แน่นอนว่า การดำเนินกิจการในทุกธุรกิจ ย่อมเป็นไปเพื่อสร้างผลตอบแทนในรูปแบบตัวเงิน และยิ่งตัวเงินสดกลับเข้ามาหาเราเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีต่อธุรกิจนั้น TerraBKK พบวิธีทางการเงิน “วงจรเงินสด (Cash Conversion Cycle : CCC)” ที่ช่วยตรวจสอบการดำเนินงานของธุรกิจว่า ธุรกิจนั้นสามารถ บริหารเงินสด ได้ดีเพียงใด ,ธุรกิจนั้นมี สภาพคล่องทางการเงิน หรือไม่ และธุรกิจมี ความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนเพื่อแหล่งอื่น หรือเปล่า

TerraBKK อธิบายว่า หัวใจสำคัญของ วงจรเงินสดวงจรเงินสด ( Cash Conversion Cycle :CCC) คือ การรับเงินที่ว่องไว และยืดเวลาการจ่ายเงิน เพื่อให้ธุรกิจมีเงินสดหมุนเวียนที่เรียกว่า “สภาพคล่อง” ในกิจการได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งเงินทุนอื่น เป็นวิธีคิดทางการเงินที่ครอบคลุม 3 ช่วงหลักในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ระยะเวลาขายสินค้า ,ระยะเวลาเก็บหนี้ และ ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้การค้า สามารถคำนวณได้ดังนี้

  • ระยะเวลาขายสินค้า ( ขายเร็วยิ่งดี ) เพราะ สินค้าสามารถสร้างรายได้กลับคืนมาได้ไว ลดปัญหาเงินจมกับสต๊อกสินค้า ทั้งนี้ ควรตรวจสอบว่า นโยบายการสต๊อกสินค้านั้นมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ หากสต๊อกจำนวนสินค้าน้อยเกินไป ก็อาจเสียโอกาสในการขาย ขณะที่การสต็อกสินค้าจำนวนมากเกินไป นอกจากจะต้องใช้ระยะเวลานานในการขายแล้ว อาจเกิดปัญหาสินค้าล้าสมัย หรือตกรุ่นได้ในบางธุรกิจได้
  • ระยะเวลาเก็บหนี้ (เก็บเร็วยิ่งดี) เพราะ ยิ่งให้เครดิตลูกค้าสั้น ธุรกิจก็จะยิ่งได้รับเงินสดมาหมุนเวียนในกิจการได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ ควรตรวจสอบว่า นโยบายเครดิตลูกค้านั้นมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บหนี้จริงหรือไม่ คู่ค้าที่จ่ายชำระหนี้ช้าเกินกำหนด แสดงถึงความไม่มีคุณภาพของลูกหนี้ ทำให้กิจการเสียโอกาสทางรายได้มาหมุนเวียนการดำเนินธุรกิจ สภาพคล่องไม่ดี หากจำเป็นต้องกู้ยืมจากแหล่งอื่นมาหมุนเวียนกิจการ ย่อมมีต้นทุนทางการเงินในรูปแบบดอกเบี้ยจ่าย ขณะที่ความล่าช้าในการชำระหนี้ของลูกหนี้นั้น ไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยรับแก่กิจการใดๆทั้งสิ้น
  • ระยะเวลาชำระหนี้เจ้าหนี้ (จ่ายช้ายิ่งดี) เพราะ กิจการสามารถนำเงินสดมาหมุนเวียนภายในกิจการได้ โดยไม่มีภาระต้นทุนทางการเงินเพิ่ม ทั้งนี้ ควรตรวจสอบว่า กิจการมีอำนาจการต่อรองเจ้าหนี้คู่ค้าได้เพียงใด เพราะหากยืดระยะเวลาชำระหนี้นานเกินไป ประกอบกับไม่มีอำนาจในการเจรจาต่อรอง จะเกิดผลเสียกลายเป็นการเสียชื่อเสียงเสียเครดิตของตัวกิจการเองได้

เพื่อทำความเข้าใจ “วงจรเงินสดวงจรเงินสด ( Cash Conversion Cycle :CCC)” ได้ง่ายขึ้น TerraBKK ขอยกตัวอย่าง ดังนี้

“ กิจการ เฮง เฮง เฮง ขายวัสดุก่อสร้างทุกชนิด ดำเนินงานมาเก่าแก่และมีชื่อเสียงโด่งดัง มีอำนาจต่องรองการชำระหนี้เจ้าหนี้อยู่ที่ 60 วัน โดยปกติแล้ว ระยะเวลาการขายสินค้าเฉลี่ยอยู่ที่ 30 วัน ไม่มีระยะเวลาเก็บหนี้ เพราะรับแต่เงินสด ไม่ขายเงินเชื่อ”

วงจรเงินสดของ กิจการ เฮง เฮง เฮง = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้ = 30 + 0 – 60 = -30 วัน แสดงว่า กิจการ เฮง เฮง เฮง มีวงจรเงินสดที่ยอดเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องสร้างภาระหนี้ มาเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ กิจการสามารถขายสินค้าออกไปได้ในช่วงเวลาไม่นาน (ระยะเวลาขาย 30 วัน ) จึง ไม่มีปัญหาการสต๊อกสินค้า นอกจากนี้ กิจการยังได้ รับเงินสดทันที่ที่ขายได้ (เครดิตลูกหนี้ 0 วัน) สามารถนำเงินสดมาใช้หมุนเวียนกิจการก่อนจ่ายชำระเจ้าหนี้ (เครดิตเจ้าหนี้ 60 วัน) ได้ถึง 30 วัน

 “ กิจการหมุนติ้ว ขายของค้าส่งทั่วไป ( ซื้อสินค้ายกโหลจากห้างสรรพสินค้าค้าส่ง) จ่ายเงินสดทันที ไม่มีระยะเวลาชำระเจ้าหนี้ ระยะเวลาการขายสินค้าเฉลี่ยอยู่ที่ 30 วัน และมีระยะเวลาเก็บหนี้ 30 วัน ”

วงจรเงินสดของ กิจการหมุนติ้ว = ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้ = 30 + 30 – 0 =   60 วัน แสดงว่า  กิจการหมุนติ้ว มีวงจรเงินสดไม่ดีนัก หากไม่มีระบบบริหารที่ดีมากพอ อาจเกิดปัญหาเงินหมุนเวียนในกิจการได้ เนื่องจากกิจการต้อง จ่ายเงินสดทันทีเมื่อซื้อสินค้า (เครดิตเจ้าหนี้ 0 วัน) แต่กิจการจำเป็น ต้องรอไปอีก 60 วัน ถึงจะได้รับเงินสด (ระยะเวลาขาย 30 วัน และ เครดิตลูกหนี้ 30 วัน) ทั้งนี้ กิจการหมุนติ้วควรขอ เจรจาลดระยะเครติดลูกหนี้ เพื่อย่นเวลาเก็บหนี้ให้สั้นลง หรือบริหารงานขายให้ ขายของได้ไวขึ้น จะช่วยทำให้สภาพคล่องกิจการเป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ ควรเรียนรู้ การบริหารเงินทุนให้ก่อประโยชน์สูงสุด เช่น การนำกำไรสะสมจากงวดก่อนมาใช้จ่ายหมุนเวียนกิจการ จัดซื้อสินค้าเข้าสต๊อกอย่างเหมาะสมและไม่เกินกำลัง ก็ช่วยลดความจำเป็นในการสร้างภาระหนี้จากแหล่งเงินทุนอื่นได้ ท้ายนี้ TerraBKK ฝากไว้ว่า การดำเนินธุรกิจที่อยู่ได้ด้วยเงินสดจากการดำเนินงานของตัวกิจการเอง โดยไม่มีความจำเป็นในการก่อหนี้ จะเป็นหนทางสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจได้อย่างแท้จริง --เทอร์ร่า บีเคเค

เงินสดคือพระราชา สร้างความแข็งแกร่งธุรกิจ TerraBKK พบว่า ตัวเลขในงบกำไรขาดทุนและงบดุล จะสะท้อนออกมาตรงตามจำนวนเงินสดที่ธุรกิจได้รับหรือจ่ายจริง แต่สิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจและมองเห็นความแตกต่างระหว่าง "ตัวเลข" และ "ตัวเงิน" ที่ซ่อนอยู่ในขณะนั้น คือ "กระแสเงินสด" …

Financial Ratio 9 : "สินค้าคงเหลือ" เรื่องไม่เล็กในการทำธุรกิจ TerraBKKขอเสนอเรื่องราวน่าสนใจของ อัตราส่วนทางการเงินที่เกี่ยวกับสินค้าคงเหลือ (Inventory) ได้แก่ อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง (Inventory Turnover) และ ระยะเวลาการขายสินค้า (Days Inventory) เพื่อทำความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง …