ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันมีอาคารสำนักงานจำนวนมากได้กลายเป็นอาคารที่ล้าสมัยเนื่องจากโครงสร้างและการออกแบบซึ่งมีมานานหลายปี เมื่ออาคารเหล่านี้มีอายุมากขึ้น ประสิทธิภาพจะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้มีการใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น ค่าบำรุงรักษาสูงขึ้น คุณภาพอากาศแย่ลง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

การปรับปรุงประสิทธิภาพของอาคารเก่าสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้โดยตรง โดยให้ผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม นอกจากนี้เจ้าของโครงการยังสามารถรับผลกำไรจากการลงทุนในการประหยัดต้นทุนในการดำเนินงานและจากจำนวนผู้เช่าที่เพิ่มขึ้น

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในการนำหลักการปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ในอาคารเก่า LEED O+M (LEED Operation and Maintenance) ผู้นำด้านการจดทะเบียนรับรองอาคารสีเขียวซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมุ่งเน้นให้อาคารที่มีอยู่แล้วสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดปริมาณขยะได้ เพื่อการมีส่วนร่วมในทางปฏิบัติเพื่อความยั่งยืนตามโครงการรับรองอาคารสีเขียว เปิดเผยจำนวนอาคารที่จดทะเบียนและได้รับการรับรองในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 จำนวนพื้นที่ที่ลงทะเบียนและได้รับการรับรองภายใต้ LEED O+M เพิ่มขึ้น 384% และ 729% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2565 ปัจจุบัน รวมพื้นที่ทั้งหมดที่ได้รับการรับรอง LEED O+M อยู่ที่ประมาณ 860,000 ตร.ม.

แนวโน้มล่าสุดนี้แสดงให้เห็นว่า มีจำนวนผู้เช่าที่นำเอาหลักการ ESG (Environmental, Social, Governance) มาใช้ และมีความต้องการอาคารที่ได้รับการรับรองมากขึ้น ความต้องการเหล่านี้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเลือกสำนักงานของผู้เช่า ทำให้เจ้าของอาคารต้องพิจารณาการปรับปรุงอาคาร เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน

LEED หรือ ผู้นำด้านการออกแบบเพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม นับเป็นระบบการรับรองที่มุ่งเน้นเรื่องอาคารสีเขียวที่โดดเด่นที่สุดในประเทศไทย โดยมีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับอาคารซึ่งใช้กลยุทธ์การปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคารที่มีประสิทธิภาพสูง ประหยัดต้นทุน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ESG ในการดำเนินการ ซึ่งมาตรฐานนี้สามารถนำไปใช้กับอาคารก่อสร้างใหม่ และอาคารที่มีอยู่เดิม ตั้งแต่โครงสร้างเดี่ยวไปจนถึงระดับชุมชน

ซีบีอาร์อี ประเทศไทย เริ่มเล็งเห็นถึงความต้องการที่สูงขึ้นของเทรนด์นี้จากการให้คำปรึกษาด้านอาคารสีเขียวสำหรับอาคารหลายแห่ง เราพบว่าโครงการส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานที่ดีขึ้น เนื่องจากมีการจัดสรรทรัพยากรเพียงพอในการปรับปรุงประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน รวมถึงการจัดการการใช้น้ำ การจัดการขยะ และการจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคาร” นายลลิต ธิติไพศาล รองผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าว

สำหรับอาคารที่บริหารโดย ซีบีอาร์อี เราใช้วิธีให้บริการตรวจสอบสถานะพลังงานและประสิทธิภาพของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในอาคาร จากนั้นจึงนำกลยุทธ์แบบไร้ต้นทุนและต้นทุนต่ำมาใช้ โดยการทดสอบครั้งแรกพบว่า การใช้พลังงานรวมสำหรับอาคารทั้งหมดลดลงถึง 13% ต่อปี ซึ่งเท่ากับ 16 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงประมาณ 7,100 เมตริกตัน ซึ่งเป็นจำนวนเทียบเท่ากับพื้นที่ที่ป่าชายเลน 2,600 ไร่จะดูดซับได้

บริษัทคาดหวังที่จะเห็นการได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารเพิ่มขึ้นเพื่อความยั่งยืนในอนาคต ความก้าวหน้าในการปรับปรุงอาคารใหม่เพื่อความยั่งยืนจะนำไปสู่การปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในระดับที่กว้างขึ้น ซีบีอาร์อี มุ่งมั่นที่จะผลักดันสิ่งนี้เพื่อสร้างผลกระทบให้ไปไกลกว่าแค่ตัวอาคาร ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าในการสร้างเมืองที่ยั่งยืนต่อไป