พรบ. การผังเมืองได้ทำการสำรวจและกำหนดเอาไว้ว่าพื้นที่บริเวณใด เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ไปในทิศทางใด แบ่งตามถนนและลำคลอง โดยใช้โซนสีเป็นสัญญลักษณ์ เพื่อเป็นจุดสังเกตในการใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแก่พื้นที่นั้นๆ

สำหรับพื้นที่ที่เหมาะกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามหลักการวางผังเมือง คือพื้นที่โซนสีเหลือง ส้ม และน้ำตาล ซึ่งเป็นพื้นที่ประเภท ย. 1 – ย. 10 คือพื้นที่อยู่อาศัยประเภท 1- 10 นั่นเอง ความหมายของโซนสีต่างๆ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ โซนสี ข้อควรรู้ก่อนการลงทุน ในส่วนของตัวเลขตามหลัง 1- 10 นี้ คือข้อจำกัดในการนำพื้นที่ไปพัฒนา ตัวเลขยิ่งมากข้อจำกัดในการนำไปใช้ประโยชน์ยิ่งน้อย กล่าวคือ พื้นที่ ย.1 จะสามารถสร้างเป็นบ้านเดี่ยวที่มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตรเท่านั้น แต่ ย.10 อาจสร้างได้ทั้งตึกแถว คอนโดมิเนียม อาคารพานิชย์ และพื้นที่ใช้ประโยชน์ประเภทอื่นๆ ร่วมด้วย

หากมองตามผังเมืองปี 2556 เราจะพบว่า ในกทม. มีพื้นที่ ย.1พื้นที่สีเขียวเส้นทแยงมุม และพื้นที่สีเขียวสำหรับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และพัฒนาเกษตรกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจสร้างความสงสัยว่าเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครนั้น จำเป็นต้องมีพื้นที่เพื่อการพัฒนาเกษตรกรรมมากขนาดนั้นเลยหรือ นำมาสร้างเป็นที่อยู่อาศัยน่าจะได้ประโยชน์กว่าหรือไม่

คำตอบคือ เมื่อเรายังต้องการออกซิเจนในการหายใจ พื้นที่สีเขียวสำหรับธรรมชาติย่อมจำเป็น พื้นที่สีเขียวเหล่านี้ บางส่วนมีไว้เพื่อการเกษตรและบางส่วนเป็นพื้นที่รับน้ำหรือคลองส่งน้ำเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์เมื่อเกิดอุทกภัย พื้นที่ในส่วนนี้จึงเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงเกินไปสำหรับการตั้งบ้านเรือน

ตามที่ได้บอกไปแล้วว่า การกำหนดพื้นที่ใช้ประโยชน์ตามโซนสี เป็นไปเพื่อระบุตำแหน่งที่เหมาะสมในการใช้พื้นที่ ไม่ได้หมายความว่าห้ามเด็ดขาดในการนำพื้นที่นั้นๆ ไปใช้พัฒนาในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการสร้างที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความยืดหยุ่นสูงสุด คือสามารถสร้างได้แทบจะทุกพื้นที่โซนสี แต่จะเหมาะสมหรือไม่ก็ต้องอยู่ที่การพิจารณาของผู้สร้างและพัฒนาเอง หากไปสร้างบ้านในพื้นที่สีม่วงหรือสีแดง ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมและพื้นที่เชิงพานิชย์ ก็ต้องทำใจรับความเสี่ยงว่าในพื้นที่นั้นๆ อาจจะมีโรงงานที่สร้างมลพิษในด้านต่างๆ หรือเป็นพื้นที่พลุกพล่านเสียงดังทั้งวันทั้งคืนได้ โดยไม่มีสิทธิ์บ่นหรือเรียกร้องอะไร เพราะพื้นที่นี้ได้ถูกระบุมาแต่ต้นแล้วว่าเหมาะกับการสร้างโรงงานและการค้าขาย

ในขณะที่พื้นที่อื่นๆ มีความยืดหยุ่นต่อพื้นที่อยู่อาศัย การจะสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นในพื้นที่อยู่อาศัยกลับเป็นไปได้ยาก เพราะมีข้อจำกัดเพื่อปกป้องคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่บริเวณนั้นค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเลย ตามพรบ. การผังเมืองได้อนุญาตให้สามารถทำโครงการที่แตกต่างจากจุดประสงค์หลักของที่ดินได้ไม่เกิน 5 – 10%  ของพื้นที่ทั้งหมด เช่น ขอสร้างพื้นที่พานิชย์ ห้างสรรพสินค้า ตลาด ในพื้นที่อยู่อาศัย ที่ไม่มีตลาดมาก่อนก็สามารถสร้างได้ ภายใต้เงื่อนไขคือไม่เกิน 5 – 10% ของพื้นที่ หรือมีมาก่อนแล้วแต่ไม่เต็มจำนวนนี้ก็ยังสามารถสร้างได้ หลักการนี้มีกติกาแบบขอก่อนมีสิทธิ์ก่อน คนที่ขอคนแรกอาจจะขอใช้พื้นที่ 10% ทั้งหมดแต่เพียงเจ้าเดียวก็ได้

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย นอกจากโซนสีแล้วสิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ FAR และ OSR คือจำนวนชั้น พื้นที่ว่าง ระยะถอยร่นต่างๆ ตามแต่กฎหมายกำหนดอีกด้วย ทั้งนี้ต้องศึกษาให้ละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนสร้างบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

เพราะการลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนก้อนใหญ่ ที่หากพลาดไปอาจต้องเสียใจตลอดชีวิต