นายสุรพงษ์  ไพสิฐพัฒนพงษ์  รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในเดือนเมษายน 2566 ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 59,530 คัน ลดลง 25.53% จากเดือนมีนาคม 66 ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 123,959 คัน ลดลง 32.80% แต่เพิ่มขึ้น 1.73 % เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 โดยปัจจัยหลักมาจากจากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน ตามปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นเพิ่มขึ้นอีก ทำให้ลูกค้าถูกปฎิเสธสินเชื่อ

สำหรับการส่งออก รถยนต์สำเร็จรูป เดือนเมษายน 2566 ส่งออกได้ 79,940 คัน ลดลง 18.74% จากเดือนที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้น 43.53 % จากเดือนเมษายน 2565 เพราะผลิตรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้น 21.06 % และรถกระบะเพื่อส่งออก 6.06% จากฐานต่ำของปีที่แล้วเนื่องจากขาดแคลนชิปจากสงครามยูเครนและการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน เดือนเมษายนจึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกออกกลาง แอฟริกา และยุโรปมูลค่าการส่งออก 50,164.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.83% จากเดือนเมษายน 2565  ส่วนการส่งออก เดือนมกราคม – เมษายน 2566 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 353,632 คัน เพิ่มขึ้น18.38% มีมูลค่าการส่งออก 218,286.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.88 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทางด้านรถยนต์ไฟฟ้า ในเดือนเมษายน 66  มียานยนต์ไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่จำนวน 5,181 คัน เพิ่มขึ้น 320.88% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  โดยส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่างๆ มีทั้งสิ้น 3,820 คัน เพิ่มขึ้น869.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  ทั้งนี้ในเดือนมกราคม - เมษายน 2566 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 26,233 คัน เพิ่มขึ้น 534.41%

อย่างไรก็ดียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คนในเดือนเมษายน 2566 จำนวน 3,820 คัน เพิ่มขึ้น 882% จากเดือนเดียวกันของปี 2565 และมีสัดส่วนถึง 7.73% ของยอดจดทะเบียนทั้งหมด

ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าผสมแบบเสียบปลั๊กมีจำนวน 782 คัน ลดลง 6.57% จากเดือนเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ และมีสัดส่วน 1.58% ของยอดจดทะเบียนทั้งหมด รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมมีจำนวน 6,160 คัน เพิ่มขึ้น 31.57% จากเดือนเดียวกันของปี 2565 และมีสัดส่วน 12.47% ของยอดจดทะเบียนรวม ซึ่งเห็นได้ว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยมีสัดส่วนสูงเทียบเคียงกับประเทศอื่นๆ