พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบการขนส่งชายฝั่งและการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก และการเชื่อมโยงการเดินทางทางน้ำไปยังจังหวัดใกล้เคียงว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาข้อดี-ข้อเสีย รวมทั้งรูปแบบการดำเนิน โครงการการก่อสร้างท่าเรือเฟอร์รี่เพื่อเชื่อมจังหวัดท่องเที่ยวฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จำนวน 4 แห่ง คือ ท่าเรือแหลมบาลีฮาย พัทยา, ท่าเรือจุก เสม็ด อ.สัตหีบ, ท่าเรือวัดไทรย้อย อ.ชะอำ และท่าเรือปากน้ำปราณบุรี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยให้นำรายละเอียดกลับมาเสนอที่ประชุมอีกครั้งภายใน 3 สัปดาห์ สำหรับ รูปแบบการลงทุนเบื้องต้นจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนหรือพีพีพี เบื้องต้นจะให้สัมปทานเอกชนไม่น้อยกว่า 30 ปี โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือก่อสร้างท่าเรือเอง คาดว่ากรมเจ้าท่าจะมีการขอจัดสรรงบประมาณปี 2559 วงเงิน 1,000 ล้านบาท ลงทุนพัฒนาท่าเรือจำนวน 4 แห่ง ส่วนภาคเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนในระบบการให้บริการและจัดซื้อเรือโดยสาร ขั้นต้นจะเริ่มนำมาให้บริการ 4-6 ลำ มูลค่าประมาณ 4,800 ล้านบาท คาดว่าภายในเดือน ส.ค.จะสรุปรายละเอียดโครงการเสนอให้ฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.อนุมัติ เพื่อให้กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินโครงการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2559 และจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีแล้วเสร็จ "เรือที่เอกชนนำมาให้บริการจะเป็นเรือเฟอร์รี่ความเร็ว สูง 80 กม./ชม. ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางได้มาก เช่น จากแหลมบาลีฮาย พัทยามายังหัวหิน ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง-2 ชม."

ขอบคุณข้อมูลจาก : ไทยรัฐออนไลน์