ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน  กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปีพ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 ดังนั้นเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบันได้พยายามเร่งดำเนินการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยงานฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี่ เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้ ผ่านแพลตฟอร์มความร่วมมือทางธุรกิจ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในอุตสาหกรรมพลังงานและยานยนต์ ผ่านการประสานภาคธุรกิจ นวัตกร และฝ่ายนโยบาย ให้สามารถสร้างก้าวสำคัญในการข้ามความท้าทายด้านพลังงานทั้ง 3 ประการ (Energy Trilemma) คือ การสร้างความมั่นคงทางพลังงาน, การเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม

เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนด้านพลังงานและยานยนต์ครั้งสำคัญ พร้อมคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2573 เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก และความต้องการพลังงานในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าระหว่างปีพ.ศ. 2556 - 2583

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านบริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้วางให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านก๊าซธรรมชาติเหลวของภูมิภาค ซึ่งการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีคาร์บอนต่ำนี้ไม่ได้มีที่มาจากข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีอีกด้วย ซึ่งไทยสามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่  ๆ พร้อมกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานได้ด้วยการโอบรับโซลูชันพลังงานสะอาด 

นายธนสิทธิ์ วิชัยไพโรจน์วงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์องค์กร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท. สผ. ได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 โดยมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนของการผลิตก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น พร้อมกับการแสวงหาโอกาสการลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่ รวมถึงการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อดูแลรักษาและส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่คนรุ่นหลังต่อไป

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการด้านยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความร่วมมือและการสร้างเครือข่ายพันธมิตรระหว่างภาคส่วนและหน่วยงานจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างแนวทางเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในระยะยาว งานฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี่ เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย จึงเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายสามารถร่วมแบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงทำงานร่วมกันเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืน”

นายคริสโตเฟอร์ ฮัดสัน ประธานบริษัท ดีเอ็มจี อีเว้นท์ โกลบอลล์ เอนเนอร์ยี กล่าวว่า ในปีนี้เรายังคงผลักดันประเทศไทยสู่ศูนย์กลางด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานแห่งภูมิภาคเอเชีย โดยเชื่อว่าทางสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น ไม่ใช่การเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมมาสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่ต้องมีการปรับโครงสร้างพลังงาน พร้อมกับพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการเข้าถึงพลังงาน และนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ควบคู่กัน ซึ่งการนำเสนอนวัตกรรมและโซลูชันล่าสุดที่จะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมพลังงาน โดยตั้งเป้ามีผู้เข้าร่วมงานกว่า 18,000 ราย จากกว่า 70 ประเทศ เพื่อหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของเอเชียต่อการเปลี่ยนแปลงผ่านพลังงานในระดับโลก

สำหรับงานฟิวเจอร์ เอเนอร์ยี่ เอเชีย และ ฟิวเจอร์ โมบิลิตี้ เอเชีย จัดขี้นในวันที่ 17-19 พ.ค. นี้ ที่ Strategic Conference, Hall 1 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของงานเพิ่มเติมได้ผ่านทาง www.futureenergyasia.com และ www.future-mobility.com