ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ในไตรมาส 3 ปี 2565 พบการชะลอตัวของตลาดอาคารชุดที่ชัดเจน โดยตั้งข้อสังเกตว่า การเปิดตัวอาคารชุดใหม่อย่างมากในช่วงไตรมาส 1 และ 2 เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงนั้นให้ขึ้นด้วยหรือไม่  หากเป็นเช่นนี้นก็แสดงให้เห็นว่า โครงการที่มีหน่วยที่เหลือขายจากปีก่อนมีการระบายสต๊อกได้ช้า และการซื้ออาคารชุดในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ก็อาจเป็นการซื้ออาคารชุดในกลุ่มโครงการ BOI ซึ่งมีจำนวนหนึ่งอาจเป็นการซื้อเพื่อการลงทุนทำให้ยอดขายในภาพรวมดีในช่วงนั้น  แต่หน่วยเหลือขายก็ยังคงมีอยู่มากพอควร ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การพัฒนาโครงการอาคารชุดใหม่จะต้องพิจารณากลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและตอบโจทย์ผู้ซื้อได้ตรงความต้องการ ส่วนตลาดบ้านจัดสรร ก็ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะบ้านจัดสรรในกลุ่มราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป

ทั้งนี้ต้องดูในช่วงไตรมาส 4 เพราะจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้น จากมาตรการ LTV ที่จะสิ้นสุดลงทำให้ผู้ประกอบการเร่งโอนที่อยู่อาศัยสูงถึง 1 ล้านล้านบาท นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมองว่าจะเป็นตัวแปรที่กระทบต่อการลงทุนอสังหาฯ และกระทบต่อกำลังซื้อลูกค้า

สำหรับภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 มีจำนวนเปิดขายใหม่ 24,112 หน่วย มูลค่า 147,276 ล้านบาท ลดลง 4,380 หน่วย แต่มูลค่ากลับเพิ่มขึ้น 10,463 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2565 โดยบ้านจัดสรรในกลุ่ม 2.01-5.00 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่อง แต่อาคารชุดเปิดใหม่ลดลงถึง 8,786 หน่วย และ มูลค่าลดลง 25,158 หน่วย โดยโครงการอาคารชุดส่วนใหญ่เปิดตัวเสนอขายด้วยราคา 2.01-3.00 ล้านบาท

ซึ่งอุปสงค์ ยอดขายได้ใหม่ไตรมาส 3 ลดลงต่ำสุด เหตุผลเพราะอาคารชุดขายได้ใหม่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี เห็นจากภาพรวมยอดขายได้ใหม่ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 มีจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 20,261 หน่วย มูลค่า 113,399 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนและมูลค่าที่ขายได้ใหม่ต่ำสุดในรอบ 3 ไตรมาสของปี 2565 โดยคอนโดฯขายได้ลดลงจากไตรมาสที่ 2 ปี 2565 โดยจำนวนหน่วยลดลง 5,388 หน่วย และ มูลค่าลดลง 21,553 ล้าบาทสะท้อนให้เห็นว่าในระดับภาพรวมที่อยู่อาศัยทุกประเภทมีอัตราดูดซับต่อเดือนไตรมาส 3 ปี 2565 ในภาพรวมอัตราดูดซับภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อเดือน (ขณะที่ไตรมาส 2 มีอัตราดูดซับร้อยละ 3.9 และ ไตรมาส 1 มีอัตราดูดซับร้อยละ 5.0) โดยในไตรมาส 3 อัตราดูดซับอาคารชุดลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ต่อเดือน (จากไตรมาส 2 มีอัตราดูดซับร้อยละ 5.6 และไตรมาส 1 มีอัตราดูดซับร้อยละ 7.6) ขณะที่อัตราดูดซับบ้านจัดสรรยังคงปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ต่อเดือน (เพิ่มจากไตรมาส 2 มีอัตราดูดซับร้อยละ 2.8 และไตรมาส 1 อัตราดูดซับร้อยละ 3.1)  

ขณะที่หน่วยเหลือขายคงค้างกว่า 1.77 แสนหน่วย มูลค่ากว่า 8.71 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ปี 2565 จำนวน 1,150 หน่วย มูลค่า 11,812 หน่วย โดยพบว่า หน่วยเหลือขายของโครงการอาคารชุดมีจำนวน 63,473 หน่วย มูลค่า 274,576 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 3,742 หน่วย มูลค่าลดลง 27,352 ล้านบาท และโครงการบ้านจัดสรร จำนวน 114,290 หน่วย มูลค่า 596,929 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 4,892 หน่วย มูลค่าเพิ่มขึ้น 39,164 ล้านบาท

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 มีจำนวนที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จแล้วยังขายไม่ได้ 44,361 หน่วย มูลค่า 208,830 ล้านบาท โดยเป็นอาคารชุดที่สร้างเสร็จแล้วยังขายไม่ได้จำนวน 18,323  มูลค่า 80,165 ล้านบาท ขณะที่บ้านจัดสรรที่สร้างเสร็จแล้วยังขายไม่ได้มีจำนวน 26,038 หน่วย มูลค่า 128,665 ล้านบาท

โดย 5 ทำเล ที่มีคอนโดฯเหลือขายสูงสุด คือ

อันดับ 1  ห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง จำนวน 9,270 หน่วย มูลค่า 37,556 ล้านบาท

อันดับ 2 นนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 6,760 หน่วย มูลค่า 15,550 ล้านบาท  

อันดับ 3 พระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ จำนวน 6,599 หน่วย มูลค่า 19,071 ล้านบาท

อันดับ 4 ธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางกอกใหญ่-บางพลัด จำนวน 6,306 หน่วย มูลค่า19,366 ล้านบาท

อันดับ 5 สุขุมวิท จำนวน 5,492 หน่วย มูลค่า 51,334 ล้านบาท

ขณะที่โครงการบ้านจัดสรร ทำเลที่มีหน่วยเหลือขายสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย

อันดับ 1 บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง จำนวน 16,310 หน่วย มูลค่า 88,254 ล้านบาท

อันดับ 2 บางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย จำนวน 16,230 หน่วย มูลค่า 76,013 ล้านบาท  

อันดับ 3 ลำลูกกา-ธัญบุรี จำนวน 13,146 หน่วย มูลค่า 49,050 ล้านบาท

อันดับ 4 เมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก จำนวน 10,382 หน่วย มูลค่า 39,118 ล้านบาท

อันดับ 5 คลองหลวง-หนองเสือ จำนวน 10,243 หน่วย มูลค่า 34,566 ล้านบาท