“WHA Group” โชว์งบ 6 เดือนแรก กวาดกำไรปกติ 992.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112.8% ส่งซิก Q3 จ่อเซ็นสัญญาขายที่ดินเพิ่ม 600 -700 ไร่ พร้อมประกาศขับเคลื่อนธุรกิจ สู่ Net Zero ในปี 2050

บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA Group  ประกาศผลการดำเนินงานงวด 6เดือนแรกปี 2565 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไร 4,369.0 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 945.7 ล้านบาท โดยเป็นรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 4,403.4 ล้านบาท และกำไรปกติ 992.0 ล้านบาท โดยกำไรปกติเพิ่มขึ้น 112.8% จากช่วง 6 เดือนแรกปีก่อน พร้อมระบุครึ่งปีหลัง ภาพธุรกิจสดใส ส่งซิกไตรมาส 3/2565 จ่อเซ็นสัญญาขายที่ดินลูกค้ารายใหญ่ เพิ่มเติมอีก 600-700 ไร่ และอยู่ระหว่างเจรจาซื้อที่ดินรวม 2,000-3,000 ไร่ ในขณะที่ธุรกิจด้านโลจิสติกส์ยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยครึ่งปีแรกโกยโครงการใหม่เพิ่มเติมเกือบ 100,000 ตารางเมตร ด้าน Group CEO “จรีพร จารุกรสกุล” ประกาศเป้าหมายสู่ Net Zero มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง SBTi ผ่านการขับเคลื่อนธุรกิจในเครือ

บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “WHA Group” รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรและกำไรสุทธิทั้งสิ้น 2,186.8 ล้านบาท และ 289.6 ล้านบาท ตามลำดับ โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 2,238.9 ล้านบาท และกำไรปกติ 338.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.3% และ 20.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2564

ส่วนผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรทั้งสิ้น 4,369.0 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 945.7 ล้านบาท โดยหากพิจารณาถึงผลประกอบการปกติ บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรปกติ 4,403.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.6% และกำไรปกติ 992.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112.8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นการสะท้อนศักยภาพการเติบโตของผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งจากทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลจากการขับเคลื่อนของทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ที่มีการเติบโตสอดรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้ภาคการลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลเชิงบวกต่อภาพรวมธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่สะท้อนถึงผลประกอบการของ 4 กลุ่มธุรกิจ

ธุรกิจโลจิสติกส์ มีผลงานการดำเนินงานเติบโตอย่างโดดเด่น โดยในครึ่งปีแรก 2565 บริษัทฯ มีการลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit และโรงงาน/ คลังสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มเติมรวม 111,136 ตารางเมตร โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาเช่าโครงการ Built-to-Suit รวม 87,946 ตารางเมตร กับลูกค้ารายใหญ่ อาทิ กลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และกลุ่มโลจิสติกส์

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีสัญญาเช่าระยะสั้น ที่ให้ผลตอบแทนสูงรวม 96,071 ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 96 ของเป้าหมายสัญญาให้เช่าพื้นที่ระยะสั้น ซึ่งในปี 2565 ได้กำหนดไว้ 100,000 ตารางเมตร ส่งผลให้ครึ่งปีแรก บริษัทฯ มีพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครอง และบริหารทั้งหมด 2,683,502 ตารางเมตร และจากความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าคุณภาพสูงที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้อัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) ของบริษัทฯ ในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 แตะที่ระดับประมาณร้อยละ 90 ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ทั้งสิ้น 284.3 ล้านบาท และ 512.8 ล้านบาท ตามลำดับ

จากการที่ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ปรับตัวอย่างโดดเด่นในครึ่งปีแรก ส่งผลให้บริษัทฯ คาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมฯ ดังกล่าวในช่วงครึ่งปีหลังว่า จะมีดีมานด์การเติบโตอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก เนื่องจาก บริษัทฯ มีการเซ็นสัญญาเช่ากับลูกค้ารายใหม่ทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการส่งมอบพื้นที่เช่าให้กับลูกค้าได้ตามแผนงานที่วางไว้ แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนวัสดุก่อสร้างจะปรับตัวสูงขึ้น แต่บริษัทฯ มีการบริหารต้นทุนที่ดีรวมถึงได้มีการทำสัญญาซื้อขายและกำหนดราคาล่วงหน้ากับผู้รับเหมาไว้แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าก่อสร้าง และค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ แต่อย่างใด

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม จากนโยบายเปิดประเทศและมาตรการปลดล็อคการเดินทาง ส่งผลให้ลูกค้าชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาทำธุรกิจ เยี่ยมชม และซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ได้โดยสะดวก โดยกลุ่มนักลงทุนหลักในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าชาวจีน และสหรัฐฯ จากหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นต้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตในครึ่งปีแรก 2565 โดยบริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 513 ไร่ แบ่งเป็นยอดขายที่ดินในประเทศไทย 482 ไร่ และประเทศเวียดนาม 31 ไร่ อีกทั้งมียอด MOU รวม 230 ไร่ แบ่งเป็นในประเทศไทย 48 ไร่ และประเทศเวียดนาม 182 ไร่ โดยในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมรวม 704.0 ล้านบาท และ 1,398.0 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ยอดขายที่ดินที่ปรับตัวดีขึ้นนี้ สอดคล้องกับภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย

“ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการขยายและก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ขนาดพื้นที่จำนวน 1,281 ไร่ บนทำเลที่ตั้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงแผนการขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เฟส 2 เพิ่มอีก 580 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 จำนวน 1,100 ไร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ขายและรองรับความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ในอนาคต ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า มาตรการจูงใจด้านเงินอุดหนุนและการลดภาษีเพื่อหนุนการเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า และนโยบายผลิตรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ (zero-emission vehicle) ของภาครัฐก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้ผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์เพิ่มการลงทุน หรือใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลบวกต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในฐานะที่บริษัทฯ มีลูกค้ากลุ่มยานยนต์มากกว่าร้อยละ 30 อีกด้วย”

พร้อมทั้งประเมินว่า ภาพรวมธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีหลัง จะสามารถเติบโตได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก รวมถึงมียอดขายสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยทางจิตวิทยาเชิงบวก ภายหลังความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ-จีน-ไต้หวัน ที่มีแนวโน้มตึงเครียดมากยิ่งขึ้น และเป็นแรงผลักดันให้เกิดการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้รับการติดต่อจากนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่ขอเข้ามาเยี่ยมชมนิคมฯ เพื่อการลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยเบื้องต้นคาดว่า ภายในไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทฯ จะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินเพิ่มเติมอีกว่า 600-700 ไร่กับลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายที่ดินรอการส่งมอบ (Backlog) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่กว่า 1,000 ไร่ และคาดว่าจะสามารถส่งมอบและรับรู้รายได้บางส่วนภายในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ นอกจากนั้น บริษัทฯ ยังได้มีการเจรจากับนักลงทุนอีกหลายรายที่มีความต้องการที่ดินรวมกันมากกว่า 2,000-3,000 ไร่

ด้านธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ในประเทศเวียดนาม ครึ่งปีแรก 2565 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 31 ไร่ และยอด MOU รวม 182 ไร่ สอดคล้องกับปัจจัยหนุนจากภาวะเศรษฐกิจมหภาคและการลงทุนในประเทศเวียดนามที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังการกลับมาเปิดประเทศ และมีโอกาสขยายตัวสูงจากการเติบโตของ GDP และยอด FDI ของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนทำให้ยอดขายนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นในอนาคต ปัจจุบันเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดีด้วยจำนวน Enquiry ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง บริษัทฯ จึงเร่งพัฒนาเฟสที่ 2 บนพื้นที่กว่า 2,200 ไร่ โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ พื้นที่รวมทั้งเฟส 1 เฟส 2 และส่วนต่อขยายของเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน จะมีพื้นที่รวมทั้งสิ้นกว่า 11,550 ไร่

นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเวียดนาม ยังส่งผลทำให้เกิดความต้องการที่ดินภายในเขตอุตสาหกรรมคุณภาพสูงอีกจำนวนมาก ส่งผลให้บริษัทฯ เร่งพัฒนาโครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มเติมในจังหวัด Than Hoa

ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภครวมในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 เท่ากับ 663.2 ล้านบาท และ 1,285.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3% และ 8.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทฯ มีปริมาณยอดขายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมสำหรับไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 เท่ากับ 39.4 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 75.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามลำดับ และมีปริมาณการจำหน่ายน้ำภายในประเทศ สำหรับไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 รวม 32.4 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 62.3 ล้านลูกบาศก์เมตร ปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ สะท้อนถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ากลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะ Gulf SRC ที่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม

ขณะที่ ธุรกิจน้ำในประเทศเวียดนาม โครงการ ดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) ในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ มียอดจำหน่ายน้ำรวม ตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 6.7 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 12.2 ล้านลูกบาศก์เมตร ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้น้ำจากทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ รวมถึงการที่สถานการณ์โควิด-19 ในจังหวัดฮานอยคลี่คลายลง

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีปริมาณยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value-Added Products) ใน ไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 รวม 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตร และ 2.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายใต้ความมุ่งมั่นพัฒนาและเปิดดำเนินการโครงการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายกับ Gulf SRC ที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยการผลิตที่ 3 และ 4 ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 และส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มเติมอีกกว่า 1.4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกเหนือจากการขยายฐานลูกค้าสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำประเภท Conventional ท้้งน้ำดิบ และน้ำอุตสาหกรรมทั่วไป อีกทั้งบริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ Value-Added Product ได้แก่ น้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ที่ได้จากกระบวนการ recycle น้ำเสีย เพื่อช่วยเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย

สำหรับแผนงานการเติบโตนอกนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอนั้น ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการลงนามสัญญาร่วมมือกับนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนสำหรับผลิตและจำหน่ายน้ำประเภท Value - Added Product ให้กับลูกค้าที่เป็นโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย โดยเฟสแรกมีกำลังการผลิตประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินงานเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2565

นอกจากการลงทุนเพิ่มยอดจำหน่ายน้ำแล้ว บริษัทฯ ยังมีการลงทุนในการจัดหาแหล่งน้ำดิบทางเลือกอื่นๆ อาทิ การขุดอ่างเก็บน้ำเพิ่ม เพื่อลดการพึ่งพาการจัดซื้อน้ำดิบจากผู้จำหน่ายหลัก รวมถึงเป็นการลดต้นทุนในการจัดหาน้ำดิบ โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตของแหล่งน้ำดิบทางเลือกอีกอย่างน้อย 11 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี

“โครงการที่ประเทศเวียดนาม บริษัทฯ มีการขยายการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล โซน เหงะอาน เฟสที่ 2 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 หลังจากเฟสที่ 1 พัฒนาแล้วเสร็จ และพร้อมให้บริการแก่ลูกค้าภายใน เขตอุตสาหกรรม เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่ทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโครงการประปา SDWTP และ Cua Lo ที่จะมีการลงทุนในส่วนของการวางท่อเพิ่มเติม เพื่อขยายการบริการแก่ลูกค้าเช่นเดียวกัน”

ในส่วนของ ธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมกำไร / ขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้จากธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในไตรมาส 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2565 เท่ากับ 290.7 ล้านบาท และ 383.4 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 ส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าแต่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรปกติจากโรงไฟฟ้า GHECO-One ที่เพิ่มขึ้นจาก จำนวนวันหยุดซ่อมบำรุงที่ลดลง และส่วนแบ่งกำไรปกติจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากค่า Ft ที่เริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ลดผลกระทบทางลบจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้บางส่วน ทั้งนี้คาดว่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติในครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเพิ่มเติม โดยหากมีการปรับเพิ่มค่า Ft ตามที่ กกพ. ได้ประกาศออกมาจะช่วยสะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้น และช่วยลดปัจจัยลบที่มีต่อยอดขายส่วนลูกค้าอุตสาหกรรมของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ที่เห็นได้ชัดในช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้

สำหรับ ธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไตรมาส 2 ปี 2565 บริษัทฯ มีการเซ็นสัญญาโครงการโซลาร์รูฟท็อปเพิ่ม จำนวน 13 สัญญา แบ่งเป็นโครงการ Private PPA จำนวน 10 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 21 เมกะวัตต์ และโครงการ EPC service จำนวน 3 สัญญา กำลังการผลิตรวมประมาณ 3 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ ณ ไตรมาส 2 ปี 2565 บริษัทฯ มีจำนวนเซ็นสัญญาโครงการ Private PPA สะสมจำนวน 125 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ สามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับลูกค้าเพิ่มเติมอีก 2 เมกะวัตต์ ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตโครงการโซลาร์ ที่เปิดดำเนินเชิงพาณิชย์แล้วรวม 62 เมกะวัตต์ โดยครึ่งปีแรก 2565 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 612 เมกะวัตต์

โดยล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถ (Solar Carpark) ให้กับบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ จำกัด กำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 7.7 เมกะวัตต์ บนพื้นที่หลังคารวม 59,000 ตารางเมตร นับเป็นโครงการ Solar Carpark ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 235 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการติดตั้งแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าเพื่อเตรียมการสู่อนาคตสำหรับธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ได้แก่ บมจ.ปตท. “PTT” และ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด “Sertis” ในการพัฒนา Peer-to-Peer Energy Trading Platform ภายใต้ชื่อ “RENEX” เพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ โดยนำเทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ Blockchain มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงานระหว่างผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ “RENEX” ได้รับการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของ ERC Sandbox หรือ โครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อม ในการทดลองให้บริการซื้อขายเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะเริ่มขึ้นภายในไตรมาส 3 ปี 2565 โดยระบบการซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว เมื่อพัฒนาเสร็จแล้วเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้พอร์ตพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเป็น Clean Energy Trader ในโครงการทดลองนำร่องดังกล่าวจำนวนมากกว่า 23 ราย

ธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม บริษัทฯ เดินหน้าสนับสนุนนักลงทุนที่ต้องการนำเทคโนโลยี 5G เข้ามาพัฒนาธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการติดตั้งโครงข่ายสายเคเบิล ใยแก้วนำแสง (FTTx) ภายในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ให้ครบทั้ง 11 แห่งภายในปีนี้ โดยบริษัทฯ มีการเตรียมความพร้อม เพื่อให้สามารถเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ด้วยแผนงานด้าน 'นวัตกรรมและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน' ตลอดจนวางกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้า และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดตัวแอปพลิเคชัน WHAbit ที่ให้บริการร่วมกับ Samitivej Virtual Hospital ของโรงพยาบาลสมิติเวช เพื่อให้คำปรึกษาแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การตรวจสุขภาพ (Health Check-up) และสมาร์ทคลินิก สำหรับพนักงานและลูกค้าทั้งหมดในนิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์เซ็นเตอร์ และอาคารสำนักงานของบริษัทฯ

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังให้การสนับสนุนการแข่งขัน World RoboCup 2022 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยงานดังกล่าวเป็นการส่งเสริมทักษะด้านหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ให้กับคนรุ่นใหม่ นับเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการส่งเสริมการวิจัยด้านวิทยาการหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรด้านไอที เพื่อสร้างสรรค์โซลูชันนวัตกรรมช่วยเพื่อความสามารถในการผลิต และความปลอดภัยในทุกภาคส่วน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฯ ยังได้กล่าวตอกย้ำอีกว่า บริษัทฯ ยังมีแผนการเข้าลงทุน และต่อยอดความร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด บริษัท ดับบลิวเอชเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WHAVH ได้เข้าลงทุนในบริษัท เมอร์คูลาร์ (Mercular) สตาร์ทอัพ Vertical E-Commerce สัญชาติไทย ผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Hobby Lifestyle และ Community Commerce เพื่อจำหน่ายสินค้าเฉพาะทาง อาทิ หูฟัง ลำโพง เกมมิ่งเกียร์ โต๊ะคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์งานอดิเรก และอื่นๆ โดยการเข้าลงทุนครั้งนี้ จะช่วยให้เมอร์คูลาร์ (Mercular) สามารถผสานห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เข้ากับระบบนิเวศด้านโลจิสติกส์ที่ครบทุกมิติของกลุ่มดับบลิวเอชเอ ทั้งในส่วนคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าระดับพรีเมียม รวมถึงการเป็นช่องทางให้บริษัทฯ และกลุ่มดับบลิวเอชเอสามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ และเข้าไปมีบทบาทในธุรกิจ B2C ให้มากขึ้น รวมถึงยังสามารถต่อยอดความร่วมมือด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพผ่าน บริษัท จิซทิกซ์ จำกัด (Giztix) สตาร์ทอัพด้าน E-Logistics ที่บริษัทฯได้เข้าลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญด้านบริการขนส่งพัสดุ ที่เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง (Last Mile Delivery)

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าภายใต้สภาวะแวดล้อมการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง โดยบริษัทฯ ได้เปิดตัว WHA Office Solutions อาคารสำนักงานให้เช่าบนหลากหลายทำเลทั่วกรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรที่กำลังมองหาพื้นที่การทำงานแบบยืดหยุ่น อาทิ โครงการ WHA Tower อาคารสำนักงานสูง 25 ชั้น พื้นที่เช่า 52,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในย่านบางนา-ตราด ปัจจุบันมีอัตราการเช่าพื้นที่ประมาณร้อยละ 50 และมีกลุ่มลูกค้าทยอยลงนามสัญญาเช่าพื้นที่เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โครงการ WHA KW อาคารสำนักงานโลว์ไรส์ บนพื้นที่ 9,900 ตารางเมตร ตั้งอยู่มุมถนนสุขุมวิท ซอย 25 ย่านสุขุมวิท-อโศก สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลัก โดยปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566

ส่วนกรณีแผนการเตรียมขายทรัพย์สิน และ/หรือ สิทธิการเช่าทรัพย์สินให้กับกองทรัสต์ ในปี 2565 นั้น ล่าสุดผู้ถือหน่วยกองทรัสต์ WHART และกองทรัสต์ WHAIR ได้มีมติอนุมัติให้ทำการลงทุนทรัพย์สินเพิ่มเติมเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจำหน่ายทรัพย์สินคิดเป็นพื้นที่เช่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 208,149 ตารางเมตร มูลค่าประมาณ 5,397 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/2565 ตามแผนงานที่วางไว้ ขณะเดียวกัน กองทรัสต์ WHART ได้รับคัดเลือกจากสถาบันไทยพัฒน์ ให้เป็น 1 ในหลักทรัพย์กลุ่ม ESG100 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เนื่อง จากมีการดำเนินงานที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental Social and Governance: ESG) ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นการการันตีให้เห็นถึงศัยภาพความมุ่งมั่น และตอกย้ำว่า WHART เป็นกองทรัสต์ Industrial ที่มีมูลค่าทรัพย์สินมากที่สุดในไทย (ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565)

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า บริษัทฯ ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจพร้อมกับการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนร่วมกันกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย โดยให้ความสำคัญทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล บริษัทฯ มุ่งมั่นแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยการลดการสร้างผลกระทบเชิงลบ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบัน สอดรับกับการศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเป็นการผลักดันการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทฯ เพื่อมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ตามแนวทาง SBTi (Science Based Targets Initiative) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของโลกและประเทศไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ