กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เเดินหน้าลดใช้พลังงาน อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 500 ล้านบาท ผ่าน 3 โครงการสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน พร้อมโชว์ผลการดำเนินงานที่เกิดจากการลงมือทำแล้ว ผ่าน การลดใช้พลังงานในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง ลดการนำเข้าพลังงานได้กว่า 84 ktoe หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,260 ล้านบาท/ปี

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า จากปัญหาการใช้พลังงานภายในประเทศที่ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน รัฐบาลได้ประกาศให้การลดใช้พลังงานเป็นวาระสำคัญของประเทศที่ให้ทุกภาคส่วนลดการใช้พลังงาน พพ.ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ได้จัดทำมาตรการสนับสนุนการประหยัดพลังงาน ในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง เพื่อให้ประเทศชาติผ่านพ้นวิกฤติพลังงานในสถานการณ์ปัจจุบัน

โดย พพ.ได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมการประหยัดพลังงานในระดับธุรกิจ ผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ใช้งบประมาณรวม 500 ล้านบาท ให้การสนับสนุนเงินลงทุน (20-30%) ในการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์ในโรงงานและอาคาร ปรับปรุงอุปกรณ์และระบบบริหารจัดการสำหรับการขนส่งสินค้า และการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดต้นทุน ซึ่งได้รับความสนใจจาก ผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 900 ราย มีผลประหยัดพลังงาน 84 ktoe หรือกว่า 1,260 ล้านบาทต่อปี โดยผลการดำเนินงานของแต่ละโครงการประกอบด้วย

1.โครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 พพ.ได้เข้าไป สนับสนุนค่าลงทุนบางส่วน 20% -30% ในการปรับเปลี่ยน ปรับปรุงเครื่องจักร อุปกรณ์ ให้แก่โรงงาน SMEs Startup ผู้ประกอบกาภาคเกษตร วงเงินสนับสนุนรวม 378 ล้านบาท มีสถานประกอบการได้รับการสนับสนุน 457 ราย ก่อให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างน้อย 2,095 ล้านบาท ผลประหยัดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 20 ktoe ต่อปี หรือคิดเป็นเงินที่ประหยัดได้เกือบ 1,000 ล้านบาท สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 120,000 tCO2

2.โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ปี 2564 พพ. สนับสนุนค่าลงทุน 30% หรือไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย มีผู้ได้รับการสนับสนุน 21 ราย คิดเป็นวงเงิน 20 ล้านบาท มีผลประหยัดพลังงาน 1.89 ktoe หรือคิดเป็นเงิน 36 ล้านบาทต่อปี ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6,000 tCO2 และกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนได้กว่า 72 ล้านบาท

3.โครงการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนในภาคความร้อน วงเงินสนับสนุน 103 ล้านบาท ปัจจุบันมีผู้ผ่านการพิจารณา 46 ราย เพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในภาคความร้อน แบ่งเป็น ชีวมวล 60 ktoe และก๊าซชีวภาพ 2 ktoe เทียบเท่ากับ 220,000 ตันต่อปี

 

ดร.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)  ยังได้มีการดำเนินการเพื่อลดการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม อาทิ

  • การให้โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม รวมกว่า 9,500 แห่ง จัดส่งรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ปี 2564 มีเป้าหมายประหยัดพลังงานไม่น้อยกว่า 267 ktoe คิดเป็นเงินจำนวน 6,675 ล้านบาท 
  • การจัดทำ e-Service การบริการภาครัฐอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถยื่นคำขอและรับแจ้งผลการพิจารณาได้อย่างสะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน ลดการใช้พลังงาน ทั้งด้านเอกสารที่เป็นกระดาษ การเดินทางมายื่นด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ และลดระยะเวลาดำเนินการ
  • การเปิดหลักสูตรอบรมออนไลน์ให้กับผู้รับผิดชอบด้านพลังงานในกลุ่มโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ที่ยังไม่มีหรือยังมีไม่ครบตามกฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)  ยังได้จัดทำ มาตรการช่วยเหลือหน่วยงานราชการให้ลดการใช้พลังงาน 20% ในอาคารราชการเข้าข่ายควบคุมจำนวน 900 แห่ง และอาคารราชการนอกข่ายควบคุม จำนวน 8,062 แห่ง โดยมีมาตรการ อาทิ ด้วยการสนับสนุนให้มีการกระตุ้นเตือน การอบรมผู้รับผิดชอบด้านพลังงานแบบออนไลน์ ให้คำปรึกษาเชิงรุกในการจัดการพลังงาน จัดตั้งศูนย์Hotline ให้คำปรึกษาการจัดการพลังงานตามกฎหมาย สัมมนาชี้แจงการดำเนินมาตรการลดใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ ให้คำแนะนำโดยศูนย์บริการวิชาการทั้ง 10 แห่งทั่วประเทศ เป็นต้น

“การประหยัดพลังงานเป็นวิธีดีที่สุดในขณะนี้ ในการที่จะต่อสู้กับสถานการณ์ วิกฤติพลังงานให้ผ่านพ้นไปได้ เพราะการประหยัดพลังงานเป็นสิ่งที่ทำได้ทันทีและเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว”  และยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงิน เป็นอย่างดี