บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เดินเครื่องตลอดปี 66 ผ่าน 5 กลยุทธ์หลัก เน้นเพิ่มแรงหนุน Digital Technology เติมทุน SMEs ตั้งเป้าค้ำประกัน 120,000 ล้านบาท รับกลุ่มท่องเที่ยว เกษตร Supply Chain ฟื้นตัว

 

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานและยุทธศาสตร์ ปี 2566 บสย. ตั้งเป้ายอดค้ำประกันสินเชื่อ 120,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ รายสถาบันการเงิน BI7 และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ RBP วงเงิน 70,000 ล้านบาท และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ วงเงิน 50,000 ล้านบาท ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2

ทั้งนี้การดำเนินงานในปี 66 จะเดินหน้า ภายใต้ 5 กลยุทธ์หลัก คือ

1. กลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ได้แก่

- ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อรายสถาบันการเงินระยะที่ 7 หรือ  BI 7 ค่าธรรมเนียมขั้นต่ำที่ 2% ต่อปี บสย. ค้ำสูงสุด 10 ปี 

- ผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ RBP ค่าธรรมเนียมตามระดับความเสี่ยง Risk – Base-Pricing ช่วยลูกค้ารับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันลดลงตามระดับความเสี่ยง 

- โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก 2 ปีแรก 3% อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน  5% ต่อปี ค้ำประกันสูงสุด 10 ปี

2. กลยุทธ์การเพิ่มเครือข่ายพันธมิตร อาทิ โครงการ “The S1 Project” ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โครงการร้านโดนใจ พัฒนาโชห่วย ร่วมกับพันธมิตร บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และธนาคารพันธมิตร โครงการ CARE ความร่วมมือยกระดับ Supply Chain ร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง โครงการความร่วมมือกับเซ็นทรัลแล็บไทย และ ซินโครตรอน โครงการความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SMEs ปี 2566 โครงการความร่วมมือร่วมกับ บริษัท คาร์ด เอกซ์ จำกัด

3. กลยุทธ์การเข้าถึงลูกค้าผ่าน Digital Platform

4. กลยุทธ์การบริหารจัดการหนี้  โดยบริหารจัดการลูกหนี้เดิมและลูกหนี้ใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่ม Micro การกระตุ้นให้ลูกหนี้เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ประนอมหนี้ ผ่านช่องทาง LINE @tcgfirst ซึ่งในปีนี้จะเพิ่มบริการใหม่ อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า บสย. สามารถเช็คยอดภาระค้ำประกัน และ ชำระค่าธรรมเนียมค้ำประกัน และสามารถเข้าถึงสินเชื่อ กับธนาคารพันธมิตรที่ บสย. เข้าร่วมโครงการ

 

5. กลยุทธ์การสร้างความยั่งยืน Sustainable Organization มุ่งสู่การเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศและเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อให้การสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ BCG Model (Bio Economy, Circular Economy และ Green Economy)

สำหรับในปี 2565 บยส. ได้อนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 143,998 ล้านบาท  ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ รวม 82,747 ราย สร้างสินเชื่อในระบบ 157,919 ล้านบาท รักษาการจ้างงานรวม 1,042,787 ตำแหน่ง สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 594,712 ล้านบาท