ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) ได้รวบรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยมือสองทั่วประเทศ จากการประกาศขายผ่านเว็บไซต์บริษัทภาคเอกชนที่มีปริมาณการประกาศขายเป็นจำนวนมาก และข้อมูลที่อยู่อาศัยมือสองของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชน บริษัทบริหารสินทรัพย์ภาครัฐและเอกชน และกรมบังคับคดี ที่ประกาศขายผ่านเว็บไซต์ตลาดนัดบ้านมือสอง (www.taladnudbaan.com) เพื่อให้ได้ข้อมูลอุปทานที่อยู่อาศัยมือสองที่ครอบคลุมในตลาดมากที่สุด

            ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ตลาดที่อยู่อาศัยมือสองทั่วประเทศ ในไตรมาส 2 ปี 2565 มีจำนวนหน่วยเฉลี่ยต่อเดือนมากถึง 162,716 หน่วย และมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนมากถึง 995,488 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนหน่วยและมูลค่าที่สุดในช่วง 6 ไตรมาสที่ผ่านมา และมีการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ถึง 17.9% โดยมีการเพิ่มมากขึ้นในเกือบทุกประเภทที่อยู่อาศัย

 การสำรวจยังพบว่า ประเภทบ้านมือสองที่มีการประกาศขายมากที่สุดได้แก่ บ้านเดี่ยว จำนวน 64,392 หน่วย รองลงมาคือ ห้องชุด จำนวน 49,250 หน่วย และทาวน์เฮ้าส์ จำนวน 42,626 หน่วย ทั้งนี้ประเภทที่มีการขยายตัว QoQ  สูงสุดคือ ห้องชุด เพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 21.1% รองลงมา คือ อาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้น 19.9% ทาวน์เฮ้าส์ เพิ่มขึ้น 17.1% และบ้านเดี่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6% แต่บ้านแฝด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9%

นอกจากนี้ พบว่า บ้านมือสอง ที่ประกาศขายในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 พบว่า ระดับราคาไม่เกิน 1.00 ล้านบาท เป็นระดับราคาที่มีสัดส่วนประกาศขายมากที่สุด รองลงมาเป็นระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท และเป็นระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท ตามลำดับ แต่มีข้อสังเกตว่า ระดับราคาที่มีอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ระดับราคาไม่เกิน 1.00 ล้านบาท มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) สูงถึง 56.1% รองลงมาคือ ระดับราคา 1.01 – 1.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% และ ระดับราคา 1.51 – 2.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.3% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า บ้านมือสองในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเป็นกลุ่มที่มีการประกาศขายมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งให้สิทธิครอบคลุมมาถึงที่อยู่อาศัยมือสองด้วย และสอดคล้องกับความสามารถของผู้ซื้อลดลง

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ เผยว่า สำหรับทำเลที่มีการประกาศขายบ้านมือสองมากที่สุด 10 จังหวัดแรก  ในไตรมาส 2 ปี 2565 คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต ชลบุรี สุราษฎร์ธานี ปทุมธานี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ และนครราชสีมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าจะอยู่ในจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีการพัฒนาบ้านใหม่มากในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จังหวัดเดียวมีสัดส่วนจำนวนหน่วย 38.6% และสัดส่วนมูลค่า 62.2% ของการประกาศขายทั้งหมด ขณะที่อันดับที่ 2 – 10 มีสัดส่วนจำนวนหน่วยและมูลค่าไม่ถึง 10%  เมื่อเทียบกับมูลค่าและจำนวนหน่วยทั่วประเทศ แต่ 10 จังหวัดนี้ มีมูลค่ารวมกันมากถึงร้อยละ 90.2 ส่วนจังหวัดที่เหลืออีก 67 จังหวัด มีสัดส่วนมูลค่ารวมกันเพียงร้อยละ 9.8 (มีสัดส่วนจำนวนหน่วยรวมกันร้อยละ 27.5) อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ของมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ชลบุรี มีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 20.6 รองลงมาคือ สมุทรปราการ ร้อยละ 9.3 และ กรุงเทพมหานคร 6.6  โดยมีจังหวัดอื่นๆ มีอัตราการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 12.3 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในจังหวัดรองต่าง ๆ ก็มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเช่นกัน

ตารางที่ 1 จำนวนหน่วยและมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนของที่อยู่อาศัยมือสองที่ประกาศขาย ทั่วประเทศ