รองศาสตราจารย์ ดร. เฉลิมพล แจ่มจันทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า  ข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทย พบว่า ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากทำงานอยู่นอกระบบ ซึ่งตั้งแต่ปี 2504-2547 เป็นช่วงที่ไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุมาจนถึงล่าสุดในปี 2565 ซึ่งถ้าดูจากภาพรวมพบว่าผู้สูงอายุไทยมีการทำงานต่อเนื่อง และมีแนวโน้มลดลงข้อมูลล่าสุดในปี 2565

โดยผู้สูงอายุไทยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 36.1% ยังทำงานอยู่ จากข้อมูลในปี65 พบว่า จริงๆแล้วประชากรไทยเริ่มทำงานลงดลงตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป และลดลงชัดเจนที่สุดที่อายุ 60 ปี โดยกว่า 22.5% ได้หยุดทำงาน เหตุผลหลักๆ คือชรา เกษียณอายุ หรือต้องการพักผ่อน ซึ่งเป็นบริบทของสังคมเรายังมีมโนทัศน์ว่า อายุ 60 แล้วจะต้องเกษียณ ซึ่งแนวคิดในเหตุผลที่ว่าแก่ที่เป็นเหตุผลเทียม นั่นหมายความว่าเป็นเหตุผลของแนวคิดตีมุมมองที่ว่าอายุ 60 ปีนั่นคือคนแก่

ซึ่งจากข้อมูล จึงมองว่า ในเชิงนโยบายการขับเคลื่อนส่งเสริมการมีงานทำในผู้สูงอายุ เราต้องเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ควรจะส่งเสริมชัดเจนรวมไปถึงต้องไม่มีตัวชี้วัด โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุ 60-64 ปี ที่เห้นว่าควรเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะปัจจัยที่เกี่ยวข้องในเชิงสุขภาพอาจจะไม่ใช่ตัวหลักที่ทำให้เขาเลิกทำงาน โดยปัจจุบันคนกลุ่มนี้ยังมีการทำงานอยู่ที่ 56.4% หรือคิดเป็น 2.33 ล้านคน ซึ่งหากจะผลักดันให้มีการทำงานเพิ่มขึ้นเป็น 60% หรือเพิ่มขึ้น 1.49 แสนคน เพราะเขายังมีสกิลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับคนที่ทำงานอยู่อีกกว่า 2.33 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เราทิ้งไม่ได้ และต้องใส่ใจเรื่องสภาพการทำงานของแรงงาน ซึ่งพบว่า กว่า 80% ของแรงงานสูงวัยทำงานอิสระช่วยธุรกิจครัวเรือน ส่วนอีก 13% เป็นลูกจ้างภาคเอกชน และ 3% เป็นนายจ้าง  โดยข้อมูลการสำรวจยังพบว่าค่าตอบแทนหรือระดับรายได้จากการทำงานอิสระโดยเฉลี่ยแล้วค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับในกลุ่มที่เป็นลูกจ้างในภาคเอกชนและกลุ่มที่เป็นโดยเฉพาะข้าราชการและนายจ้าง

แสดงให้เห็นว่า การมีงานทำหรือทำงานอยู่ ไม่ได้แปลว่าเราควรมองข้าม ในขณะเดียวกัน เราต้องสร้างโอกาสและเพิ่มการสนับสนุนให้แรงงานสูงวัยมีระดับรายได้ที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะโอกาสในการทำงานในภาคของลูกจ้างเอกชนหรือว่าในสถานประกอบการ ซึ่งเรายังมีโอกาสตรงนี้ค่อนข้างน้อยสำหรับกลุ่มที่เป็นแรงงานสูงอายุ

สรุปได้คือ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของแรงงานสูงอายุที่ควรพิจารณา คือ แรงจูงใจในการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นแรงงานในระบบ ที่มีความมั่นคงทางรายได้มีรายได้ที่เพียงพอมีบำนาญก็มีความรู้สึกอยากพักผ่อนรู้สึกว่าวัยชรา อยากให้หันมาปรับมุมมอง ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นการทำงานที่มีรายได้อย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจจะเป็นการทำงานให้กับสังคม

นอกจากนี้ยังต้องคุ้มครองการทำงานในกลุ่มคนนอกระบบที่เป็นอิสระ ที่ปัจจุบันโอกาสยังค่อนข้างน้อย ทั้งการส่งเสริมการทำงาน หรือการจ้างงาน ทั้งนี้การส่งเสริมการทำงานสูงอายุเสนอว่าต้องพิจารณาไม่ใช่แค่ส่งเสริมให้เขาทำงานแต่อยากให้พิจารณาในกรอบมิติโดยเฉพาะความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางรายได้ด้วย

 

คุณสุมิตรา วงภักดี  บริษัท เทอร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด กล่าวว่า จากการวิจัย ความต้องการ และงานในอุดมคติของผู้สูงวัย จากการสอบถามพูดคุยกับกลุ่มตัวอย่าง 4 กลุ่ม ที่มีอายุมากกว่า 55-60 ปี ซึ่งมีความต้องการทำงานที่แตกต่างกัน พบว่า ในส่วนของทัศนคติของการทำงานของผู้สูงอายุ รู้สึกว่าการที่ยังทำงานอยู่เป็นความภาคภูมิใจ  ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีคุณค่าในตนเองพึ่งพาตนเองได้ไม่ได้เป็นภาระให้กับคนในครอบครัว และยังมีประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่งต้องบอกว่าพอเข้าสู่ช่วงสูงอายุเขาก็จะไม่ได้ใช้จ่ายเยอะเหมือนอย่างที่ผ่านมา ซึ่งการมีรายได้เข้ามาก็สามารถแบ่งปันให้กับลูกหลานได้หรือว่าแบ่งปันให้กับสังคมคือช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่าได้ และอีกส่วนหนึ่งคือทำงานเพื่อพัฒนาสมองหรือว่าทำให้ร่างกายให้อยู่ในสภาวะปกติ ไม่เกิดภาวะสมองเสื่อม

ส่วนงานในอุดมคติของผู้สูงวัย ก็คือ จะต้องไม่ใช่เป็นงานที่ใช้แรงงานหนัก ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่สามารถทำงานได้เท่ากับวัยหนุ่มสาวแล้ว ดังนั้นกลุ่มคนสูงวัยจึงมองหางานที่เป็นแบบคล้ายๆงาน Part Time ที่เหมาะสมกับเขา และไม่ส่งผลต่อสุขภาพ ซึ่งหากเป็นการลงทุนควรมีความเสี่ยงต่ำ ไม่ลงทุนสูง หรือการจ้างผลิตงานฝีมือที่ไม่ต้องเน้นปริมาณ โดยทุกท่านก็ไม่ได้คาดหวังที่จะได้เงินเยอะเหมือนเดิม และพอใจในลักษณะรายได้ประมาณ 300 บาทถึง 1,000 บาท และไม่จำเป็นต้องทำทุกวัน 

นอกจากนี้ผู้สูงอายุยังอยากทำงานที่ได้พบปะผู้คนที่หลากหลาย รวมถึงใช้ความสามารถส่วนตัว อาทิ งานช่าง งานเทคนิค ที่สามารถรับงานมาทำต่อได้ และมีรายเด้เข้ามาต่อเนื่อง โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเก็บที่เตรียมไว้เพื่อการเกษียณ

ส่วนช่องทางหารายได้ และแหล่งรายได้ของผู้สูงอายุที่ยังทำงานอยู่ พบว่าหลายคนยังอยู่ในสายงานเดิมเป็นลักษณะคอนเซาท์หรือว่าเป็น Part Time รวมถึงหางานจากคนรู้จักที่เขาเข้าสู่ชมรมที่ชมรมสูงวัย ที่มีการแนะนำงานต่อกัน อย่างไรก็ดีผู้สูงอายุอาจจะไม่ได้มองหาการอัพสกิล หรือรีสกิล เพื่อไปแข่งขันแย่งพื้นที่ทำงานกับหนุ่มสาวอีกต่อไป แต่ผู้สูงอายุจะเป็นส่วนที่ช่วยเพิ่มแนวคิดสร้างประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ได้

 

คุณอาภา รัตนพิทักษ์ กรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ประเทศไทยได้เริ่มแผนผู้สูงอายุ ฉบับที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ 2525 โดยเป็นแผนระยะยาวที่ร่วมกันทำงาน จากกระทรวงแรงงาน, หน่วยงานภาคเอกชน, ภาคองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนในการทำงานด้านผู้สูงอายุ โดยมติครม.ในปี 60 ที่ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุโดยให้นายจ้างสามารถนำค่าจ้างผู้สูงอายุมาลดหย่อนหักค่าใช้จ่ายได้ โดยกำหนดอัตราว่าต้องไม่เกินค่าจ้าง 15,000 บาท และหลังจากนั้นก็มีโครงการนโยบายประชารัฐเพื่อสังคม มาถึงปัจจุบันมีเรื่องของการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ โดยภาคธุรกิจเอกชนก็เข้ามามีส่วนร่วมรูปแบบธุรกิจแบบ CSR หรือว่าการจ้างงานผู้ส่งอายุที่อยู่ในบริษัท แต่จากข้อมูลในงานนี้ ทำให้ต้องกลับไปทบทวนถึงรูปแบบการทำงานและระยะเวลาการทำงานของผู้สูงอายุ ให้สอดคล้องกับสภาพร่างกายของผุ้สูงอายุอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมพัฒนาทักษะอาชีพต่างๆให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงคนที่กำลังที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุ ซึ่งต้องการเตรียมตัวก่อนวัยเกษียณ โดยภาครัฐเองก็มีการกำหนดงบประมาณ เรื่องของแผนบูรณาการด้านสังคมสูงอายุ โดยมีกระทรวงแรงงาน, กรมประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อมาร่วมเตรียมตัวให้กับกลุ่มคนต่างๆเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ

 โดยข้อมูลจากงานวิจัยในงานครั้งนี้ เป็นประโยชน์ต่อการจัดรูปแบบบริการ หรืองาน ให้เหมาะสมให้กับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีที่อาจจะมีความยุ่งยาก ที่ผู้สูงอายุก็ต้องเรียนใหม่เรียนเพิ่มอีก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะประสบปัญหาสถานประกอบการที่จะจ้างงานผู้สูงอายุมีข้อจำกัด ดังนั้นในเชิงนโยบายที่ไทยควรคำนึงถึงด้านแรงงานสูงวัย อาจจะต้องปรับทัศนคติในเรื่องผุ้สูงอายุใหม่ แม้ว่าต้นแบบของงานอาจจะดูดี เช่นงานบาริสต้า ด้รับผลตอบแทน วันนึง 400-500 บาท แต่ลูกหลานอาจจะต้องอธิบายสังคมว่าทำไมไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ ซึ่งจริง ๆแล้วทัศนคติแบบนี้ ในไทยอาจจะต้องปรับเปลี่ยนพอสมควร นอกจากนี้ระบบแรงจูงใจโดยเฉพาะระบบสนับสนุนการทำงานของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคม อาจต้องมีการปรับกฎหมาย ต้องมีการสร้าง Connection เป็นตัวอย่าง ซึ่งการทำของภาครัฐฯจำเป็นต้องคำนึงถึงผลผลิต เช่น การฝึกงานเข้าระบบจะต้องมีระบบที่ส่งเสริมส่งสัญญาณ พร้อมจัดกลุ่มงานที่จะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมาทำงานงานบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นงานที่ขาดแคลนและใช้องค์ความรู้ ตัวอย่างเช่น งารบริการ, งานอาหาร, งานดูแลโรงแรม กลุ่มนี้สามารถที่จะใช้แรงงานผู้สูงอายุได้ และลดการพึ่งพารายงานต่างด้าวได้ด้วย ที่สำคัญคือการพัฒนาศักยภาพแรงงานสร้างตลาดแรงงาน โดยเฉพาะความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้สูงอายุ ก็คือ การให้ผู้สูงอายุได้เข้ามาสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้แล้วเขาก็สามารถที่จะดำเนินการในเรื่องอื่นๆในการ access information ในการดูแลตัวเองในการที่จะสร้างรายได้ต่อได้