ในการสร้างบ้านนอกจากจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความทนทานอีกด้วย ซึ่งส่วนที่จะยึดโยงให้บ้านอยู่รวมกันเป็นหลังอย่างแข็งแรงก็คือ โครงสร้างของบ้าน ซึ่งต้องออกแบบให้สอดคล้องกับภูมิประเทศและภูมิอากาศ สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาเรายังนิยมใช้รูปแบบการสร้างด้วยระบบเดิมๆ เทคาน ก่ออิฐถือปูน ฯลฯ โดยอาจจะยังไม่ทราบว่า มีรูปแบบโครงสร้างบ้านในแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายรูปแบบ

ระบบโครงสร้างคานและเสาสำเร็จรูป ระบบโครงสร้างที่แยกส่วนประกอบคอนกรีตออกเป็นชิ้นๆ คือ แยกเสา คาน และแผ่นพื้น ออกจากกัน ก่อนจะนำมาเชื่อมหรือยึดเข้าด้วยกันด้วยสลักเกลียว เหมาะกับการก่อสร้างอาคารที่หน้าตาเหมือนกันและต้องการสร้างทีเดียวเป็นจำนวนมาก ข้อดีของการก่อสร้างแบบนี้คือ รวดเร็ว ควบคุมคุณภาพของวัสดุได้เนื่องจากแต่ละชิ้นส่วนผลิตจากโรงงาน แต่ก็มีข้อเสียคือเสียเวลาเตรียมการ เนื่องจากต้องวางแผนการผลิต และไม่คุ้มทุนหากก่อสร้างเป็นจำนวนน้อยๆ

ระบบโครงสร้างแบบผนังแรง คือการสร้างผนังรับน้ำหนักและพื้นสำเร็จรูปไว้ก่อนเป็นชิ้นๆ แล้วนำแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปมาหุ้มเป็นตัวประสาน เหมาะกับอาคารหรือการก่อสร้างที่ออกแบบมาให้เหมือนกันเป็นจำนวนมากๆ ข้อดีคือความรวดเร็ว สามารถควบคุมมาตรฐานการผลิตของวัสดุจากโรงงานได้ ลดต้นทุนการฉสบผนังลงได้เกือบทั้งหมด เพราะวัสดุมักถูกออกแบบมาให้มีผิวพร้อมใช้งาน และลดการสูญเสียวัสดุได้ เนื่องจากชิ้นส่วนทั้งหมดผลิตจากโรงงาน มีข้อดีก็ต้องมีข้อเสีย ข้อเสียของระบบนี้ก็คือ ต้นทุนสำหรับการหล่อวัสดุรวมทั้งต้นทุนการขนส่งจากโรงงานสูง ไม่คุ้มค่าหากสร้างในปริมาณที่น้อย และใช้เวลาในการเตรียมตัวนาน รวมทั้งมีปัญหารั่วซึมตามรอยต่อได้ง่าย และทุกห้องต้องมีแปลนเหมือนกันเพื่อออกแบบการก่อสร้างได้ง่าย

ระบบโครงสร้างผนังรับน้ำหนักเทกับที่และพื้นสำเร็จ คือการเทคอนกรีตลงในแบบหล่อที่ทำจากไม้สร้างเป็นผนังระหว่างห้อง ส่วนพื้นเป็นชนิด Hollow Core หรือพื้นสำเร็จรูป ข้อดีคือ รวดเร็ว เนื่องจากการหล่อจากแบบไม้สามารถถอดและเคลื่อนย้ายได้ง่าย ผู้รับเหมาทั่วไปสามารถทำได้ แต่ต้องมีเวลาเตรียมแบบไม้และผนัง อาคารที่สร้างเสร็จมีความแข็งแรง ทนต่อแรงแผ่นดินไหว ส่วนข้อเสียของระบบผนังรับน้ำหนักคือไม่มีความหลากหลาย เพราะต้องออกแบบแต่ละห้องให้เหมือนกัน เจาะผนังระหว่างทำอยู่ไม่ได้หากไม่มีการเตรียมการไว้ก่อน ต้องก่อสร้างครั้งละหลายๆ อาคารเพื่อลดต้นทุนเรื่องไม้แบบและทำ shop Drawing

ระบบโครงสร้างอาคารที่หล่อด้วย Tunnel Form คล้ายแบบเทกับที่ คือทำแบบไม้ไว้สำหรับหล่อผนัง แต่ใช้ไม้ Tunnel เป็นแบบโดยเรียงต่อกัน ข้อดีคือความรวดเร็ว เพราะไม้ถูกออกแบบมาให้ติดตั้งและถอดง่าย มีขั้นตอนที่ไม่ซับซ้อน ผู้รับเหมาทั่วไปสามารถทำได้ และผนังอาคารมีความแข็งแรงต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้ดี ข้อเสียเหมือนกับแบบระบบโครงสร้างผนังรับน้ำหนักเทกับที่และพื้นสำเร็จ