อีกไม่นานก็จะถึงปี 2558 ช่วงเวลาของการเปิด ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( Asean Economic Community : AEC ) ย่อมเกิดการหมุนเวียนเคลื่อนย้ายสินค้า, การบริการ ,การลงทุน แรงงานฝีมืออย่างเสรี และเรื่องราวสำคัญที่ถือว่าเป็นถนนสายหลักของการเปิด AEC ย่อมไม่พ้นเรื่องของตลาดเงิน TerraBKK เสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตลาดเงินประเทศไทย เพื่อเตรียมตัวเข้าสู้กระแส AEC ไปพร้อมกัน ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หน่วยงานหลักด้านการเงินของประเทศได้วาง 4 โครงสร้างหลัก
เพื่อพัฒนาระบบการเงินการธนาคารให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมรับการเปิด AEC ดังนี้ 1. ระบบชำระเงินเชื่อมต่อ 2. การเปิดเสรีเคลื่อนย้ายเงินทุน 3. การเปิดเสรีภาคธนาคาร ช่องทางให้บริการทางการเงิน 4. การเปิดเสรีของตลาดทุน TerraBKK รวบรวมความคืบหน้า 3 โครงสร้างแรก ซึ่งอยู่ในส่วนความรับผิดชอบของ ธปท. และโครงสร้างที่ 4 ในส่วนความรับผิดชอบของ ก.ล.ต. ดังนี้ 1. ระบบชำระเงินเชื่อมต่อ คือ การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของอาเซียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถรองรับกับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันมีความคืบหน้า ดังนี้
  • การกดเงินในต่างประเทศผ่าน ATM คนไทยสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มโดยทั่วไปกดเงินจาก "ตู้ที่มีสัญลักษณ์ ATM POOL" ในประเทศสมาชิกกลุ่ม Asian Payment Network (APN) ที่ธนาคารพาณิชย์ไทยมีข้อตกลง
    • ปัจจุบันมี 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย (ธ.กรุงเทพ, ธ.กสิกรไทย,ธ.กรุงไทย,ธ. ทหารไทย,ธ. ยูโอบี และ,ธ. ธนชาต) เกาหลีใต้(,ธ.กรุงไทย ,ธ.ทหารไทย ,ธ.ยูโอบี และ,ธ. ธนชาต) เวียดนาม (,ธ.ทหารไทย และ ,ธ.ธนชาต) ฟิลิปปินส์ (,ธ.ทหารไทย) และอินโดนีเซีย (,ธ.ทหารไทย) ส่วนสิงคโปร์อยู่ระหว่างดำเนินการ
    • ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรคิดอัตราคงที่ต่อรายการ ซึ่งถูกกว่าการใช้บัตรที่ใช้บริการเครือข่ายต่างประเทศที่มีการคิดค่าธรรมเนียมความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไปด้วย
  • การชำระเงินข้ามพรมแดน (Cross-border payments) มี 2 แนวทางหลัก ได้แก่
    • เรื่องมาตรฐานระบบการชำระเงินกลาง เพื่อให้การชำระเงินข้ามประเทศระหว่างประเทศสมาชิกตามเงินสกุลเงินท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
    • เรื่องการพัฒนาสกุลเงินท้องถิ่น เพื่อใช้ในธุรกรรมการค้าและการลงทุนโดยตรง
    ปัจจุบันอยู่ระหว่างหารือข้อตกลง ในเรื่องมาตรฐานระบบการชำระเงินกลาง เพราะประเทศสมาชิกมีพื้นฐานค่อนข้างแตกต่างกัน สำหรับการเชื่อมโยงระบบการเงิน 5 ประเทศสมาชิกที่มีศักยภาพ (ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) อาจดำเนินการได้ไม่ยากนัก แต่สำหรับกลุ่ม CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ยังคงต้องการความช่วยเหลือในเรื่องนี้ต่อไป
2. การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้าย คือ การผ่อนคลายกฎระเบียบมาตรการเป็นอุปสรรคของการเคลื่อนย้ายเงินทุน ทั้งด้านการลงทุนทางตรงหรือทางอ้อมผ่านหลักทรัพย์ รวมไปถึงการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน สำหรับ ธปท.ต้องการให้เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าและออกอย่างเป็นสมดุล และได้วางแนวทางผ่อนคลายแล้ว ดังนี้
  • การลงทุนโดยตรง : บุคคลธรรมดาสามารถ ทำการลงทุนได้อย่างเสรี
  • การลงทุนผ่านหลักทรัพย์ : มีระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านการเชื่อมโยง ระบบซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน ( Asean Linkage) รวมทั้งเพิ่มประเภทผู้ลงทุนสถาบันที่ 9 (บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) โดยไม่จำกัดวงเงินผู้ลงทุนต่อราย มีการขยายขอบเขตประเภทหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ และลดขั้นตอนการขออนุญาตจาก ธปท. ของรายย่อย
  • Foreign Currency Deposit (FCD) : เป็นบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศสำหรับบุคคลที่มีถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย โดยนำเงินบาทมาซื้อเงินตราต่างประเทศฝากเข้าบัญชี ณ เวลาที่พอใจอัตราแลกเปลี่ยน แทนการซื้อเงินตราต่างประเทศในอนาคต เพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กรณีมีภาระผูกพัน สามารถฝากได้อย่างเสรี
  • การบริหารความเสี่ยงและลดต้นทุน : ผู้ประกอบการและนักลงทุนที่มีการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน สามารถ ยกเลิกการทำธุรกรรม (Unwind Hedging) ได้อย่างเสรี สำหรับธุรกรรมที่มี underlying (เอกสารหลักฐานรองรับ ไม่ใช่เพื่อการเกร็งกำไร) รวมทั้งเปิดให้มี การซื้อขาย currency futures ในตลาด TFEX เมื่อพค. 57 ที่ผ่านมา อย่างเป็นระบบมาตรฐานสากล และรองรับการซื้อขายหลายสกุลเงิน (multi-currency) และหลายตลาด (multi-market)
  • เรื่องอื่นเพิ่มเติม : ผ่อนคลายคุณสมบัติ รวมทั้งขยายวงเงินในการประกอบธุรกิจ Money Changer (MC) และ Money Transfer Agent (MT) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริการแลกเปลี่ยนและการโอนเงินตราต่างประเทศ
3. การเปิดเสรีภาคการธนาคาร เป้าหมายหลัก คือ การสร้างมาตรฐานกลางของธนาคารในระดับอาเซียน เพื่อรองรับการทำธุรกรรมการเงินทุกประเทศ เบื้องต้นจัดทำกรอบ"มาตรฐานธนาคารอาเซียน" หรือ Qualified ASEAN Bank (QAB) คาดว่าจะเริ่มการพิจารณาอนุญาต QAB ในปี 2557 และเริ่มการตั้งธนาคารพาณิชย์จริงในปี 2563 ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุป หรือข้อตกลงที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว สำหรับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีการตื่นตัวไม่น้อย ได้พัฒนารูปแบบการบริการ การสร้างเครือข่ายบริการในรูปแบบการเปิดสาชา, การเข้าซื้อกิจการ หรือจับมือพันธมิตรเจ้าถิ่น ยกตัวอย่างดังนี้
  • ธนาคารกรุงเทพ พัฒนาช่องทางการให้บริการ ตู้บัวหลวงเอทีเอ็ม 8 ภาษา ประกอบด้วย ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น อารบิก พม่า ลาว เขมร รองรับการเปิด AEC กว่า 8,500 เครื่อง บริการ 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ ปัจจุบัน ธนาคารกรุงเทพมีสาขาในกลุ่มอาเซียนกว่า 14 สาขา และ 1 สำนักงานตัวแทน
  • ธนาคารกสิกรไทย เน้น จับมือพันธมิตร ในกลุ่มประเทศ AEC แทนการเข้าไปตั้งสาขาเองในประเทศนั้น เช่น ประเทศเวียดนาม, ประเทศอินโดนีเซีย ,ประเทศลาว , ประเทศกัมพูชา และประเทศสิงคโปร์
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ ใช้ กลยุทธ์ผสมผสานเครือข่าย ทั้งการตั้งสาขาเองในประเทศสิงคโปร์, ประเทศลาว และประเทศกัมพูชา รวม 6 สาขา ,การจับมือเป็นพันธมิตรกับธนาคารท้องถิ่นในประเทศเวียดนาม และสำนักงานตัวแทนในประเทศพม่า
4. การเปิดเสรีของตลาดทุน ส่วนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งได้เข้าร่วมกลุ่ม ก.ล.ต. อาเซียน หรือ ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การยกระดับมาตรฐานบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอาเซียนสู่ความเป็นสากล ดำเนินงานหลัก 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างความน่าเชื่อถือตลาดทุนอาเซียน , การพัฒนาการกํากับดูแลตลาดทุนอย่างสากล ,การสร้างระบบการยอมรับ (mutual recognition : MR) ระหว่างหน่วยงานตลาดทุนในอาเซียน และการส่งเสริมช่องทางการเข้าถึงตลาดหลักทรัพย์อาเซียนให้มากขึ้น ปัจจุบันได้ดำเนินการสำเร็จมาหลายขั้นตอนแล้ว ดังนี้
  • ก่อตั้ง www.aseanexchanges.org เชื่อมโยงข้อมูลตลาดหุ้น 7 แห่ง (มาเลเซีย,ฮานอย,โฮจิมินห์,อินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์ ,สิงคโปร์ และ ไทย) มีหัวข้อน่าสนใจหลากหลาย เช่น ASEAN Stars เป็นการรวมรายชื่อหลักทรัพย์ “blue chips” ประเทศสมาชิก เพื่อช่วยให้นักลงทุนที่ไม่มีความคุ้นเคยในหุ้นประเทศนั้น จะสามารถเลือกหุ้นที่ต้องการได้ง่ายขึ้น
  • ประเมินหลักเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard สำหรับประเมินและจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่นักลงทุน โดยคัดเลือกบริษัทจดทะเบียน 100 บริษัทแรกที่มีมูลค่าทางการตลาด (Market Capitalization) สูงสุด ณ วันที่ 30 เมษายน ของทุกปี มาพิจารณาตามเกณฑ์มาตรฐาน
  • โดยล่าสุดในปี 2556 ตลาด SET ของประเทศไทยได้ 75.39 คะแนน (คะแนนเต็ม 100) โดย หมวดการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ถัดลงมาเป็น หมวดสิทธิของผู้ถือหุ้น ,หมวดการเปิดเผยข้อมูลความโปร่งใส ,หมวดความรับผิดชอบของคณะกรรมการ และหมวดการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้ ตามลำดับ
ท้ายนี้ TerraBKK เชื่อว่า ด้วยศักยภาพของประเทศไทยที่มีอยู่ จะสามารถนำมาซึ่งโอกาส และความเติบโตทางเศรษฐกิจยิ่งๆ ขึ้นไป จากการเปิด AEC ที่จะถึงนี้ แต่คงต้องพยายามมุ่งมั่นทำงานร่วมกันทั้ง 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพราะการแข่งขันในระดับภูมิภาคนั้น คงไม่มีประเทศไหนยอมหยุดอยู่กับที่อย่างแน่นอน

บทความโดย : TerraBKK คลังความรู้

TerraBkk ค้นหาบ้านดี คุ้มค่า ราคาถูก

ที่มาข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย www.set.or.th www.aseanexchanges.org www.thai-aec.com/