บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2565 เผยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น แต่ต้องจับตาการระบาดของโควิดโอไมครอนในช่วงไตรมาส 1 ที่กระทบต่อฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวล่าช้าออกไป และยังคงการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีที่น่าจะโตได้ที่ระดับ 3.9% ภายใต้สมมุติฐานนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 5.8 ล้านคน

 

         

           ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2565 เผยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเศรษฐกิจน่าจะเริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก โดยความกังวลเรื่องการระบาดของเชื้อโอไมครอนในไตรมาสหนึ่ง น่าจะมีผลกระทบในช่วงสั้น ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวล่าช้าออกไป แต่น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และยังคงการคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีที่น่าจะโตได้ที่ระดับ 3.9% ภายใต้สมมุติฐานนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 5.8 ล้านคน

 

           ในภาพรวม ปี 2565 มีแนวโน้มที่ต้องจับตามองในหลายด้าน คือ  โควิดน่าจะค่อย ๆ เปลี่ยนกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งการเร่งฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรค และผลกระทบของการระบาด ทำให้เศรษฐกิจเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติได้มากขึ้น รวมถึงสภาพคล่องโลกมีแนวโน้มลดลงและอัตราดอกเบี้ยโลกกำลังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังแรงกดดันเงินเฟ้อโลกที่สูงกว่าคาด กดดันให้ธนาคารกลางใหญ่ๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเริ่มถอนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน ต้นทุนทางการเงิน เงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย และเศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงฟื้นตัวได้ช้ากว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คาดจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังการอุปสงค์ในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมา แต่การฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอน และยังไม่ทั่วถึง

 

ซึ่งเงินเฟ้อในประเทศไทยมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นถึง 3.5% ในไตรมาสหนึ่ง จากต้นทุนพลังงานและราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อค่าครองชีพโดยเฉพาะของผู้มีรายได้น้อย 

ในฝั่งนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังคงให้ความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเกือบตลอดทั้งปี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยภายนอกและภายในประเทศ จะทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ยังมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

และยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ด้าน คือ การระบาดและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส อาจจะทำให้การระบาดใหญ่ยังคงมีอยู่ต่อไป กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จากปัญหาภาคอสังหาฯ และการควบคุมวิกฤตโควิด อาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกที่มีโอกาสชะลอตัวลง และหากอัตราเงินเฟ้อโลกไม่ปรับตัวลดลงตามคาด อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยและถอนการกระตุ้น มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งจะส่งกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังต้องจับตาประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วโลกได้