กระแสการออกแบบอสังหาริมทรัพย์โดยใช้ กระจก” ให้เป็นส่วนหนึ่งของอาคารกำลังได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้กับอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า รวมไปถึงที่อยู่อาศัยอย่าง บ้าน หรือคอนโดมิเนียม ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน กระจกไม่เพียงแค่เป็นตัวเสริมให้อสังหาริมทรัพย์เราดูมีคุณค่า ดูมีมูลค่าเท่านั้น แต่ยังให้ความรู้สึกถึงความโปร่ง ความสบาย ไม่อึดอัด ปัจจุบันได้มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกระจกออกมาให้เลือกหลากหลายรูปแบบ สามารถนำปรับใช้กระจกได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น TerraBKK ได้รวบรวมกระจกประเภทต่างๆของอาคารเอาไว้ดังนี้

1. กระจกแผ่น (Sheet Glass) เป็นกระจกที่เราเห็นทั่วไป ไม่มีความซับซ้อน และมีความแข็งแรงต่ำ ฟองอากาศมาก ผิวกระจกเป็นรอยขูดขีดได้ง่าย เป็นรอยขูดขีด ผิวค่อนข้างขรุขระ เป็นคลื่น อาจจะมีบิดเบี้ยวบ้าง การนำไปใช้ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะ เป็นกรอบรูป กระจกเงา และกระจกที่ใช้สำหรับเครื่องเรือน

2. กระจกโฟลต (Float Glass) เป็นกระจกที่มีความโปร่งแสงสูง ผิวเรียบสนิท การสะท้อนสามารถทำได้ดี ฟองอากาศน้อยกว่า Sheet Glass การจัดเรียงของโมเลกุลภายใมนเนื้อกระจกทำได้ดีกว่าทำให้มีความแข็งแรงกว่ากระจก Float จึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • กระจกโฟลตใส (Clear Float Glass) เป็นกระจกที่เกิดจากการหลอมของซิลิก้าสารประกอบต่างๆ กระจกประเภทนี้จะทำให้มีรอยต่อระหว่างกระจกน้อย สามารถนำไปใช้งานได้กับผนังภายนอก ผนังภายในอาคารได้ Clear Float Glass เหมาะกับการใช้งานประเภทแสดงสินค้า แต่อาจไม่เหมาะกับส่วนที่ต้องการความเป็นส่วนตัว
  • กระจกสี (Tinted Float Glass) มีการผสมออกไซด์ในเนื้อกระจกเพื่อให้เกิดสีสันแตกต่างกันไป เกิดความสวยงาม ช่วยลดความจ้าของแสงที่ส่งผ่านกระจกสีทำให้ได้แสงที่นุ่มนวลและเกิดความสบายตาในการมอง แต่ออกไซด์ที่ใส่เข้าไปจะอมความร้อนจึงแตกได้ง่ายสีของกระจกยังสามารถช่วยตัดแสงที่จะส่องเข้ามาในตัวอาคาร ทำให้ประหยัดพลังงานภายในอาคารจึงเหมาะกับงานภายนอก

3. กระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass) เป็นการนำกระจกClear Float Glass มาผ่านกระบวนการอบความร้อนและทำให้เย็นอย่างช้าๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของผิวกระจกและสามารถรับแรงได้มากกว่า 2-3 เท่า และเมื่อกระจกแตกจะมีลักษณะเป็นปากฉลามยึดติดอยู่กับกรอบไม่ร่วงหล่นเหมือนกระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Safety Glass) จึงนิยมใช้ในการทำผนังภายนอก โดยเฉพาะGlass Curtain Wallกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วยกระจก 2 ชนิด ดังต่อไปนี้

4. กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass) มีการผลิตจากกระจก Clear Float Glassแล้วนำมาอบความร้อนอีกครั้ง แล้วทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็วโดยการเป่าลมเย็นทั้ง 2 ด้าน สามารถรับแรงได้มากกว่าถึง10 เท่า และยังสามารถดัดได้มากกว่าถึง 3 เท่า สามารถรับแรงอัดของลมได้ดี แต่ไม่สามารถทำการตัดหรือเจาะได้เนื่องจากทนต่อแรง Point Load ได้น้อย เมื่อแตกจะเป็นเม็ดเล็กคล้ายเมล็ดข้าวโพดและร่วงหล่นออกมาจากกรอบทั้งหมด เหมาะกับงาน ประตูกระจก ผนังกั้นอาบน้ำ (Shower Box) ผนังภายนอกอาคารสูงๆ และเหมาะสำหรับใช้งานในสภาพที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทก

5. กระจกเคลือบผิว หรือกระจกสะท้อนแสง (Surface coated glass) เป็นการนำกระจก Clear Float Glass ไปปรับปรุงผิวด้วยการเคลือบออกไซด์ กระจกประเภทนี้จะมีความเงามันวาวกระจกในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วยกระจก 2 ชนิดได้แก่

  • กระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ (Solar Reflective Glass) เป็นกระจกเคลือบผิวออกไซด์ความโปร่งแสงต่ำคนภายนอกมองเข้ามาภายในลำบาก แต่คนภายในมองออกภายนอกได้ชัด สามารถสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ที่จะผ่านเข้าสู่อาคารได้ประมาณ 30% เป็นการลดภาระของระบบปรับอากาศ มักนิยมใช้กระจกประเภทนี้กับผนังภายนอกอาคาร
  • กระจกแผ่รังสีต่ำ (Low-E Glass) คล้ายกับ Solar Reflective Glass โลหะที่ใช้เคลือบจะมีโลหะเงินบริสุทธิ์ช่วยให้สามารถถ่ายเทความร้อนได้ดี ลดปัญหาเรื่องกระจกแตกร้าวได้ดีกว่า Solar Reflective Glass แต่ Low-E ตัดแสงได้น้อยกว่า

6. กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units) คือ เป็นกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน โดยมี Aluminium Spacer ซึ่งบรรจุสารดูดความชื้นแล้วใส่ฉนวน เช่น อากาศแห้ง (Dried Air) หรือ ก๊าซเฉื่อย ไว้ภายในเพื่อให้มีคุณสมบัติในการเก็บรักษาอุณภูมิภายในได้ดีมาก (สามารถสะท้อนความร้อนได้ประมาณ 95%-98%) และไม่ทำให้เกิดฝ้าหรือหยดน้ำ แม้ว่าอุณหภูมิภายในกับภายนอกแตกต่างกันมาก

การนำไปใช้งาน-กระจกประเภทนี้จะมุ่งเน้นการใช้งานไปในแนวทางการประหยัดพลังงานภายในอาคารและการใช้งานสำหรับอาคารเฉพาะทางเนื่องจากมีคุณสมบัติ คือ การยอมให้แสงผ่านเข้ามาภายในอาคารมากแต่ความร้อนที่จะผ่านกระจกเข้ามาน้อยมากจึงมักนิยมใช้สำหรับอาคารที่ต้องการควบคุมอุณภูมิให้คงที่ตลอดเวลาเช่นพิพิธภัณฑ์อาคารเก็บอาหารห้องเก็บไวน์เป็นต้น

7. กระจกนิรภัยหลายชั้น (Laminated Safety Glass) คือ กระจกที่ประกอบไปด้วยกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปเช่นกัน มาประกบหรือติดด้วย PVB (Poly Vinyl Butyral) กระจกจะติดกับ PVB ไม่ร่วงหล่นจากกรอบ Laminated Safety Glass จึงเหมาะกับ ผนังภายนอกอาคารสูง ราวกันตก เป็นต้น ผู้ออกแบบสามารถเลือกชนิดของกระจกที่จะนำมาประกอบกันเพื่อให้ได้คุณสมบัติในการลดความร้อนจากภายนอกอาคารที่จะเข้าสู่ภายในอาคารได้ตามต้องการ

จะเห็นได้ว่า กระจกแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป จึงมีการผลิตกระจกแบบผสมผสานมาใช้กับอาคาร เช่น กระจก Tempered Laminated Low-E Glass เป็นการผสมผสานการเคลือบกระจกแบบ Low-E เพื่อลดความร้อน และช้คุณสมบัติ Laminate เพื่อป้องกันการแตกกระจาย รวมถึงกระจกแบบTempered จะช่วยทำให้การแตกเป็นเมล็ดข้าวโพด ซึ่งทำให้การอยู่อาศัยดูไม่ร้อน และปลอดภัย มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การเลือกใช้กระจกขึ้นอยู่กับงบประมาณและวัตถุประสงค์การใช้งาน ถ้าหากเลือกกระจกผิดประเภทอาจจะส่งผลต่อคุณภาพการใช้ชีวิตได้

ตัวอย่างอาคารที่นำกระจกมาใช้ผสมผสานกับการออกแบบอาคาร

All Seasons Place

Energy Complex : EnCo

Terminal 21

แบบบ้านที่ใช้กระจก

บทความโดย : TerraBKK ข่าวอสังหาฯ TerraBKK ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก