พาณิชย์เผยมูลค่าส่งออก พ.ค. ลดลง 5.01% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ของปีนี้ ส่วนนำเข้าลด 19.97% สูงสุดในรอบ 5 ปี 9 เดือน ชี้ไม่น่าได้รับผลจากบาทอ่อน... เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือน พ.ค. 2558 มีมูลค่าการส่งออก 18,428.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 5.01% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ของปีนี้ เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 592,524 ล้านบาท ลดลง 4.61% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,012.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 19.97% เป็นการติดลบสูงสุดในรอบ 5 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2552 ที่ติดลบ 32.8% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 520,957 ล้านบาท ลดลง 19.62% โดยยังได้ดุลการค้ามูลค่า 2,416.8 ล้านเหรียญฯ หรือได้ดุล 71,567 ล้านบาท ขณะที่ในช่วง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 88,694.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 4.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 2.873 ล้านล้านบาท ลดลง 3.75% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 85,371.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 9.39% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 2.799 ล้านล้านบาท ลดลง 8.88% โดยยังเกินดุลการค้ามูลค่า 3,322.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเกินดุล 74,033 ล้านบาท นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุที่ทำให้มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค.ลดลง เป็นเพราะมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรลดลง 2.8% โดยยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับหนึ่งของไทย มูลค่าลดลงถึง 14.4% ส่วนน้ำตาล กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป และทูน่ากระป๋อง ลดลงเช่นกัน แต่สินค้าที่มูลค่าส่งออกสูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น 72.5% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 5.1% ข้าว 1.9% และไก่สดแช่แข็งและแปรรูป 1.6% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าลดลง 4.5% โดยสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบที่เป็นสินค้าส่งออกและทำรายได้มาก แม้จะขยายตัว 0.6% แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนมาก ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มูลค่าส่งออกลดลง ยกเว้นทองคำที่เพิ่มขึ้น 17.3%
"มูลค่าการส่งออกในเดือน พ.ค.ที่ลดลงมาก เป็นเพราะค่ายรถยนต์ใหญ่รายหนึ่งได้ปรับเปลี่ยนรุ่นของรถกระบะ ทำให้การส่งออกรถยนต์ลดลงมาก เหลือการขยายตัวเพียง 0.6% เท่านั้น จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวสูงถึง 5.2% เพราะรายนี้เป็นรายใหญ่ มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสูงถึง 11.7% ของมูลค่าการส่งออกรวม" นายสมเกียรติ กล่าว ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยังคงมาจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกและคู่ค้าที่ยังชะลอตัว โดยเฉพาะอียู ญี่ปุ่น และอาเซียน ยกเว้นสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การนำเข้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังคงลดลง โดยเฉพาะคู่ค้าที่สำคัญของไทย ทั้งสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ เป็นต้น ส่วนราคาน้ำมัน ที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดลง แต่เริ่มมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรโลก ปรับตัวลดลงมาก ทำให้มูลค่าส่งออกลดลง ทั้งยางพารา และน้ำตาลทราย นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การใช้มาตรการทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยังไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกในทันที เพราะการส่งออกขณะนี้เป็นการส่งออกตามคำสั่งซื้อเมื่อ 2-3 เดือนก่อน แต่เชื่อว่าอีก 3 เดือนข้างหน้า มูลค่าการส่งออกจะดีขึ้น และกระทรวงฯ ยังคงเป้าหมายมูลค่าการส่งออกปีนี้ขยายตัวไว้ที่ 1.2% เหมือนเดิม สำหรับการนำเข้าที่ลดลงสูงถึง 19.97% นั้น มีความเป็นห่วง เพราะอาจส่งผลถึงการส่งออกในอนาคต ซึ่งไม่น่าจะมีผลจากค่าเงินบาทอ่อนค่า เพราะเพิ่งอ่อนเมื่อเดือน เม.ย.2558 แต่อาจเป็นเพราะการส่งออกไทยและการบริโภคในประเทศชะลอตัว รวมถึงอาจเป็นผลจากการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วงก่อนหน้านี้ชะลอตัว แต่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริงแล้ว.

หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by :

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์