กิติพงศ์ - ไพบูลย์
คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ชงปฏิรูป ระบบภาษีครั้งใหญ่ เสนอแยก 3 กรมภาษีออกจากคลัง ตั้งเป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นการเมือง ชี้ถ้าไม่ปฏิรูประบบภาษี ปฏิรูปประเทศด้านอื่นไม่มีทางสำเร็จ จ่อเสนอ สปช. 13 ก.ค.นี้ ด้านอนุกรรมาธิการปฏิรูปตลาดทุน แนะปฏิวัติตลาดเงินตลาดทุนไทยสู้ศึกอาเซียน ดันตั้งสถาบันให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชน และปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลังได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “ปฏิรูปเศรษฐกิจไทยสู่ประเทศพัฒนาแล้ว” โดยนายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ รองประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปการคลัง การงบประมาณและการภาษีอากร ได้กล่าวอภิปรายในหัวข้อ “การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง” ว่า วันที่ 13 ก.ค.นี้ คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการคลัง การงบประมาณ และการภาษีอากร จะเสนอแนวทางการปฏิรูประบบภาษีให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณา ก่อนเสนอ ครม.ต่อไป ซึ่งได้เสนอให้ปฏิรูประบบภาษีอากรครั้งใหญ่ หลังจากที่ประเทศไทยมีกฎหมายประมวลรัษฎากรมา มีการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ครั้งเดียวคือปี 2535 เนื่องจากการปฏิรูประบบภาษีไม่สามารถทำได้ในระบบรัฐบาลปกติเพราะจะกระทบฐานเสียง จึงหวังว่าจะเห็นการปฏิรูประบบภาษีให้แล้วเสร็จภายใน 20 ปีข้างหน้า แยก 3 กรมภาษีเป็นองค์กรอิสระ สำหรับข้อเสนอปฏิรูประบบภาษีที่จะเสนอ สปช.ที่สำคัญประกอบด้วย การปรับให้หน่วยงานด้านเก็บภาษี ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต เป็นหน่วยงานอิสระแยกออกมาจากการเมือง ลักษณะเดียวกับองค์กรอิสระ ให้รายงานตรงต่อรัฐบาลไม่ได้ขึ้นตรงกับ รมว.คลัง มีตัวชี้วัดการทำงาน เจ้าหน้าที่จะลดการทุจริตลงเหมือนสิงคโปร์ รวมทั้งการเสนอให้ขยายฐานภาษีและป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี 2.7 ล้านราย และบริษัทอีก 600,000 บริษัท ในจำนวนนี้มีที่เสียภาษีรวมแล้วไม่ถึง 300,000 ราย ที่สำคัญ 500 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีสัดส่วนเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 30-40% ของเงินได้ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าระบบการเลี่ยงภาษีของคนไทยเก่งมาก ด้านบุคคลธรรมดามีคนอยู่ในวัยแรงงาน 35 ล้านคน ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ 10.75 ล้านคน และมีคนเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าแค่ 27,000 คน ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้มีบทความวิเคราะห์เรื่องกรีซที่ล่มสลาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการหลบเลี่ยงและหนีภาษีของคนกรีซ ที่เวลาไปทำคลอดหมอไม่รับเป็นเช็คหรือเครดิตการ์ด จะรับเป็นเงินสดเพราะไม่เสียภาษี ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องปรับโครงสร้างภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและการป้องกันการหนีภาษีให้มากขึ้น โดยทุกคนต้องขึ้นทะเบียนผู้เสียภาษี ไม่ว่าจะมีรายได้หรือไม่ก็ตาม ทุกวันนี้ถ้ารายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทไม่ต้องยื่นแบบเสียภาษี ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนไม่มีข้อมูลการเสียภาษีเลย จะต้องขึ้นทะเบียนให้อยู่ในระบบให้ได้ ทั้งแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้างจะได้สามารถขยายฐานภาษีได้ ต้องสร้างคนไทยให้รู้จักหน้าที่ในการเสียภาษี รื้อโครงสร้างภาษีใหม่หมด “ผมรื้อยกร่างประมวลรัษฎากรใหม่ จะทำให้โครงสร้างภาษีเปลี่ยนไป อัตราภาษีที่เสนอต้องแข่งขันในอาเซียนได้ โดยใช้โมเดลสิงคโปร์ อัตราภาษีไทยไม่ต้องเท่าสิงคโปร์ สิงคโปร์เก็บภาษีนิติบุคคลที่ 17% ของไทย 20% บุคคลธรรมดา 35% ซึ่งมันบิดเบือน จะให้ลดภาษีบุคคลธรรมดาลงมาเท่านิติบุคคล และเสนอให้หักค่าใช้จ่ายค่าลดหย่อนเพิ่มมากขึ้นโดยใช้เอกสารมาหักภาษี ซึ่งการร่างประมวลรัษฎากรใหม่ต้องไม่ใช่ภาครัฐร่างกฎหมายฝ่ายเดียว เอกชน นักวิชาการต้องเข้ามามีส่วนร่วม ผลการวิจัย ข้อศึกษาต่างๆต้องนำมาใช้ประกอบการร่างกฎหมายให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย รวมทั้งเขียนที่มาที่ไปของกฎหมายในร่างด้วย เพราะไทยเป็นสังคมศรีธนญชัย ตีความกฎหมายเข้าข้างตัวเอง หลักสำคัญคืออัตราภาษีไม่ต้องสูงแต่ฐานต้องเพิ่มขึ้นสะดวกลดการใช้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่” “ถ้าเราไม่ปฏิรูปโครงสร้างภาษี ปฏิรูปเรื่องอื่นไม่มีทางสำเร็จ จะเอาเงินที่ไหนไปปฏิรูปการศึกษา ไปช่วยเหลือคนจน เมื่อก่อนปฏิรูปภาษีใช้วิธีปะผุ เช่นขอลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว ประกันชีวิต เคาะไปเคาะมาตอนนี้ผุหมดแล้ว ต้องรื้อบ้านแล้วสร้างใหม่เป็นเรื่องยากมาก แต่ไม่มีโอกาสไหนแล้วที่จะเหมาะเท่าโอกาสนี้ อยากให้คนไทยช่วยกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ คนเสียภาษีไม่ควรได้รับการยกย่องว่าเก่ง ต้องเปลี่ยนความเชื่อใหม่ เราต้องเสียภาษีให้บ้านเมือง ซึ่งมีตัวอย่างจากประเทศอื่นแล้วว่าทำไมบ้านเมืองเขาถึงล่มสลาย และเสนอให้คนที่เสียภาษีควรได้รับการดูแลจากรัฐบาล เช่น เอสเอ็มอีที่เสียภาษีต้องกู้เงินได้ดอกเบี้ยถูกกว่าเอสเอ็มอีที่ไม่เสียภาษี” ตั้งองค์กรให้ความรู้การเงินคนไทย ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปตลาดทุนกล่าวว่า เป้าหมายหลักการปฏิรูปตลาดทุน คือลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยให้โตได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีธรรมาภิบาล โดยเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำนั้น ต้องทำให้คนไทยมีความรู้ทางการเงินสูงขึ้น ถ้าไม่มีความรู้ทางการเงิน จะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ได้เลย โดยเฉพาะคนจน ไม่ว่าจะให้เงินมากเท่าใดหากออมไม่ได้ ทำบัญชีรายรับรายจ่ายไม่เป็น ไม่มีทางเก็บเงินได้ แม้จะมีคนที่ออมเงินได้ แต่ถ้าลงทุนไม่เป็น หรือถูกหลอกทางการเงิน โดยเงิน 100 บาท คนที่ลงทุนเป็นอาจเพิ่มเป็น 200 บาท คนที่ลงทุนไม่เป็นอาจเหลือแค่ 10-20 บาทจึงจำเป็นต้องเพิ่มความรู้ทางการเงินให้คนไทย โดยเสนอให้ตั้งสถาบันให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชน โดยเฉพาะระดับฐานราก ให้มีความรู้เพียงพอเหมาะสมที่จะทำบัญชีหนี้สินครัวเรือนเป็น ไปจนถึงสามารถดูแลตัวเองได้ไม่ถูกหลอกทางการเงิน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่จะนำเข้าสภาปฏิรูปแห่งชาติวันที่ 29 ก.ค.นี้ เชื่อว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนและปัญหาสังคมจะหมดไป ตลาดทุนเข้มแข็ง–ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ตลาดทุนขณะนี้มีความสำคัญมากมีมูลค่า 200% ของจีดีพี ใหญ่กว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาด 100% ของจีดีพี ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ตลาดทุนมีขนาดใหญ่ 400% ของจีดีพี แสดงให้เห็นว่าจากนี้ไปตลาดทุนไทยมีแต่จะโตขึ้น เพราะเอกชน รัฐวิสาหกิจ และรัฐบาล จะระดมทุนผ่านตลาดทุนมากขึ้น เพราะเป็นแหล่งระดมทุนที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ต้นทุนต่ำ จึงต้องปฏิรูปตลาดทุนให้มีความเข้มแข็ง ความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่อันดับที่ 31 มาเลเซียอันดับ 20 สิงคโปร์อันดับ 2 ของโลก ส่วนการพัฒนาตลาดการเงินของไทยอยู่อันดับที่ 34 มาเลเซียอันดับ 4 สิงคโปร์อันดับ 2 ฮ่องกงอันดับ 1 ของโลก
จะเห็นว่าตลาดเงินตลาดทุนไทยยังแข่งขันไม่ได้ในระดับภูมิภาค ขณะที่ไทยต้องการมีบทบาทในระดับภูมิภาค ส่งบริษัทเอกชนออกไปแข่งขัน แต่ถ้าภาคการเงินไม่พร้อมส่งต้นทุนในราคาที่ถูกไปสนับสนุนเอกชนไทย จะไปแข่งขันกับใครได้ “ประเทศ ไทยต้องถีบตัวเองขึ้นไปอีกมาก และต้องทำให้เอสเอ็มอี เข้าสู่ตลาดทุนให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีทางแข่งขันกับใครได้ และต้องทำให้ประเทศกลุ่มแม่น้ำโขง มองตลาดทุนไทยเป็นแหล่งระดมทุนของพวกเขา ส่วนการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ ได้เสนอเพิ่มประสิทธิภาพรัฐวิสาหกิจให้รัฐบาลรับไปพิจารณาแล้ว เพราะรัฐวิสาหกิจดูแลโครงสร้างพื้นฐานในกิจการสาธารณะของประเทศ ถ้า รัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ ความไม่มีประสิทธิภาพนั้น จะถูกส่งต่อเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ เพราะเอกชนจะมีต้นทุนการใช้โครงสร้างพื้นฐานราคาแพง จึงเสนอให้แยกรัฐวิสาหกิจเป็น 4 ส่วน จากปัจจุบันผู้กำกับดูแล ผู้ให้นโยบาย และผู้ที่เป็นเจ้าของเป็นคนเดียวกัน เสนอให้แยกเป็นคนทำนโยบายระดับรัฐมนตรี มีองค์กรดูแลเป็นรายเฉพาะกิจการ และตั้งองค์กรซึ่งเป็นเจ้าของขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลสินทรัพย์รัฐวิสาหกิจแทนคนไทยทุกคน และให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าไปดูแล ป้องกันการแทรกแซงจากการเมือง.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์