นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่ปลูกข้าว 3.7 ล้านไร่นั้น จากการสอบถามทีมงานที่ลงพื้นที่พบว่า ยังไม่มีผลกระทบต่อสินเชื่อ เนื่องจากธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการโรงสีข้าว และโรงโม่มัน ซึ่งเป็นสินเชื่อในลักษณะการซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) จึงไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ภัยแล้งน่าจะกระทบต่อชาวนา ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นคนปล่อยกู้มากกว่า ส่วนกรณีที่เรือประมงประท้วงหยุดหาปลา หลังรัฐบาลเร่งจัดระเบียบเรือประมงตามมาตรการป้องกันและแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมายนั้น ธนาคารไม่ได้ปล่อยสินเชื่อให้อุตสาหกรรมห้องเย็นและธุรกิจแพปลา แต่ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งเพื่อการส่งออก ดังนั้น ต้องติดตามว่าจะมีผลกระทบอย่างไร
ด้านนายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อครึ่งปีหลังของธนาคารจะไม่แตกต่างจากครึ่งปีแรก เพราะปัญหาหนี้เสียในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังมีปัญหาบางส่วน โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีภาคการเกษตร และอุปโภคบริโภคทั่วไป ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง และสั่งสมมานานกว่า 5 ปี ทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก ขาดสภาพคล่อง และไม่ชำระหนี้ รวมถึงยังพบว่า ภาพรวมยอดเบิกจ่ายใช้สินเชื่อในธุรกิจเอสเอ็มอีไม่เติบโตมากนัก แม้ที่ผ่านมาธนาคารได้ช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ แต่ผู้ประกอบการยังไม่รู้ว่าจะเบิกสินเชื่อไปใช้จ่ายอะไร ทำให้ยอดการเบิกจ่ายใช้สินเชื่อไม่เป็นตามที่คาดไว้ ทั้งนี้ หากรัฐบาลดำเนินมาตรการผลักดันการลงทุนและเบิกจ่ายเงิน ภาครัฐให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน คาดว่ายอดการเบิกใช้สินเชื่อที่เหลือของธุรกิจเอสเอ็มอีจะกลับมาเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก และช่วยให้เงินกลับเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น “แผนปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีครึ่งปีหลังไม่ได้ลดลง เพราะได้ปรับพอร์ตแล้วตอนที่เริ่มเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มไม่แข็งแรง และไม่ได้ผลีผลามปล่อย เพราะยอดเบิกจ่ายสินเชื่อเอสเอ็มอีช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มาก เนื่องจากภาคธุรกิจไม่รู้ว่าจะนำเงินไปทำอะไร และภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน”.

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์