้าเอ๋อ เมื่อลูกค้าหรือวิศวกรพูดคำอะไรก็ไม่รู้เป็นภาษาอังกฤษออกมา และถามย้อนกลับไปแบบสุภาพว่าคำนี้คืออะไร หรือไม่งั้นเราก็รักษาฟอร์มที่มีอยู่มากมายด้วยการพยักหน้าเออออกันไปเสมือนว่ารู้เรื่องเป็นอย่างดี จุดตายหรือจุดอ่อนนี้ขยายผลมาสู่ความด้อยโอกาสหลายประการในปัจจุบันของสถาปนิกไทย เพราะปัจจุบันภาษาอังกฤษถือได้ว่าเป็นภาษาโลกและเป็นภาษาหลักที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารปฏิสัมพันธ์ หรือการหางานกับชาวต่างชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสืบค้นข้อมูลความรู้จาก Internet ที่ถือเป็นแหล่งข้อมูลความรู้ขนาดอภิมหาอมตะนิรันดร์กาลให้ตักตวงอย่างไม่สิ้นสุด นอกจากนี้ผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าของประเทศไทยประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะต้องพบปะ หรือทำงานร่วมกับสถาปนิก วิศวกร และลูกค้าจากต่างชาติในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นกว่า ปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นหากเราขาดทักษะทั้งการสื่อสารและทักษะการอ่านภาษาอังกฤษกับบุคคลเหล่านี้ เราลองถามตัวเองว่าเราจะปฏิสัมพันธ์กับพวกเขาอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วยภาษาไทยอันเป็นภาษาประจำชาติของเราอย่างนั้นฤา หรือเราคิดว่าเราจะใช้ภาษาใบ้และภาษามือมาสื่อสารอธิบายความกันให้เข้าใจกันหรืออย่างไรหนอ ทางแก้ไขความกลัวที่ดีที่สุดคือ การหันหน้าเข้าสู้หรือเอาตัวเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ จนกว่าจะหายจากความกลัวดังกล่าว ดังนั้น เมื่อสถาปนิกไทยเรากลัวฝรั่งและไม่ชอบภาษาอังกฤษ ก็ต้องหันหน้าเข้าหาภาษาอังกฤษและคนฝรั่งด้วยวิธีการต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบทั้งการอ่าน พูด และเขียน ซึ่งเริ่มต้นได้จากการหยิบจับหนังสือภาษาอังกฤษแบบง่ายๆ มาอ่านอย่างน้อยเดือนละหนึ่งเล่ม จนตนเองเริ่มมีความเคยชินกับตัวหนังสือและภาษาอังกฤษมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มเพิ่มความยากด้วยการหัดอ่านตำราภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ซึ่งเราเองน่าจะทำความเข้าใจไม่ยากเพราะมีพื้นฐานความรู้อยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้สถาปนิกไทยเราต้องให้ความสำคัญกับศัพท์เทคนิคทาง สถาปัตยกรรมและวิศวกรรม เพราะคำศัพท์เหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานในการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างตนเองกับผู้ร่วมงาน และเป็นภาษามาตรฐานที่ทุกฝ่ายต้องรับรู้ข้อมูลร่วมกันตั้งแต่แรกเริ่มโดยไม่ต้องเสียเวลาอธิบายเพิ่มเติมแต่อย่างใด อีกหนทางแก้ไขที่สำคัญ คือ โอกาสฝึกฝนทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ หรือการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ก็เป็นหนทางที่จะพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตนให้ดียิ่งขึ้น