ลายแทงสู่บ้านมือสอง

ที่อยู่อาศัย เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐาน 4 ประการของมนุษย์ และเป็นปัจจัยข้อใหญ่ที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความสามารถและสุขภาพทางการเงินที่ดีในการครอบครอง การกล่าวแบบนี้ไม่ได้เกินจริงเลย หากพิจารณาจากราคาเปิดตัวที่อยู่อาศัยซึ่งถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ทาวน์โฮม ทาวน์เฮาส์คอนโดมิเนียม ซึ่งราคาเริ่มต้นล้วนแต่มีตัวเลขตั้งแต่เฉียดล้านไปจนถึงหลายสิบล้านบาท ตามแต่ทำเลที่ตั้งหรือสิ่งแวดล้อม          

ตัวเลขเหล่านี้ดูน่าตกใจ จนหลายคนพาลคิดไปว่าหากไม่มีเงินถุงเงินถังการจะมีบ้านเป็นของตัวเองคือความฝันมากกว่าความจริง โดยหลายคนอาจจะลืมไปว่าทางเลือกเพื่อการมีบ้าน ไม่จำเป็นต้องมองหาจากโครงการเปิดใหม่เท่านั้น “ บ้านมือสอง ” ก็เป็นอีกทางเลือกที่เราต้องการนำเสนอเพื่อตอบโจทย์นี้ บ้านมือสอง น่ามองอย่างไร ข้อดีหลักๆ ของ บ้านมือสอง คือหาง่าย มีอยู่ทั่วไปแทบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ มีความพร้อมของระบบการจัดการและสาธารณูปโภคทั้งด้านทำเลที่ตั้งและการคมนาคม และมักมีราคาถูกกว่าบ้านใหม่เป็นผลเนื่องมาจากเจ้าของที่ต้องการขายบ้านมักไม่ทราบราคาจริงตามท้องตลาด ทั้งอาจกำลังถูกบีบคั้นด้วยปัจจัยบางอย่าง เช่น กำลังจะหลุดจำนอง หรือต้องย้ายไปอยู่ในที่ใหม่อย่างกระทันหัน สิ่งเหล่านี้คือข้อเหนือกว่าที่บ้านใหม่ไม่อาจให้ได้ เตรียมพร้อมก่อนเลือกซื้อ          

“การลงทุนทุกชนิด มีความเสี่ยง” คือข้อความที่เราคงเคยได้ยินกันมาบ้าง แน่นอนว่า การลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์คือการลงทุนก้อนใหญ่ในระยะยาว ยิ่งศึกษามาก เตรียมตัวมาดี ย่อมหมายถึงอนาคตที่มั่นคง การซื้อ บ้านมือสอง ก็เช่นกัน ต้องมีความพร้อมหลักๆ ทั้งสิ้น 3 ข้อ          

  1.      ความพร้อมด้านสุขภาพทางการเงิน แหล่งเงินทุนในการซื้อบ้านยอดนิยมก็คือ ธนาคาร หรือสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งใจดีเปิดโอกาสและพื้นในการให้คำปรึกษาและหาทางออกให้กับคนอยากมีบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน สถาบันทางการเงินก็ต้องประกันความเสี่ยงให้องค์กรของตนเอง ด้วยการพิจารณาคุณสมบัติต่างๆ ของผู้กู้หลายข้อประกอบกัน  กำลังในการกู้ยืม ในการพิจารณาให้กู้ของสถาบันการเงินจะพิจารณาจากหลายๆ ข้อร่วมกัน เรียกว่าการ “วิเคราะห์ลูกหนี้” ประกอบไปด้วยคุณสมบัติต่างๆ ของผู้ซื้อ เช่น อายุ, สถานภาพสมรส, การศึกษา, รายได้สุทธิ, อายุงาน และอาชีพ โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยสามารถผ่อนได้ถึง 35 ปี หรือจนกว่าผู้กู้จะอายุ 65 ปี โดยจะพิจารณาภาระหนี้อื่นๆ เช่น หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิต ประกอบด้วย วงเงินที่อนุมัติจะแปรผันตามปัจจัยเหล่านี้ คือยิ่งมีหนี้มาก วงเงินที่อนุมัติจะยิ่งน้อยลง  กำลังสูงสุดของการกู้  เมื่อกู้แล้วจะได้วงเงินสูงสุดเท่าไหร่ สามารถพิจารณาเบื้องต้นด้วยตนเองได้จากลักษณะที่อยู่อาศัยที่กำลังวางแผนจะซื้อ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนธนาคารแล้วจะเรียกว่า “หลักทรัพย์ค้ำประกัน” แบ่งออกเป็น ·      

บ้านมือสอง แนวราบ (คือบ้านที่ตั้งอยู่ครอบครัวเดียว ไม่มีเพื่อนบ้านอาศัยอยู่ชั้นบนและชั้นล่าง) เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ สามารถกู้ได้ 85% ของราคาประเมินหลักทรัพย์

·  คอนโดมิเนียม สามารถกู้ได้ 70% ของราคาประเมินหลักทรัพย์

· ที่ดินเปล่า สามารถกู้ได้ 60% ของราคาประเมินหลักทรัพย์  

        

2.      ลงนามทำสัญญา เมื่อเลือก บ้านมือสอง จนพอใจ ได้บ้านที่ใช่ในราคาที่ชอบ ก็เข้าสู่ขั้นตอนการขอเป็นเจ้าของด้วยการจ่ายเงินซื้อขาย ซึ่งขั้นตอนนี้สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการมีเงินจ่าย คือการได้เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ถูกต้อง เพราะกฎหมายถือว่าเอกสารนี้เท่านั้นคือสิ่งที่จะยืนยันได้ว่าได้เป็นเจ้าของที่แท้จริงของบ้านนี้แล้ว ดังนั้นขั้นตอนนี้ต้องการความละเอียดรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง สังเกตุการณ์ สิ่งที่ต้องสังเกตในเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างก่อนจะเซ็นสัญญาคือ สลักหลัง ซึ่งจะอยู่ในแผ่นสุดท้ายของโฉนดที่ดิน เพื่อดูว่าผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ของที่ดินแปลงนั้นนั้นคือใคร และควรจะขอดูใบอนุญาตปลูกสร้างอาคารด้วย เพราะรายชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์คือคนที่เป็น “คู่สัญญา” เป็นคนเดียวที่มีสิทธิ์ขายที่ดินแปลงนี้ ลงนามก่อนการโอน พึงระวังทุกครั้งก่อนจรดปากกาเซ็นอะไรก็ตามในเอกสารที่อยู่ในหัวข้อ “สัญญา” ตามปกติแล้ว การซื้อบ้านจะไม่มีการเซ็นอะไรทั้งสิ้นโดยไม่มีเหตุจำเป็นก่อนการโอน นอกจาก สัญญาจองซื้อ และสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งสัญญาทั้ง 2 มีลักษณะ และทำหน้าที่ดังนี้  สัญญาจองซื้อ คือสัญญาที่เขียนขึ้นเพื่อแสดงเจตนาเบื้องต้นของผู้ซื้อว่ามีความต้องการจะซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์หลังนี้ ตามราคาและเงื่อนไขที่เจ้าของบ้านกำหนด โดยมีการจ่ายเงินจองจำนวนหนึ่งไว้แล้ว พร้อมนัดวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอย่างชัดเจน  สัญญาจะซื้อจะขาย คือสัญญาฉบับสมบูรณ์ ซึ่งจะสมบูรณ์เมื่อผู้ซื้อและผู้ขายเซ็นสัญญาฉบับนี้ในวันนัดตามสัญญาจองซื้อ เอกสารฉบับนี้ต้องระบุเงื่อนไขต่างๆ ให้ครบถ้วนทั้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน มิเตอร์ไฟฟ้า และมิเตอร์น้ำประปา เอกสารฉบับนี้มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเอกสารที่ผู้ซื้อจะต้องนำไปยื่นขอกู้กับสถาบันการเงิน Tip :: เอกสารแนบประกอบการทำสัญญาประกอบด้วย

·          สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย

·         สำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาใบอณุญาติก่อสร้างอาคาร

·          สำเนาแบบร่างหรือรูปถ่ายของอาคารหรือสิ่งก่อสร้าง

·         แผนที่แสดงที่ตั้ง

ค่าใช้จ่ายระหว่างทำสัญญา ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างทำสัญญาจะมีเพียง 2 ส่วน เช่นเดียวกับสัญญาก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ ประกอบด้วย

·       เงินจองในวันทำสัญญา จำนวน 5,000 – 100,000 บาท หรือไม่ควรเกินร้อยละ 1 ของราคาซื้อขาย

·       เงินทำสัญญาในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย ประมาณร้อยละ 5 ของราคาซื้อขาย  (ส่วนนี้ไม่มีข้อกำหนดตายตัว ส่วนมากมักขึ้นอยู่กับการตกลงกันของคู่สัญญา)

            3.     โอนกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของบ้านโดยสมบูรณ์ ขั้นตอนนี้ต้องเกิดขึ้น ณ กรมที่ดินเท่านั้น ข้อนี้สำคัญที่สุด เพราะเคยมีคดีที่ผู้ซื้อถูกหลอกลวงโดยมิจฉาชีพให้จ่ายเงินและโอนนอกกรมที่ดินและถูกเชิดเงินหนีไป ผู้ซื้อเสียทั้งเงินและที่ดินในเวลาเดียวกัน การโอนกรรมสิทธิ์ต้องเตรียมตัวดังนี้

·       นัดหมายธนาคารผู้ปล่อยกู้ของผู้ซื้อ หากที่ดินติดจำนองอยู่ ต้องนัดธนาคารผู้ครอบครองโฉนดที่ดินของผู้ขายด้วย

·       เช็คเงินสดพร้อมระบุชื่อผู้รับเงิน จำนวนเงินตามที่เหลืออยู่ในสัญญาที่จะซื้อขาย

·       เงินสดหรือเช็คเงินสด ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าจดจำนอง, ค่าธรรมเนียมการโอน, ค่าอากรแสตมป์

·       ลงนามในสัญญาซื้อขาย ณ กรมที่ดิน

·          รับโฉนดที่ดิน และหนังสือสัญญาซื้อขายของกรมที่ดิน 

 

>>>>>>>> ค้นหาบ้าน-คอนโดฯมือสอง ง่ายๆ คลิก 

ประกาศขาย บ้าน-คอนโดฯ มือสอง คลิก