มัดรวมมาให้แล้วสำหรับผลสำรวจเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคของกลุ่มที่อยู่อาศัย ใครพลาดงานวันจริงไป มาตามต่อกันได้ในเอกสารฉบับนี้ สำหรับงาน TERRAHINT Brand Series โดย TERRA BKK สื่อด้านอสังหาริมทรัพย์และที่ปรึกษาวิจัยด้านการตลาด ปีนี้กลับมาในชื่องานว่า TERRAHINT Brand Series 2022 : ขบคิด ติดเครื่องแบรนด์ เพื่ออนาคต

ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเผยผลวิจัยเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคตามแนวคิด GOOD HEALTH AND WELL-BEING, การมอบรางวัล Real Estate: The Most powerful brand 2022 จำนวน 3 รางวัลให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกล่าววิสัยทัศน์การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย รวมถึง Creative Talk Room : แนวคิดการออกแบบเพื่ออนาคต “DESIGN FOR THE FUTURE” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาถึง 7 ท่าน

ในบทความนี้ขอเปิดพื้นที่ให้กับไฮไลท์ที่ทุกคนรอยคอยมากที่สุด คือ การเผยผลเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคตามแนวคิด “GOOD HEALTH AND WELL-BEING” ซึ่งผลวิจัยชุดนี้จะเป็นข้อมูลสะท้อนความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มที่อยู่อาศัย เพื่อให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้มีโอกาสทำความรู้จัก เข้าใจ และใกล้ชิด ภาพรวมกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวให้เท่าทันผู้บริโภค สถานการณ์โลกและตลาดที่เปลี่ยนแปลง นำไปสู่การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และยกระดับแบรนด์ต่อไป

ผลเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มที่อยู่อาศัย 2022 ตามแนวคิด “GOOD HEALTH AND WELL-BEING” โดย สุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด แม้โควิด-19 จะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่ด้วยสถานการณ์ที่เบาบางลง นั่นส่งผลให้กลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มผู้ซื้อมีพฤติกรรมการเลือกที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 ระบาด

สำหรับผลวิจัยในปีนี้มีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 2 วิธี คือ 1.Focus Group (Qualitative Research : Focus Group 22-53 ปี เก็บข้อมูลระหว่าง 5-8 ก.ย.2022) โดยปีนี้มีความละเอียดขึ้นไปอีกจากแบ่งโฟกัสกรุ๊ปมากขึ้นถึงเป็น 9 กลุ่ม ได้แก่ 1.Gen X : Condo Intenders 2. Gen Y : Condo Intenders 3.Gen X : Detached House Intenders 4.Gen Y : Detached House Intenders 5.Gen X : Townhome Intenders 6. Gen Y : Townhome Intenders 7. Gen Z : Mix Types Intenders 8. Luxury Segment 9. Gen Z : Metaverse และ 2.เก็บข้อมูลเชิงปริมาณ จากกลุ่มตัวอย่าง 2,100 ชุด (Quatitative Research : Online Survey 20 ก.ย.-10 พ.ย.2022) ปีนี้มีการนำกลุ่มผู้มีกำลังซื้อที่มีรายได้ 9,000-15,000 บาทต่อเดือนนำมาคำนวณรวมด้วย (รายได้ส่วนตัวมากกว่า 9,000 บาท/เดือน และ รายได้ครัวเรือนมากกว่า 15,000 บาท/เดือน) เนื่องจากตลาดที่อยู่อาศัยราคาต่ำกว่าล้านบาทยังคงทำราคาได้ดี จึงเป็นเหลุให้ผลวิจัยครั้งนี้มีการคำนวณกลุ่มรายได้นี้เข้ามาด้วย อีกทั้งคิดคำนวณจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความสนใจติดตามข่าวสารอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น เพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่มีการรับรู้วงการอสังหาฯ ชัดเจนขึ้น ซึ่งผลวิจัยชุดนี้มีค่า Confidence Interval อยู่ที่ 95% และค่า Standard Error ของงานวิจัยชุดนี้อยู่ที่ 0.05

จากกลุ่มตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ามีคนโสดมากขึ้นถึง 75% แต่งงานแล้วมีลูก 12% แต่งงานแต่ไม่มีลูก 13% แบ่งเป็น GEN Z 10% Gen X 30%, Gen Y 55 %, Baby Boomer 5% ส่วนใหญ่จะอาศัยบริเวณจตุจักร ประชาชื่น รัตนาธิเบศร์ วงแหวนรอบใน ทำงานอยู่บริเวณชิดลม ทองหล่อ สุขุมวิท จตุจักร ประชาชื่น

ผลการสำรวจจากผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่าส่วนใหญ่ 84% จาก 1,000 ตัวอย่างมีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัย โดยกว่า 44% คาดว่าจะซื้อบ้านเดี่ยว และ 29% คาดว่าจะซื้อคอนโดฯ โดยวางงบซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคา 3-5 ล้านบาท ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมาจาก 3 ปัจจัย คือ ระบบรักษาความปลอดภัยของโครงการ, บริการหลังการขาย และสังคมเพื่อนบ้านที่ดี

พฤติกรรมการเปิดรับสื่อ 5 อันดับแรก ยังคงเป็นออนไลน์ Facebook, เว็บไซต์, เสิร์ชเอ็นจิ้น Google โดย Gen Z ชอบดูรีวิว Youtube เข้า tiktok เนื่องจากตัวเองยังมีความรู้ด้านอสังหาฯ น้อยเมื่อเทียบกับเจนอื่น จึงไม่ได้มีแบรนด์ชื่อไหนอยู่ในใจเป็นพิเศษมากเท่ากับเจนอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รู้จักแบรนด์หรือมีแบรนด์ในใจอยู่บ้างแล้ว และเริ่มนำชื่อแบรนด์เสิร์ชหาข้อมูลต่อได้

พฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย : ทุกกลุ่มล้วนต้องการระบบรักษาความปลอดภัย การจัดการระบบสาธารณูปโภคที่ดีและพื้นที่สีเขียว

จากกลุ่มตัวอย่างพบว่า ผู้บริโภคสนใจที่อยู่อาศัยระดับราคาอยู่ที่ 3-7 ล้านบาท ในกลุ่มบ้านแนวราบทำเลที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ รังสิต-ลำลูกกา, บางใหญ่-บางบัวทอง, และบางพลี ขณะที่ทำเลอยู่อาศัยในกลุ่มคอนโดฯ ที่ได้รับความนิยม 3 อันดับแรก คือ จตุจักร-ประชาชื่น, อ่อนนุช-บางนา และพญาไท-อารีย์

ปัจจัยสำคัญในการซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับระบบรักษาความปลอดภัย, บริการหลังการขายที่ดี, สังคมเพื่อนบ้านดี, วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง และราคา เมื่อเจาะลึกลงถึงความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มบ้านแนวราบ พบว่า คนส่วนใหญ่ต้องการบ้านที่มีฟังก์ชั่นครอบคลุม อาทิ สมาร์ทโฮมเพื่อความปลอดภัย, นวัตกรรมจัดการคุณภาพอากาศ,การออกแบบเพื่อสูงอายุ, ที่ชาร์จรถ EV และ Double Volume ขณะที่กลุ่มคอนโดฯ จะให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นที่เพิ่มความเป็นส่วนตัว อาทิ ประตู-ฉากกั้นห้องนอน, หน้าต่างบานใหญ่, ครัวปิด, ห้องนอนที่สามารถวางเตียงขนาด 6 ฟุตได้

ส่วนใหญ่ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อบ้านครั้งแรกในชีวิต เป็นผู้ซื้อครั้งที่ 2 และมีแผนจะซื้อบ้านภายใน 2 ปี โดยสื่อที่เข้าไปศึกษาหาข้อมูลยังคงเป็นเว็บไซต์ของแบรนด์นั้นๆ แต่ไม่ได้เชื่อทุกอย่างที่แบรนด์นั้นๆ พูดหมด ยังคงเชื่อถือสื่อหัวหลักทั่วไปและการรีวิวต่างๆ

ทั้งนี้จากการสำรวจ พบว่าไม่ว่าจะกลุ่มรายได้ใดหรือคนเจเนอเรชั่นใด ฟีเจอร์ที่ผู้ซื้อเหล่านี้มองว่าจะมาช่วยยกระดับการใช้ชีวิตของพวกเขาได้ดีขึ้นได้ และยกให้เป็นท็อป 3 ได้แก่ 1.ต้องการระบบรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม 2.ต้องการการจัดการระบบสาธารณูปโภคในโครงการที่ดี (นำสายไฟลงดิน, ระบบระบายน้ำ, ระบบจัดการขยะ) 3.เพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการ

“สำหรับผู้บริโภคพวกเขานิยามความเป็นอยู่ที่ดี (Definition of Wellbeing) ว่าความเป็นอยู่ที่ดีเริ่มต้นจากตัวเองก่อน ตัวเองต้องสุขกายสบายใจก่อน และให้นิยามว่าบ้านคือสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ใช่แค่ที่นอน ไม่ใช่แค่การซื้อบ้าน แต่คือต้องการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชีวิต ปัจจัยหลายอย่างที่ผู้บริโภคเลือกไม่ได้อย่างเพื่อนบ้าน คือสิ่งที่เขาคาดหวังให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เลือกให้พวกเขา”

เมื่อพูดถึงบ้านหรือที่อยู่อาศัย หมายถึง การเลือกสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชีวิต ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากบ้าน จึงแบ่งออกเป็น 3 ฟังก์ชั่นหลักๆ ได้แก่ 1.ต้องการความสะดวกสบาย หมายถึงโปร่งโล่งสบาย 2.ต้องการความปลอดภัยและสะดวกสบาย 3.ต้องการดีไซน์ที่สะท้อนตัวตน

“ความหมายของความปลอดภัยนี้ หมายรวมถึงต้องการเทคโนโลยีมาช่วยสนับสนุนเรื่องความปลอดภัย เช่น CCTV ความต้องการเลือกดีไซน์ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นดีไซน์ทันสมัย แต่ต้องเป็นดีไซน์ที่สะท้อนตัวตน ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่เจเนอเรชั่นและเฉพาะบุคคล เช่น ถ้าชอบสไตล์โมเดิร์น ลอฟท์คือโมเดิร์นของคน Gen Y แต่โคโลเนียลก็เป็นโมเดิร์นของคนอีกเจนหนึ่ง นั่นหมายถึงผู้พัฒนาอสังหาต้องรู้ก่อนว่าตัวเองอยากเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายไหน”

“โดยเฉพาะการตีโจทย์เรื่องสมาร์ทโฮม ผู้บริโภคจะแบ่งเป็น 2 ฟังก์ชั่น คือ 1.สมาร์ทโฮมเรื่องความปลอดภัย เช่น ระบบสาธารณูปโภคที่ปลอดภัยฝังไปตามท่อ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวังจากผู้พัฒนาโครงการ เพราะเขาไม่สามารถหาได้จากข้างนอก ต่างจาก 2.สมาร์ทโฮมที่มาอำนวยเรื่องความสะดวกสบาย ผู้บริโภคสามารถหาได้จากข้างนอก”

พฤติกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยแบ่งตามเซกเมนต์ : ผู้บริโภคทุกเซกเมนต์ต่างต้องการที่ชาร์จรถ EV

หากนำพฤติกรรมการเลือกซื้อบ้านมาแบ่งตามเซกเมนต์ของที่อยู่อาศัย แบ่งออกมาเป็นอีโคโนมี (Economy ที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 3 ล้านบาท) แมส (Mass ที่อยู่อาศัย 3-7 ล้านบาท) และพรีเมี่ยม (Premium ที่อยู่อาศัยมากกว่า 7 ล้านบาท) ในเรื่องของความต้องการทั้ง 3 เซกเมนต์ ผู้บริโภคยังคงต้องการ 3 อันดับแรกที่เหมือนกัน คือ 1.ระบบรักษาความปลอดภัย 2.การจัดการระบบสาธารณูปโภคที่ดี 3.เพิ่มพื้นที่สีเขียวในโครงการ เพียงแต่มีสัดส่วนที่แตกต่างกัน

“ยกตัวอย่างเซกเมนต์อีโคโนมีมีความต้องการในทุกเรื่องและทุกมิติในสัดส่วนที่สูง แต่จุดสังเกตที่น่าสนใจ คือ ไม่ว่าจะเซกเมนต์ไหนจุดชาร์จรถ EV กลายเป็นที่ต้องการในทุกเซกเมนต์ สะท้อนให้เห็นการเติบโตของตลาดรถ EV เริ่มเข้าถึงง่ายขึ้น จากเมื่อก่อนอยู่ในกลุ่มตลาดบน ปัจจุบันเริ่มเข้ามาในกลุ่มแมสมากขึ้น” สุมิตรา แห่งเทอร์ร่า มีเดีย ตั้งข้อสังเกต โดยแบ่งปัจจัยการเลือกที่อยู่อาศัยตามเซกเมนต์ต่อว่า

ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อบ้านกลุ่มพรีเมี่ยม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.บริการหลังการขาย 2.ระบบรักษาความปลอดภัย 3.สังคมเพื่อนบ้านที่ดี 4.สภาพแวดล้อม 5.พื้นที่ใช้สอยภายในที่อยู่ ต้องการครัวไทย สมาร์ทโฮมเพื่อความปลอดภัย ห้องนอนชั้นล่าง เผื่อไว้รับแขกหรือเผื่อกรณีคนในบ้านป่วยจะได้ไม่ต้องขึ้นชั้นสอง

ปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อบ้านในกลุ่มแมส 5 อันดับแรก จะมีความคล้ายกับกลุ่มพรีเมี่ยม ใน 2-3 ข้อแรก ต่างกันที่ 4.สนใจวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง 5.ราคา โดยในกลุ่มที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดต้องการฉากกั้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนและเตียง 6 ฟุต นั่นแสดงให้เห็นว่าการปรับขนาดห้องสำหรับคอนโดอาจจะต้องมีการเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์เรื่องพื้นที่ที่สะดวกสบายมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญในการเลือกบ้านในกลุ่มอีโคโนมี 5 อันดับแรก จะคล้ายกับกลุ่มพรีเมี่ยม แต่จะต่างกันในรายละเอียด คือ สนใจการใช้สมาร์ทโฮมเพื่อความปลอดภัย และต้องการครัวปิด

ทุกเจนมองว่าตัวเองมีคุณภาพชีวิตดี Gen Y ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยสูง
Baby Boomer สนใจคอนโด

สำหรับปีนี้เมื่อมีการวิเคราะห์พฤติกรรมแบ่งตามเจน มีจุดน่าสนใจมากมาก โดยพบว่าคนเกือบทุกเจเนอเรชั่นมองว่าภาพรวมคุณภาพชีวิตของตัวเองยังดีอยู่ แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันในแต่ละเจนกลับพบว่า GEN Z รู้สึกดีต่อคุณภาพชีวิตของตัวเองต่ำสุดเมื่อเทียบกับเจนอื่นๆ แต่พอใจในสังคมโซเชียลคอนเนคชั่น ในขณะที่ GEN Y, GEN X, GEN Baby Boomer สนใจเรื่องสุขภาพ โดยเมื่อแยกรายละเอียดลงไปในแต่ละเจเนอเรชั่น พบว่า...

GEN Z เป็นกลุ่มผู้ซื้อครั้งแรก มีความต้องการซื้อบ้านถึง 87% เพราะต้องการพื้นที่ส่วนตัว สนใจคอนโดมิเนียม สนใจบ้านที่มีนวัตกรรมที่มาอำนวยความสะดวก สนใจการก่อสร้างด้วยนวัตกรรมไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เน้นพลังงานสะอาด ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ต้องการที่อยู่อาศัยที่คุ้มค่าคุ้มราคา นั่นหมายความว่าถ้าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์กำลังทำตลาดคอนโด Gen Z คือกลุ่มเป้าหมาย

GEN Y : ไม่ใช่กลุ่มซื้อบ้านครั้งแรก สนใจบ้านเดี่ยวมากกว่าที่อยู่อาศัยแบบอื่น ต้องการระบบความปลอดภัยที่ทันสมัย การออกแบบเป็น Universal Design มีพื้นที่ส่วนกลาง 24 ชั่วโมง เนื่องจาก GEN Y เป็นกลุ่มเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ หลังเลิกงานยังต้องการเอ็นจอยไปกับการใช้ชีวิต จึงต้องการพื้นที่ส่วนกลาง 24 ชั่วโมง เพื่อให้มีพื้นที่และเวลามาพักผ่อนบ้าง

GEN X : กลุ่มที่เคยซื้อบ้านแล้วมามากกว่า 2 หลัง สนใจบ้านเดี่ยวมากกว่าที่อยู่อาศัยแบบอื่น ต้องการระบบความปลอดภัยที่ทันสมัย แต่แตกต่างคือต้องการการประหยัดพลังงาน มีคอมมูนิตี้มอลล์ในโครงการ เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการความสะดวกสบาย

Baby Boomer : สนใจทั้งบ้านและคอนโด แต่ความน่าสนใจที่ค้นพบจากการสำรวจครั้งนี้ คือ คนกลุ่ม Baby Boomer เริ่มสนใจคอนโด เริ่มอยากกลับมาอยู่คอนโด เพราะต้องการความสะดวกสบาย เดินทางไปไหนง่ายขึ้น เนื่องจากคนกลุ่มนี้โหยหาสังคม ชอบพบปะเพื่อนฝูง การอยู่คอนโดที่เดินทางสะดวกจึงกลับมาตอบโจทย์การใช้ชีวิต ที่สำคัญไม่อยากเดินขึ้นบันไดชั้นสอง สนใจส่วนกลางระบบความปลอดภัยที่ทันสมัย สนใจการส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรี สนใจเรื่องการประหยัดพลังงาน

พฤติกรรมผู้บริโภคแบ่งตามทัศนคติ : 4 กลุ่ม 4 คาแร็คเตอร์ 4 ความต้องการ

ทั้งนี้ทั้งนั้นกลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวโน้มซื้อบ้าน พวกเขาใช้ชีวิตต่างกัน ไลฟ์สไตล์ต่างกัน มีมายด์เซ็ตในการมองที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน จึงต่างมองหาที่อยู่อาศัยแตกต่างกัน ดังนั้นในเชิงการสื่อสารผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์สามารถเซ็ตจุดยืนของผลิตภัณฑ์แบ่งตามประเภทได้ว่า เมื่อพูดถึงบ้านพวกเขาจะมองหาความเป็น My Kingdom, ทาวน์โฮมคือ My Zone และคอนโดมิเนียม คือ My Area

และเหมือนเช่นทุกปีจากผลการสำรวจได้มีการวิเคราะห์ผู้บริโภค แบ่งตามทัศนคติและพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อให้สามารถมองภาพของพวกเขาได้ง่าย โดยสามารแบ่งออกมาได้ 4 กลุ่มพฤติกรรมหลักด้วยกัน ได้แก่

1. Mosest (35%) : กลุ่มที่พอใจกับชีวิตตัวเองในระดับปานกลาง เรียกง่ายๆ ว่าเป็นคนกลางๆ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็น Gen X และ Y สิ่งที่รู้สึกพอใจที่สุด คือ เรื่องสุขภาพไม่ต้องคอยกินยาหรือหาหมออยู่ตลอด

  • ฟังก์ชั่นที่จำเป็นสำหรับที่อยู่อาศัยในมุมมองของคนกลุ่มนี้ คือ นวัตกรรมจัดการคุณภาพอากาศ, ห้องนอนล่าง
  • ฟังก์ชั่นที่จำเป็นสำหรับคอนโดมิเนียม ได้แก่ วัสดุยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อโรค, ครัวปิด, สมาร์ทโฮม เพื่อความสะดวกสบาย, สมาร์ทโฮมเพื่อความปลอดภัย, ห้องลอฟท์เพดานสูง, Solar Cell, Double Volume และการออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ

2. Striver (30%) เป็นกลุ่มที่ยังมีไฟ ต้องการมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างในชีวิต คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็น Gen Y และ Z มุ่งแสวงหาความสําเร็จในชีวิต ไม่พึงพอใจกับรายได้ของตัวเอง รักการท่องเที่ยว เพื่อหาความสุขและประสบการณ์ใหม่ๆ แสวงหาความสำเร็จในชีวิต

  • ฟังก์ชั่นที่จำเป็นสำหรับที่อยู่อาศัยในมุมมองของคนกลุ่มนี้ คือ วัสดุยับยั้งแบคทีเรียและเชื้อโรค, นวัตกรรมจัดการคุณภาพอากาศ, สมาร์ทโฮมเพื่อความปลอดภัย, ครัวไทย
  • ฟังก์ชั่นที่จำเป็นสำหรับคอนโดมิเนียม ได้แก่ ประตูฉากกั้นห้องนอน, ครัวปิด, ระเบียงห้องนั่งเล่น, ระเบียงแบบ Semi Balcony, สมาร์ทโฮมเพื่อความปลอดภัย

3. Innocent (20%) เป็นกลุ่มที่เปิดรับทุกอย่างในชีวิต มีแทบทุกเจน พึงพอใจกับชีวิตของตัวเองมากที่สุด

  • ฟังก์ชั่นที่จำเป็นสำหรับที่อยู่อาศัยในมุมมองของคนกลุ่มนี้ คือ ได้แก่ นวัตกรรมจัดการคุณภาพอากาศ, ห้องนอนล่าง, สมาร์ทโฮมเพื่อความปลอดภัย, Double Volume, ครัวไทย
  • ฟังก์ชั่นที่จำเป็นสำหรับคอนโดมิเนียม ได้แก่ ประตูฉากกั้นห้องนอน ครัวปิดหน้าต่างบานใหญ่ สมาร์ทโฮมเพื่อความปลอดภัย ห้องนอนขนาดใหญ่ที่วางเตียง 6 ฟุตได้

4. Transcend (15%) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคน Baby Boomer และ Gen X เป็นกลุ่มที่ชีวิตในวันนี้ดีอยู่แล้ว แต่กำลังก้าวสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านอะไรบางอย่าง ต้องการให้อะไรบางอย่างกับตัวเองหรือสังคม เป็นเจนที่รู้สึกพึงพอใจกับชีวิตในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องเงินและรายได้ รวมถึงชีวิตสังคมรอบตัว เป็นสังคมที่ดี แต่มีความกังวลเรื่องสุขภาพ

  • ฟังก์ชั่นที่จำเป็นสำหรับที่อยู่อาศัยในมุมมองของคนกลุ่มนี้ คือ ห้องนอนล่าง, ครัวไทย, ที่ชาร์จรถ EV, สมาร์ทโฮมเพื่อความปลอดภัย, Double Volume
  • ฟังก์ชั่นที่จำเป็นสำหรับคอนโดมิเนียม ได้แก่ ห้องนอนขนาดใหญ่, ที่วางเตียง 6 ฟุตได้, หน้าต่างบานใหญ่, ห้องลอฟท์เพดานสูง

มุมมองที่มีต่อประสบการณ์ในเมตาเวิร์ส

สำหรับปีนี้มีความพิเศษขึ้นมาอีกขั้น เนื่องจากมีการเพิ่มคำถามในเรื่องประสบการณ์ในเมตาเวิร์สจากการสอบถามกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า กลุ่ม Gen Z มองว่าการเมตาเวิร์สจะมาแทนชีวิตจริงได้ต่ำมากเพียง 7% ตรงกันข้ามกับกลุ่ม Baby Boomer ที่มองว่าปรากฏการณ์เมตาเวิร์สจะเข้ามาแทนที่ชีวิตได้ถึง 33% ถือว่าเป็นผลการสำรวจที่เหนือความคาดหมายมาก และสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่ม Baby Boomer มีทัศนคติที่จะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ

โดยภาพรวมกลุ่มตัวอย่างมองว่าเมตาเวิร์สเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคสามารถเติมเต็มจินตนาการของพวกเขา สามารถทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง และแสดงออกถึงรูปแบบที่แตกต่างออกไป นั่นหมายความว่า ‘ผู้บริโภคไม่ได้มองหาโลกเสมือนในเมตาเวิร์ส’ แต่กำลังมองหา ‘โลกเหนือจินตนาการ’ หรือโลกที่พวกเขาไม่สามารถหาได้ในโลกจริงในเมตาเวิร์ส

นอกจากนี้ยังมองว่าเมตาเวิร์สเป็นวิธีที่รวดเร็วในการเชื่อมต่อกับผู้อื่นจากทุกที่ ทำให้โลกใกล้ชิดกันมากขึ้นในมิติต่างๆ ทั้งในเรื่องความบันเทิง ชีวิตการทำงาน และการลงทุน แต่มีข้อสังเกตว่าในเชิงการลงทุน เมตาเวิร์สยยังได้รับความสนใจต่ำ เนื่องจากแพลตฟอร์มค่อนข้างใหม่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทำให้ผู้บริโภคไม่นิยมลงทุนเงินจำนวนมากในแพลตฟอร์มลักษณะนี้ เพราะมองว่ายังมีความเสี่ยงเกินไปที่จะลงทุนในเมตาเวิร์ส

ในทางกลับกันเมื่อมามองโลกแห่งความจริง ผู้บริโภคส่วนใหญ่มองโลกแห่งความเป็นจริงกับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2565 พบว่ามีสัญญาณดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปี 2565 อยู่ที่ 79.3 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 45.4 จากข้อมูลพบว่ากลุ่มเจ้าของกิจการมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่าปี 2565 สถานะทางการเงินดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเชื่อมั่นว่าในอีก 1 ปีข้างหน้าภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น อสังหาฯหรือรถยนต์ เป็นต้น

จากชุดการวิจัยชุดนี้ เชื่อว่าจะเป็นอีกเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานและกำหนดแนวทางการพัฒนาวงการอสังหาริมทรัพย์ไทย เพื่อก้าวข้ามความท้าทายใหม่ๆ