ในประเทศญี่ปุ่น สถิติประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอีกไม่เกิน 20 ปี ญี่ปุ่นจะกลายเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุเป็นจำนวนมาก จึงมีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อคุณภาพการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุขึ้นมารองรับ

      หากจะพิจารณาถึงหลักความเป็นจริงแล้ว ความสูงอายุคือเรื่องที่เป็นสากล คนทุกคนเมื่ออยู่มานานก็ต้องถึงวัยชรา เมื่อถึงวันนั้นร่างกายที่เคยแข็งแรงก็จะเสื่อมสภาพลง การอยู่อาศัยในพื้นที่เดิมๆ สภาพแวดล้อมเดิมๆ อาจไม่ใช่คำตอบที่ดีสำหรับสุขภาพอีกต่อไป ผู้สูงอายุและลูกหลานหลายคนจึงหันมาใส่ใจกับความเปลี่ยนแปลงทางวัย โดยการดูแลคุณภาพชีวิตในวัยชราที่ดีที่สุดทางหนึ่ง คือการสร้างบ้านที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุไว้เป็นที่อยู่อาศัย

ผู้สูงอายุแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ด้วยกัน ตามความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง

1.  ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นได้ กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ร่างกายยังค่อนข้างแข็งแรง ไม่ได้มีปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงคอยเบียดเบียน จึงต้องการเพียงที่อยู่อาศัยที่ถูกต้องเหมาะสมสะอาด แต่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมที่แปลกใหม่

2.  ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยได้ กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงนัก เจ็บป่วยมีโรคประจำตัวบ้างเป็นพักๆ แต่ไม่หนักหนาถึงขั้นลุกจากเตียงไม่ได้ กลุ่มนี้อาจต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคนที่ยังแข็งแรงบ้าง

3.  ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือป่วย ผู้สูงอายุกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คนดูแลที่มีความเข้าใจแล้วยังต้องมีอุปกรณ์เสริม และอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินอีกด้วย

เมื่อทราบประเภทของผู้สูงอายุแล้ว หลายคนคงพอนึกภาพออกว่าผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มนั้นต้องการการดูแลที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมอย่างไรบ้าง โดยหลักๆ แล้ว บ้านสำหรับผู้สูงอายุก็ต้องการความมั่นคงแข็งแรงไม่ต่างจากบ้านของคนทั่วไปจะมีการออกแบบให้ต่างไปบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกับสุขภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับบ้านผู้สูงอายุ

1.  ควรเป็นบ้านชั้นเดียวหรือจัดให้ห้องนอนอยู่ที่ชั้นหนึ่งของบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้บันได เพราะในผู้สูงอายุสุขภาพเข่าจะเริ่มเสื่อมถอย มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในการใช้บันไดได้ แต่ถ้าแปลนบ้านเดิมเป็นบ้านหลายชั้น ก็ควรติดตั้งลิฟท์โดยสาร และถ้าไม่สะดวกติดตั้งลิฟท์โดยสารก็ต้องมีราวบันไดที่แข็งแรงและไม่สูงจนเกินไป

2.  ประตูบานเลื่อน ประตูลูกบิดต้องใช้แรงในการเปิด และมีลักษณะการเปิดที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ประตูบานเลื่อนจึงปลอดภัยกว่า

3.  ทางลาดสำหรับรถเข็น ในผู้สูงอายุที่ต้องนั่งรถเข็น ทางลาดสำหรับขึ้นลงจะทำให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น

4.  มีแสงสว่างเพียงพอ สายตาของคนวัยนี้มักฝ้าฟาง มองเห็นอะไรไม่ชัด หากในบ้านมีความอับทึบหรือมีมุมที่แสงสว่างส่องไม่ถึง ย่อมมีอันตราย โดย 2 จุดหลักที่ต้องมีแสงสว่างมากเป็นพิเศษคือ ทางเดินและห้องน้ำ

5.  อากาศถ่ายเทสะดวก จะช่วยให้รู้สึกปลอดโปร่ง สดชื่นมีประโยชน์กับทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

6.  วัสดุปูพื้นที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตรายจากการหกล้ม พื้นในบ้านของผู้สูงอายุต้องเป็นพื้นที่ไม่ลื่นและไม่แข็งจนเกินไป

7.  ระบบไฟฟ้า หลักๆ แล้วระบบไฟในบ้านของผู้สูงอายุต้องคำนึงถึงมีหลายข้อด้วยกันคือ ความสูงในระดับที่เอื้อมเปิดปิดสวิตช์ได้แม้จะนั่งรถเข็น สวิตช์ต้องมีแสงสว่างให้เห็นได้ชัดเจน มีระบบตัดไฟ ป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และมีไฟฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ

8.  ระบบสุขาภิบาล ต้องเป็นระบบที่ดีทั้งน้ำ ไฟ ขยะ ที่จะต้องมีการระบาย ไม่หมักหมมเพาะเชื้อ เพราะร่างกายของผู้สูงอายุอ่อนแอเสี่ยงต่อโรคมากกว่าคนหนุ่มสาว จึงต้องสะอาดเป็นพิเศษ

9.  สภาพแวดล้อมที่ดี ต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีความสะดวกและสะอาด เหมาะกับการพักผ่อน

นอกจากการจัดการพื้นที่ที่ต้องการทั่วๆ ไปแล้ว บ้านสำหรับผู้สูงอายุ ยังมีจุดที่ต้องดูแลเป็นพิเศษอีก 2 ห้อง คือห้องนอนและห้องน้ำ โดย

ห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ

1.  มีห้องน้ำในตัวห้องนอน เพราะคนวัยนี้เข้าห้องน้ำบ่อย

2.  ขึ้นลงจากเตียงได้ทั้ง 3 ฝั่ง เพื่อการช่วยเหลือที่รวดเร็ว คือตั้งเตียงไว้กลางห้อง มีเพียงหัวเตียงที่ติดผนัง

3.  ไม่ล็อคกลอนจากภายใน

4.  สามารถเปิด หรือเดินทางไปที่ห้องผู้ดูแลได้ง่าย

ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ

1.  พื้นไม่ลื่น มีราวจับที่เดินได้ทั่วห้อง

2.  เปิดได้จากภายนอก

3.  มีสัญญาณฉุกเฉินในพื้นที่เสี่ยง คือฝักบัว และที่นั่งอาบน้ำ

4.  ใช้ฝักบัวแรงดันต่ำ

5.  มีขนาดที่พอดีกว้าง 1.5 – 2.0 เมตร

6.  ประตูต้องกว้าง

สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ทางกายสำคัญกับผู้สูงอายุมาก เช่นเดียวกับการดูแลเอาใจใส่ทางใจจากลูกหลาน  ซึ่งเป็นปัจจัยยั่งยืนที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง และอยู่เป็นที่รักไปอีกนานๆ