บมจ.ยูเอซี โกลบอล (“UAC”) ประกาศผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2566 กวาดรายได้ 974.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.68% (YoY) ดยมีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท 180.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 101.17% (YoY) และ EBITDA อยู่ที่ 276.27 ล้านบาท จากการเติบโตของธุรกิจ Trading และ Manufacturing-Energy & Petroleum ขณะเดียวกันยังบุ๊คกำไรพิเศษอื่น ๆ อีกกว่า 128.96 ล้านบาท ด้าน CEO “ชัชพล ประสพโชค” เร่งเครื่องลงทุนธุรกิจพลังงานสะอาด - พลังงานทดแทนเพิ่ม ล่าสุดตั้งบริษัทย่อยดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่าย RDF3 ในประเทศอินโดนีเซีย หนุนรายได้ปีนี้เติบโตตามแผนที่วางไว้ และ EBITDA เติบโตมากกว่า 20%

บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ “UAC” รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในงวด 6 เดือนแรกปี 2566 โดยมีรายได้จากการขายและบริการ 797.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 151.90 ล้านบาท หรือ 23.51% (YoY) และมีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท 180.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90.91 ล้านบาท หรือ 101.17% (YoY) ขณะที่ EBITDA อยู่ที่ 276.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 68.59%

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/2566 บริษัทฯมีรายได้จากการขายและบริการ 381.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 139.60 ล้านบาท หรือ 57.63% (YoY) และมีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัท 92.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.13 ล้านบาท หรือ 412.27% (YoY) และมี EBITDA อยู่ที่ 136.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 146.44%

สาเหตุที่ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทฯมีอัตราการเติบโตที่โดดเด่น เนื่องจากการรับรู้รายได้ในกลุ่มธุรกิจ Trading และ Manufacturing – Energy & Petroleum ที่เพิ่มขึ้น และยังมีกำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อย กำไรจากการเปลี่ยนสถานะเงินลงทุน และกำไรจากการขายสินทรัพย์ (คลังสินค้า) อีกกว่า 128.96 ล้านบาท รวมถึงบริษัทฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัทร่วมเข้ามาจำนวน 57.33 ล้านบาท และส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วม BBGI Biodiesel อีก 34.91 ล้านบาท ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ  

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ “UAC” เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีการวางกลยุทธ์เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึงการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันผลกระทบจากการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะเงินเฟ้อ และการปรับตัวสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจากกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้บริษัทฯ มีเงินสด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 จำนวน 141.96 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) 0.80 เท่า ยังคงเป็นไปตามกรอบนโยบายทางการเงินของบริษัทฯ ที่ไม่เกิน 2 เท่า

อีกทั้งบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าและพัฒนาโครงการที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมแผนการจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งบูรพา (L11/43) และแหล่งอรุโณทัย (L10/43) ให้ได้วันละ 250 bbl/day ภายในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปี 2566 ทั้งนี้ ยังมีโครงการที่จะเปิดดำเนินการช่วงครึ่งหลังของปีนี้ อาทิ (1.) โรงงานผลิต RDF3 ที่ สปป.ลาว ดำเนินการโดย บริษัท เวียงจันทน์บริหารจัดการขี้เหยื้อ จำกัด (VWM) ได้ทำการ Commissioning แล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 - วันที่ 1 มิถุนายน 2566 และเริ่มส่งขาย RDF3 ให้กับโรงปูนคำม่วนเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (2.) โครงการโรงไฟฟ้าภูผาม่าน (PPM) ที่จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โดยเดินเครื่อง Generato#1 Capacity 1.5 MW. ภายในไตรมาส 3/2566 นี้ และหลังจากนั้นจะเริ่มเดินเครื่อง Generator#2 Capacity 1.5 MW. ต่อในไตรมาส 4/2566 รวมเป็น 3 MW. และ (3.) ธุรกิจด้าน EV Charging Station ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี หลังจากได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 3 สถานี ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จังหวัดระยอง

นอกจากนี้บริษัทฯยังขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด - พลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากโครงการที่การลงทุนไปแล้ว โดยบริษัท ยูเอซี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้มีการร่วมลงทุนใน PT Cahaya Yasa Cipta สัดส่วน 70% เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่าย RDF3 ในประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตประมาณ 40,000 ตันต่อปี เพื่อจำหน่ายให้กับโรงปูนซีเมนต์ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างโรงงานได้ภายในไตรมาส 3/2566 นี้

และด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวจะผลักดันให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เติบโตตามเป้ารายได้ที่วางไว้ในปีนี้เพิ่มขึ้น 15% ควบคู่กับการรักษาระดับการเติบโตของอัตรากำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มากกว่า 20% ของรายได้ยอดขายรวม