นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศไม่ให้ข้าราชการ “อบรมดูงานต่างประเทศ” เป็นข่าวระดับนโยบายที่มีความสำคัญระดับชาติทีเดียว เพราะเป็นประเด็นที่อยู่ในใจของผู้เสียภาษีไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเกิดข้อสงสัยว่าการไป “ดูงานต่างประเทศ” สำหรับข้าราชการนั้นได้ประโยชน์อะไรกับประเทศชาติจริง ๆ บ้าง และแยกแยะอย่างไรระหว่าง “อบรม” กับ “ดูงาน” และ “ไปเที่ยว” นายกฯพูดอย่างนี้ทางทีวีเมื่อวันศุกร์ก่อน
นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา Photo credit by : siamintelligence.com

“การอบรมดูงานต่างประเทศ วันนี้ผมไม่ให้ไปนะ ไม่อยากให้ไปดูงานต่างประเทศ เว้นไปติดตามราชการ ไปประชุมนี้ได้ ผมว่าถ้าจะไปดูงานต่างประเทศ จัดประชุมในประเทศไทย สัมมนาประเทศไทย แล้วเชิญคนที่จะไปดูมาบรรยาย ใช้งบประมาณถูกกว่านะ หรือเอาภาพยนตร์ เอาวีดีทัศน์ เอาอะไรมาดู เอาตำรา เอาเอกสารมาดู ผมว่าความรู้เราเยอะแยะไป มันอยู่ที่ว่าทำได้หรือเปล่า ตั้งใจจะทำไหม เท่านั้นแหละ ไปหาวิทยากรมาบรรยายในประเทศไทย ต้นทุกที่ถูกกว่า ไปดูงานไว้วันหลัง มีรัฐบาลเลือกตั้งแล้วค่อยไปดู ผมไม่รู้ ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ให้ไป แล้วก็ขอชื่นชมนะครับ ถ้าใครทำอย่างนี้อยู่แล้ว ก็เวลาเขามา เขาจะได้มาเห็นประเทศไทยด้วยเลยไง วิทยากรเขาจะได้มาเห็นว่าไม่ได้เป็นอย่างที่สื่อโซเชียลมีเดียบางสื่อ บางคนรายงานออกไป ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เขาจะได้ชื่นชมนะ...”
ไม่ทราบว่านายกฯได้มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรออกไปทุกกระทรวงทบวงกรมว่าอย่างไร และแยกแยะอะไรเป็นการไป “อบรมดูงาน” กับอะไรคือการ “ติดต่อราชการ” และหากสองเรื่องนี้ทับซ้อนกันอยู่จะตีความว่าทำได้หรือไม่ได้
คำสั่งนี้ใช้กับรัฐวิสาหกิจด้วยหรือไม่เป็นอีกคำถามหนึ่งที่จะต้องมีความชัดเจน เพราะแต่ละปีมีการวางงบประมาณเรื่อง “อบรมดูงานต่างประเทศ” กันเป็นจำนวนไม่น้อย
ผู้เสียภาษีก็ควรจะมีคำถามสำหรับ คสช. กับรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) และ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้งหลายทั้งปวงด้วยเพื่อจะได้มีกติกาให้ชัดเจนว่าการเดินทางไปต่างประเทศด้วยงบประมาณแผ่นดินภายใต้หัวใจ “อบรมดูงานต่างประเทศ” นั้นมีลักษณะอย่างไร และภายใต้คำสั่งของนายกฯเรื่องให้ยกเลิกกิจกรรมเช่นนี้, ผลในทางปฏิบัติเป็นอย่างไร และที่ยังค้างอยู่ในแผนงบประมาณจะให้ทำอย่างไร
กิจกรรม “ดูงานและอบรมต่างประเทศ” สำหรับข้าราชการไทยนั้นมีเสียงครหานินทามายาวนานแล้ว เพราะเป็นที่รู้กันว่าในหลาย ๆ กรณีไม่ได้ทำให้ผู้เข้าโครงการเหล่านี้มีความรู้ความสามารถมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้เงินภาษีชาวบ้านเพื่อไปท่องเที่ยว และบางครั้งก็หอบหิ้วลูกเมียหรือสามีร่วมเดินทางด้วย โดยไม่แยกว่าอะไรคือ “งาน” อะไรคือ “ส่วนตัว”
เป็นตลกร้ายที่มีการเล่าขานกันต่อ ๆ ว่าข้าราชการไทยส่วนใหญ่ที่เดินทางไป “ดูงานและอบรม” ในต่างประเทศนั้นมักไม่ได้สนใจเนื้อหาของกิจกรรมที่ไปดู และแม้ไปร่วมการประชุมหรือสัมมนาก็ไม่ค่อยจะทำการบ้านไปก่อน, ไม่กล้าร่วมการแลกเปลี่ยนความเห็นอาจจะเพราะไม่ศึกษามาก่อน หรือภาษาไม่ดีพอ อีกทั้งยังไม่หาข้อมูลมาล่วงหน้าเพื่อจะได้ตั้งคำถามให้ถูกต้อง เขาจึงบอกว่าข้าราชการไทยที่ไปร่วมอบรมสัมมนาต่างประเทศมีหลักปฏิบัติ “4 S” คือ Shopping Silent Sleep Snore
เป้าหมายหลักในการเดินทางไปทางต่างประเทศคือช้อบปิ้ง เรื่องอื่น ๆ เป็นเรื่องรองทั้งสิ้น เวลาเข้าประชุมคือนั่งเฉย ไม่เคยแสดงความเห็นใด ๆ ฟังรู้เรื่องหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ ไม่รู้เรื่องก็ไม่กล้ายกมือถามเพราะกลัวเขาจะรู้ว่าโง่ นั่งเฉย ๆ อยู่ได้สักพักก็เริ่มง่วงนอน ผงกหัวหรือไม่ก็หลับไปเลย ซ้ำร้ายบางคนยังกรนเสียงดังให้คนร่วมสัมมนาคนอื่นได้ยินกันทั่วอีกด้วย ทำให้คนข้าง ๆ นินทากันว่าคนไทยนี่ช่างสงบเสงี่ยม สุขนิยมจริง ๆ

ข้อเท็จจริง 10 ปี ระบบข้าราชการไทย งบเงินเดือนเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่ประสิทธิภาพ-ความโปร่งใสแย่ลง เมื่อเร็วๆนี้คณะรัฐมนตรีอนุมัติขึ้นเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจเฉลี่ย 6.5% ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่นานก็เพิ่งมีการปรับเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้นคนละอย่างน้อย 4% และขยายเพดานเงินเดือนอีก 10% ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดูสมเหตุสมผล เพื่อให้เงินเดือนของข้าราชการสะท้อนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ไม่ได้มีการปรับฐานเงินเดือนมาตั้งแต่ปี 2554 และครั้งนี้จะเป็นการปรับครั้งที่ 6 ในรอบ 10 ปี...

ข้อเท็จจริง 10 ปี ระบบข้าราชการไทย



หมายเหตุ : ภาพประกอบบทความ บางภาพไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาแต่อย่างใด Photo credit by : thaismile.jp

ขอบคุณข้อมูลจาก : oknation.net