ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเศรษฐกิจครึ่งปีหลังเจอโจทย์ส่งออก ภัยแล้ง หนี้สูง ทั้งปียังคงประมาณการ GDP ที่ 3.7% และคงตัวเลขการส่งออกไว้ที่ -1.2% แต่ปรับลดการบริโภคภาครัฐบาลและการลงทุน รอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ด้านดอกเบี้ยนโยบาย คาดณ สิ้นปี 66 จะเพิ่มเป็น 2.25% จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 2. % ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะลดลงมาเหลือ 1.8% จากเดิม 2.8% และค่าเงินบาทในปีนี้ ยังคงประมาณการไว้ที่ 33.50 – 34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการ GDP ปี 66 ที่ 3.7% โดยได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยว ซึ่งคาดจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจะแตะ 28.5 ล้านคน และทำให้คาดว่าจีดีพีในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวประมาณ 4.3% จากช่วงครึ่งปีแรกที่ประมาณ 3.0%

แต่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ที่จะเกิดขึ้นได้หลายแบบ ต้องติดตามการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ,29 และ 20 กรกฎาคมนี้ ซึ่งผลการโหวตแต่รอบก็สะท้อนมุมมองของสภาฯ จึงต้องรอประเมินผลในแต่ละครั้งไป ในกรณีที่โหวตครั้งแรกไม่ผ่าน เพราะถ้ามีความล่าช้าออกไปจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งด้านการเบิกจ่ายภาครัฐ รวมถึงกระทบความเชื่อมั่นด้วย ซึ่งหากกรณีเลวร้ายอย่างที่สภาอุตสาหกรรมไทย(สอท.)ประเมินจีดีพีไว้ก็จะอยู่ที่ประมาณ 2.5% ก็เป็นได้

รวมถึงการรับมือกับทิศทางเศรษฐกิจจีนที่เริ่มเห็นสัญญาณอ่อนแรง ซึ่งเป็นความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจอาเซียนและไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง โดยประเมินว่าการส่งออกไปจีน จะเติบโตราว 3.4% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอาหาร ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีนก็ยังเข้ามาท่องเที่ยวในไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 5 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยและยังมีโอกาสปรับลดลงได้



 

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรที่อาจคิดเป็นมูลค่าราว 4.8 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ขณะที่ปรากฏการณ์เอลนีโญรอบนี้ อาจกดดันภาคการผลิตและบริการที่ใช้น้ำในสัดส่วนสูง ได้แก่ อโลหะ อาหาร สิ่งทอ ท่องเที่ยว โรงพยาบาล ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง เกิดการขาดแคลนน้ำ ซึ่งกังวลว่าภัยแล้งอาจรุนแรงมากกว่าปี 66 และลากยาวไปถึงปี 2567

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด  กล่าวว่า สำหรับหนี้ครัวเรือนในช่วงปลายปีนี้ จะอยู่ในกรอบประมาณ 88.5-91.0% จากระดับ 90.6% ณ สิ้นไตรมาส 1 ของปี 2566  โดยสัดส่วนหนี้คงจะยังไม่ลดลงแตะ 80% ที่ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank of International Sattlements: BIS)มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อได้โดยไม่สะดุดภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้ขณะที่มาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้หนี้ใหม่โตช้าลง และหนี้เก่าลดลงเร็วขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้คงอยากเห็นรัฐบาลใหม่เข้ามาดูแลหนี้ก้อนใหญ่ ที่แก้ยากอย่างจริงจัง คือ เกษตร ครู และข้าราชการ (เฉพาะหนี้ครูและข้าราชการตำรวจก็มีสัดส่วนประมาณ 10.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด) รวมถึงหนี้ที่ย้ายออกจากระบบไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) อีกหลักแสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการที่เคยออกมาแล้วอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังประกอบด้วยหนี้บุคคลและหนี้ธุรกิจรายย่อย อันจะมีผลต่อความสามารถในการดำรงชีพของครัวเรือนและธุรกิจฐานรากของไทยในระยะข้างหน้า