ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดอสังหาฯในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เผชิญปัจจัยลบจากการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังไม่เต็มที่ ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ของ GDP และราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวสูงขึ้น มีผลต่อตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ และยอดขายใหม่ที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน  สะท้อนว่ากำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่ยังไม่แข็งแรง และต้องการมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาลใหม่ที่ต้องเข้ามากำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีหลังศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าภาพรวมตลาดอสังหาฯ ยังคงชะลอตัวลง แต่ยังมีกลุ่มบ้านแนวราบทั้งบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดในระดับราคา 7.5 – 10 ล้านบาท ยังสามารถขายได้และมีการโอนกรรมสิทธิ์ต่อเนื่อง ส่วนบ้านหรูราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ยังเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังตลาดอิ่มตัว อาจเกิดปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย เพราะในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการหันมาทำบ้านหรูกันมากขึ้น ขณะที่ซัพพลายเดิมยังมีคงเหลืออยู่ในตลาด ซึ่งอาจสะสมจนมากเกินไป ขณะที่คอนโดฯ มองว่าตลาดในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะแผ่วลงตามความต้องการ และกำลังซื้อของลูกค้าที่ชะลอตัว ดังนั้นในช่วงนี้ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการ ระบายสต๊อกสินค้าเดิม อย่าโหมเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อลดการสะสมของหน่วยเหลือขายให้ลดลง และสร้างความสมดุลให้ตลาดอสังหาฯ

ส่วนมาตรการอสังหาฯ ที่อยากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯ มองว่า ภาครัฐฯควรนำมาตรการ LTV กลับมาใช้อีกครั้ง แต่อาจมีเงื่อนไขในการผ่อนปรนเพื่อดึงกำลังซื้อจากกลุ่มนักลงทุน หรือกลุ่มคนมีกำลังซื้อสูง รวมถึงการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน ซึ่งอาจออกมาในรูปแบบความร่วมมือของธนาคารกับผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่เข้ามาให้สนับสนุนสินเชื่อกับประชาชนที่อยากมีบ้าน โดยให้ผู้ซื้อมีการเตรียมตัวพูดคุยกับสถาบันการเงินแบบตรงไปตรงมา หรือการทำความร่วมมือให้ผู้พัฒนาอสังหาฯรับซื้อทรัพย์คืนจากกลุ่มลูกค้าที่ขาดการผ่อนชำระ เหมือนกรณีของธนาคารอาคารสงเคราะห์ร่วมกับการเคหะแห่งชาติที่สนับสนุนให้ประชาชนได้มีโอกาสซื้อบ้านเป็นของตัวเอง

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังดีมานด์ของกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติจะฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากการซื้อสังหาฯของลูกค้าต่างชาติกลุ่มหลัก ๆ คือ ชาวสหรัฐ อังกฤษ ยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น จีน และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน โดยในช่วงครึ่งแรกปี 2566 มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติ 7,338 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน     14.7% ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งหมด ส่วนมูลค่าคิดเป็น 24.5% หรือ 35,211 ล้านบาท โดยหน่วยโอนฯ เพิ่มขึ้น 65.6% มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้น 57.8%

ซึ่งชาวจีนยังคงซื้อห้องชุดมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ส่วนชาวพม่าซื้อห้องชุดมีมูลค่าสูงที่สุด ราคาเฉลี่ย 7 ล้านบาท และชาวอินเดียซื้อห้องชุดที่มีขนาดพื้นที่เฉลี่ยสูงที่สุด เฉลี่ย 89.8 ตร.ม. โดยข้อมูลแสดงให้เห็นว่าคนจีนนิยมซื้อห้องชุดขนาด 39 ตร.ม. สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการซื้อเพื่อลงทุน ส่วนคนชาติอื่น ๆ จะมีการซื้อห้องพื้นที่ใหญ่กว่า 40 ตร.ม. ขึ้นไป เพื่อให้อยู่อาศัยได้จริง ทั้งนี้คาดหวังให้รัฐบาลใหม่จะมีการออกนโยบายเพื่อดึงชาวต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯ ในไทยมากขึ้น เช่น การขยายเวลาวีซ่า การเพิ่มสิทธิพิเศษ และการสนับสนุนค่าธรรมเนียมต่างๆ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในครึ่งปีแรก ปี 2566 พบว่า ภาพรวมด้านอุปสงค์ – อุปทาน ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และจังหวัดสำคัญ รวม 27 จังหวัด มีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเสนอขายประมาณ 321,848 หน่วย มีมูลค่า 1,441,870 ล้านบาท ภาพรวมจำนวนหน่วยลดลง -1.3% แต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 0.3% ทั้งนี้ มีหน่วยเปิดตัวใหม่ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 จำนวน 64,998 หน่วย มีมูลค่า 273,178 ล้านบาท ซึ่งลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยลดลง -11.6% และ -10.9% ตามลำดับ

สำหรับที่อยู่อาศัยเหลือขายมีจำนวน 291,384 หน่วย มีมูลค่า 1,306,788 ล้านบาท ภาพรวมที่อยู่อาศัยเหลือขายเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยเพิ่มขึ้น 2.4% และ 4.2% ตามลำดับ ขณะที่มีหน่วยขายได้ใหม่ 57,516 หน่วย มีมูลค่า 258,957 ล้านบาท ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยจำนวนหน่วยลดลง -27.7% และมูลค่า -24.1% ตามลำดับ