ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab by MQDC และ บริษัท เนบิวลา คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Nebula Corporation) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (BMA) ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (FREC Bangkok) และ ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง (Urban Studies Lab / USL) จัดกิจกรรมให้ความรู้ การพัฒนาเมืองในอนาคตให้กับผู้เข้าแข่งขันแฮกกาธอนระดมสมองพัฒนากรุงเทพฯ

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC)  กล่าวว่า สืบเนื่องจากทางกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (FREC Bangkok)และ ศูนย์วิจัยชุมชนเมือง (Urban Studies Lab / USL) จัดกิจกรรมเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการแข่งขันแฮกกาธอน เพื่อค้นหาและสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ในการพัฒนากรุงเทพมหานคร ภายใต้ชื่อ “BMA x FREC Hackathon”  ในระหว่างวันที่ 29 มิถุนายนถึง 1 กรกฎาคม 2566  และได้เชิญศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา    และ  บริษัท เนบิวลา คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Nebula Corporation)  ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและการพัฒนาเมือง จัดกิจกรรมบรรยายองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ช่วยให้ทีมที่เข้าร่วมแข่งขันเสนอโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากขึ้น    

“ภายใต้ความร่วมมือนี้ ทางศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ได้ร่วมกับ บริษัท เนบิวลาฯ จัดกิจกรรม Knowledge Sharing ขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้รับฟังข้อมูลการพัฒนาเมืองในด้านต่าง ๆ รวมถึงการเรียนรู้เรื่อง การวิเคราะห์คาดการณ์  (Foresight) อนาคตของกรุงเทพฯ จากทีมผู้เชี่ยวชาญของศูนย์วิจัย  พร้อมทั้งได้รับชม ‘Bangkok Next Tales’ ระบบอัจฉริยะที่จำลองสถานการณ์ความเป็นไปได้ในด้านต่างๆของกรุงเทพมหานครในอนาคต เช่น ปริมาณพื้นที่สีเขียว ปริมาณผิวจราจร รวมทั้งสถานการณ์สุดขั้วอย่างเช่นภาวะน้ำท่วม เป็นต้น และ ‘Future of Living’ ฉายภาพอนาคตการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย การเดินทาง และรูปแบบเมืองในอนาคต โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมนี้จะช่วยเพิ่มความรู้และทักษะใหม่ๆให้กับผู้เข้าแข่งขันได้นำไปใช้ออกแบบเมืองในฝันของทุกคนได้” ดร.การดี กล่าว  

นางสาวสุณัฏฐา พงษ์เจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab by MQDC กล่าวถึงภารกิจหลักของศูนย์วิจัย เน้นการวิจัยเพื่อคาดการณ์ความเป็นไปได้ในอนาคต   ออกแบบเครื่องมือและฐานข้อมูล (Data Platform)  ที่จะช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต    ตลอดจนร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่สนใจทั้งในและต่างประเทศในการค้นคว้า วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลด้านอนาคตศาสตร์

“กระบวนการทำ Foresight คือการวิเคราะห์อนาคตจากข้อมูล ณ ปัจจุบัน โดยใช้หลักการ STEEPV – Social, Technological, Economical, Environmental, Political, Values เพื่อดูแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงภายใต้ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ จะส่งผลกระทบต่ออนาคตอย่างไร มีสัญญาณอะไรบ้างที่อาจพัฒนาเป็นเทรนด์ เพื่อมองหาโอกาสและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในมิติต่างๆ เพื่อให้เรารับมือได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ นางสาวสุณัฏฐา ยังได้เผยแพร่ผลงานวิจัย ‘Future of  Urbanization’ การมองอนาคตของกรุงเทพมหานครในอีก 30 ปีข้างหน้า ในแง่มุมต่างๆ คือ การใช้ชีวิต การเดินทาง สาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะเป็นคู่มือสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการพัฒนาเมืองให้ตรงตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และส่งเสริมให้เป็นเมืองที่ผู้อยู่อาศัยมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 ในกิจกรรมเดียวกันนี้ ดร.นภาสินี สืบสุข  ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านนวัตกรรมเมือง บริษัท เนบิวลา คอร์ปอเรชั่น จำกัด ชี้ให้เห็นว่า รูปแบบเมืองในอนาคต จะต้องเป็น ‘Future City for Climate Resilience’ หรือเมืองที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ สามารถปรับตัวได้ตามสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปริมาณการใช้คาร์บอนที่สูงขึ้น ความร้อน และฝุ่นควันที่เพิ่มมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องออกแบบเมืองที่รองรับให้คนอยู่อาศัยได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

โดยการพัฒนาไปสู่เมืองที่ดีนั้น ต้องตอบโจทย์สำคัญใน 4 ด้าน คือ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) ด้านการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ (Harmony Living) สุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health & Wellness) และด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  (Economic Stability)

นายพฤฒิเชษฐ์ เลิศอุดมพฤกษา ผู้จัดการอาวุโสด้านนวัตกรรมเมือง และ นางสาวปภาพินท์ พลเยี่ยม  ผู้จัดการด้านนวัตกรรมเมือง    บริษัท เนบิวลา คอร์ปอเรชั่น จำกัด   กล่าวว่า Future City for Climate Resilience” ถือเป็นหนึ่งในภารกิจของเนบิวลาในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาเมืองที่เน้นการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเมืองไปพร้อมๆ กับการดูแลโลกใบนี้ โดยมีเป้าหมายคือ การสร้าง Resilient & Regenerative City  เมืองที่สามารถคงอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง  เช่นตัวอย่างการพัฒนาของไทเป สู่เมืองแห่งกิจกรรมและการท่องเที่ยว