โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th ที่มา นสพ.มติชนรายวัน

สํานักงานเพื่อการพัฒนาการสื่อสารสารสนเทศ (ไอดีเอ) ของสิงคโปร์ ต้องการทำให้ประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็น "สมาร์ทเนชั่น" แห่งแรกของโลก มีการประกาศแผนและเปิดตัวโครงการ "นำร่อง" กันอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมาสตีฟ เลียวนาร์ด รองประธานไอดีเอ บอกว่า ปี 2015 นี้คือปีของการสร้าง "ต้นแบบ" ที่หลังจากนั้นจะพัฒนาขยายออกไปครอบคลุมทั้งประเทศ

คำถามอย่างแรกสุดที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ "สมาร์ทเนชั่น" คืออะไร?

คำตอบ คือ การทำให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศแรกสุดในโลกนี้ที่สามารถนำ "เทคโนโลยี" มาปรับใช้ในการแก้ปัญหา การคมนาคมขนส่ง, ความแออัดของประชากร, ความชราภาพของประชากรและการสาธารณสุขมูลฐาน ภายใต้วิสัยทัศน์อลังการที่เรียกว่า "E3A" ที่ประกอบด้วย E 3 ตัว กับ A อีก 1 ตัวนั่นคือ "Everyone, Everything, Everywhere, All the time" อันหมายถึง "ทุกคน" จะได้รับ "ทุกอย่าง" ที่ต้องการ ซึ่งครอบคลุม "ทุกพื้นที่" อยู่ "ตลอดเวลา" นั่นเอง

เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่ว่านั้น สิงคโปร์พัฒนา "แพลตฟอร์ม" ขึ้นมาสำหรับใช้เป็นแนวทางหรือแผนงานเพื่อการนี้ เรียกว่า "สมาร์ท

เนชั่น แพลตฟอร์ม"หรือ "เอสเอ็นพี" เกี่ยวเนื่องกับ การจัดหาสาธารณูปโภคและเทคโนโลยี เพื่ออำนวยให้พลเรือน, องค์กรธุรกิจ และรัฐบาล มีศักยภาพเพิ่มพูนขึ้น

"เอสเอ็นพี" จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเป็นโครงการนำร่องจำกัดเฉพาะพื้นที่ ซึ่งจะมีการลงทุนติดตั้งทั้งระบบโครงข่ายและเซ็นเซอร์ทั้งแบบไร้สายและมีสาย เชื่อมโยงทุกคนในพื้นที่ดังกล่าวเข้าด้วยกัน ส่วนระยะที่สองนั้นคาดหวังกันไว้ว่า จะเป็นการพัฒนาระบบที่ผ่านการทดลอง ปรับแก้ข้อบกพร่องต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ติดตั้งเทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มเติม ภายใต้ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมทั้งในและนอกประเทศ โดยที่ไอดีเอจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและคัดสรรเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้

มีบริษัทธุรกิจทั้งในระดับโลกและในท้องถิ่นของสิงคโปร์เองให้ความสนใจร่วมมือกับโครงการนี้มากมาย ไล่ตั้งแต่ ไมโครซอฟท์, ไอบีเอ็ม เรื่อยไปจนถึง กรีน คอนเซ็ปต์, เอเนอร์เจทิกซ์ หรือแทรคโคเมติก ที่ให้บริการด้านวิดีโอ อนาไลติคในท้องถิ่นเป็นต้น

ในเบื้องต้น ทางการสิงคโปร์ได้รับความร่วมมือจาก 4 บริษัทโทรคมนาคมที่ให้บริการอยู่ในประเทศ ทั้งสิงค์เทล, สตาร์ฮับ, เอ็มวัน และมายรีพับลิค เพื่อปรับโครงสร้างของเครือข่ายให้สามารถสลับกลับไปกลับมากับโครงข่ายของรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันว่าประชาชนทุกคนจะสามารถเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวไปมาอยู่ที่ใด จุดเริ่มต้นที่เป็นโครงการนำร่องของเรื่องนี้อยู่ที่เขตจูร่ง เลค โดยไอดีเอกำหนดจะทดลองใช้การเชื่อมต่อตลอดเวลาในพื้นที่ที่มีการใช้งานเครือข่ายหนักที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าการเชื่อมต่อจะไม่สะดุดแม้ใช้งานเครือข่ายสูงมากๆ อย่างเช่น การสตรีมมิ่งวิดีโอระหว่างการเดินทางเป็นต้น

เป้าหมายไม่ใช่ว่าจะเพื่อบริหารซีรีส์เกาหลีแบบไม่มีสะดุดอย่างเดียวหรอกนะครับ แต่ยังเป็นการปูพื้นฐานไว้รองรับการเชื่อมต่อของสารพัด "สมาร์ทดีไวซ์" และ "แอพพลิเคชั่น" มีประโยชน์อีกมากมายในอนาคตตั้งแต่การตรวจจับข้อมูลสุขภาพจากระยะไกล, การเรียนรู้ระยะไกล, หรือแม้กระทั่ง "สมาร์ทคาร์" รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

ที่น่าสนใจอย่างมากก็ คือ จะทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ สิงคโปร์จะต้องมี "มาตรฐาน" สำหรับให้ทุกอุปกรณ์อ้างอิงเพียงมาตรฐานเดียวเท่านั้น ไม่เช่นนั้นทุกๆ อย่าง (หรืออินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์) จะไม่อยู่ในสภาพที่เชื่อมต่อและ "พูดคุย" ซึ่งกันและกันได้ตลอดเวลาอย่างที่คาดหมาย แต่เป้าหมายของสิงคโปร์อยู่ที่การทำให้ อุปกรณ์ทุกชิ้นที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ตรวจจับการออกกำลังกาย, สมาร์ทวอตช์, เซ็นเซอร์ต่างๆ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสวมใส่ (แวร์เรเบิล ดีไวซ์) ทั้งหลายจะสามารถทั้งรับและส่งข้อมูลทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร, สุขภาพ, บันเทิง, การจราจร ฯลฯ ซึ่งทำให้ทุกชิ้นต้อง "คุย" กันได้ "มองเห็น" ซึ่งกันและกัน

ปรากฏว่าสิงคโปร์จัดทำมาตรฐานแห่งชาติขึ้นมาแล้วครับ มีคณะกรรมการด้านมาตรฐานไอทีแห่งสิงคโปร์ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ได้มาตรฐานเบื้องต้นออกมาแล้ว ก่อนที่มาตรฐานเต็มรูปแบบจะตามมา

โครงการนำร่องอีกแห่งเป็นที่เกาะเซนโตซา ซึ่งว่ากันว่า เราอาจได้เห็นรถอัตโนมัติไม่มีคนขับที่นี่ในอีกไม่ช้าไม่นาน

หยิบเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังเพื่อจะบอกว่า ในทางด้านไอทีนั้น สิงคโปร์ เขาไปไกลกว่าไทยเรามากโขแล้ว ทั้งในเรื่องแนวความคิดและการประยุกต์ใช้ครับ

ขอบคุณข้อมูล จาก : คุณไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th มติชนรายวัน วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 38 ฉบับที่ 13578 ขอบคุณรูปภาพ จาก : www.abroadtour.com >