ประเดิมปีแรกโชว์ความสำเร็จอย่างล้นหลาม ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการ 151 ราย จาก 37 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการประกวดฯ พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนอันโดดเด่น เพื่อลุ้นโอกาสการเซ็นสัญญาเป็นผู้ผลิตของที่ระลึกธนาคารฯ ซึ่งช่วยสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) จัดโครงการประกวดคัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP เพื่อเป็นของที่ระลึกของธนาคารฯ เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพ เสริมรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตสมาชิกในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องแนวความคิด EMpower for Community และเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ยิ้มรับความสำเร็จตั้งแต่ปีแรกที่จัดโครงการประกวดฯ ด้วยการตอบรับอย่างท่วมท้นจากผู้ประกอบการชุมชน และการสนับสนุนอย่างดีจากกรมการพัฒนาชุมชน ภายใต้กระทรวงมหาดไทย 

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การจัดโครงการประกวดคัดสรรผลิตภัณฑ์กลุ่มชุมชน หรือที่รู้จักกันว่า ผลิตภัณฑ์โอทอป (OTOP) สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของธนาคาร ในการสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ชุมชน และเป็นไปตามแนวหลักปรัชญาการดำเนินธุรกิจของธนาคารไทยเครดิตฯ Everyone Matters ทุกคนคือคนสำคัญ” โดยเน้นส่งเสริม สนับสนุนชุมชนให้เข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการรวมตัวกันเพื่อดำเนินงาน และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมเพื่อช่วยสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และนำจุดเด่นของชุมชนด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีเอกลักษณ์ ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์”

ในการประกวดรอบแรก มีผู้ประกอบการ 151 ราย จาก 37 จังหวัด ส่งผลิตภัณฑ์เข้าร่วมโครงการ โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ พรีเมียม ประเทศ ชุมชน และทั่วไป ผู้เข้าร่วมประกวด 12 ราย ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้าย พร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์เด่นชุมชนต่อคณะกรรมการตัดสินในรอบชิงชนะเลิศของการประกวด โดยผู้เข้าร่วมประกวดที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายจะได้รับโล่รางวัลจากธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) และโอกาสการเซ็นสัญญาเป็นผู้ผลิตของที่ระลึกธนาคารฯ ซึ่งช่วยสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ผลรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับพรีเมียมและทั่วไป ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ “เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารจากสแตนเลส”  โดย โพธิ์ทอง อรัญญิก แฮนด์ดิเวอร์ค จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับประเทศ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ “ชาอู่หลงสี่ฤดู” โดย  จตุพล ชาไทย (ดอยแม่สลอง) จากจังหวัดเชียงราย และระดับชุมชน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ “กิฟต์เซ็ตสบู่หอมจากธรรมชาติ”  โดย  เนเจอร์ไลฟ์เฮิร์บ จากจังหวัดปราจีนบุรี

“ผลแพ้ชนะเป็นเพียงกติกาการประกวดเท่านั้น ที่สำคัญกว่าคือ เราต้องการสร้างการมีส่วนร่วมในการประกวด ความก้าวหน้าทางอาชีพ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นรากฐานในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต” นายวิญญูกล่าวปิดท้าย