เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๓ มีพระบรมราชโองการ ให้รื้อย้ายพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ จากพระจุฑาธุชราชฐาน ณ เกาะสีชัง มาปลูกสร้างขึ้นใหม่โดย มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยา นริศรานุวัตติวงศ์ ทรงกำกับการออกแบบ และ เมื่อแล้วเสร็จจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเฉลิมฉลอง พระที่นั่งวิมานเมฆเมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๔๔ พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ ที่สุดในโลก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่งดงามประณีตและ ได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบตะวันตก องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษร ตัวแอลในภาษาอังกฤษ คือสร้างเป็นรูปสองแฉกตั้งฉากกัน แต่ละด้านยาว ๖๐ เมตร สูง ๒๐ เมตร เป็นอาคาร ๓ ชั้น เฉพาะส่วนที่ประทับซึ่งเรียกว่า “แปดเหลี่ยม” มี ๔ ชั้น ชั้นล่าสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐาน จากพระบรมมหาราชวัง มาประทับเป็นการถาวร ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นเวลาถึง ๕ ปี จนการก่อสร้างพระที่นั่ง อัมพรสถานเสร็จสมบูรณ์ ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ จึงทรงย้ายไปประทับ ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน

เมื่อพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เสด็จสวรรคตในปี พุทธศักราช ๒๔๕๓ พระที่นั่งวิมานเมฆก็ปิดร้างลงเพราะ เจ้านายฝ่ายใน ต้องเสด็จกลับมาประทับในพระบรมมหาราชวังตามราชประเพณี ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๓ ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๖)พระองค์ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้สมเด็จ พระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา เสด็จมาประทับ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ และเมื่อพระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้า อินทรศักดิ์ศจี พระวรราชชายา ได้ทรงย้ายไป ประทับที่ พระตำหนักในสวนหงส์ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ ของพระที่นั่งวิมานเมฆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระที่นั่งวิมานเมฆก็มิได้ ใช้เป็นพระราชฐาน ที่ประทับ ของเจ้านายพระองค์ใดอีก ได้แต่ปิดร้าง และทรุดโทรม ตามกาลเวลา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) แม้ว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการบูรณะ ซ่อมแซมพระที่นั่งวิมานเมฆหลายครั้ง เช่น การซ่อมเปลี่ยนสายไฟฟ้า ภายในองค์พระที่นั่ง การซ่อมเสามุข ศาลาท่าน้ำ เป็นต้น แต่ในที่สุด ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นต้นมา พระที่นั่งวิมานเมฆก็ใช้เป็นเพียง สถานที่เก็บราชพัสดุ ของสำนักพระราชวังตลอดมาถึง ๕๐ ปี จนกระทั่งปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ ในมหามงคลสมัยสมโภช กรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงสำรวจและ พบว่าพระที่นั่งวิมานเมฆ ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มีลักษณะ ทางสถาปัตยกรรม ที่ประณีตงดงาม และยังมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ รวมถึง ศิลปวัตถุส่วนพระองค์ เป็นจำนวนมาก จึงทรงขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บูรณะซ่อมแซม เพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเพื่อเป็น มรดกของชาติสืบไป พระที่นั่งวิมานเมฆนี้ มีห้องจัดแสดงรวมทั้งสิ้น ๓๑ ห้อง การจัดแสดง บางห้องยังคงลักษณะบรรยากาศในอดีตไว้ เช่น หมู่ห้องพระบรรทม ท้องพระโรงและห้องสรง เป็นต้น บางห้องจัดแสดงศิลปวัตถุแยกตาม ประเภท เช่น ห้องจัดแสดงเครื่องเงิน ห้องจัดแสดงเครื่องกระเบื้องลายคราม ห้องจัดแสดงเครื่องแก้วเจียระไน และห้องจัดแสดงเครื่องงา เป็นต้น นอกจากพระที่นั่งวิมานเมฆภายในบริเวณสวนดุสิตหรือวังสวนดุสิตนี้ (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามใหม่ว่า “พระราชวังดุสิต” และเรียกขานนามนี้ มาจนถึงปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดิน สำหรับสร้างพระตำหนัก และตำหนักที่ประทับ ของพระมเหสี พระเจ้าลูกเธอ และเจ้าจอมมารดาเป็นส่วนๆ และพระราชทานชื่อสวน คลอง ประตู และ ถนนต่าง ๆ ตามชื่อเครื่องลายครามของจีน ที่เรียกกันว่า “เครื่องกิมตึ๋ง” ซึ่งนิยมสะสมกันในสมัยนั้น ปัจจุบันหมู่พระตำหนัก ของพระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายในดังกล่าว ได้เปิดจัดแสดง พร้อมด้วยโรงรถม้าพระที่นั่งให้ประชาชน ได้เข้าชมด้วยเช่นกัน

ข้อมูล Vimanmek