กระทรวงการคลัง เปิด มาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 (มาตรการของขวัญปีใหม่ 2565) หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบและรับทราบมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 (มาตรการของขวัญปีใหม่ 2565) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 เพื่อเป็นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้ต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน – จดจำนอง เหลือ0.01%  ต่ออีก 1 ปี จนถึง 31 ธ.ค. 65

              นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ปรับตัวดีขึ้นและจำนวนผู้ได้รับวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนของการใช้จ่ายภายในประเทศและการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ให้ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี

 

               "ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ส่งเสริมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประชาชน รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID–19 ครม. จึงได้ขยายเวลามาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย

                 โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนจากร้อยละ 2 ลงเหลือร้อยละ 0.01 และลดค่าธรรมเนียมการจำนองจากร้อยละ 1 ลงเหลือร้อยละ 0.01 (เฉพาะการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกัน) สำหรับที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ เฉพาะที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ทั้งนี้ มาตรการจะมีผลบังคับใช้สำหรับการโอนและจดจำนองตั้งแต่วันถัดจากวันที่เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษา ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 จากเดิมที่มาตรการนี้จะหมดอายุในปี 2564" 

 

                นอกจากนี้ยังมีมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ประชาชน อาทิ มาตรการช้อปดีมีคืน ปี 2565, มาตรการลดภาระผู้ประกอบการและ/หรือประชาชน อาทิ มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตขายสุรา ยาสูบและไพ่ ตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560, มาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น, มาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้, มาตรการการเงิน ได้แก่ โครงการของขวัญปีใหม่ปี 2565 ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

ทิศทางการบริหารเศรษฐกิจของกระทรวงการคลังเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ปี 2565 จะให้ความสำคัญ ดังนี้  

1. การรักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยจะมีการประเมินและปรับปรุงรูปแบบมาตรการที่เหมาะสม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

2. การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ ทั้งในด้านการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งภาครัฐจะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวนกว่า 1.18 ล้านล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมทั้งการสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 10 จังหวัด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น

3. การส่งเสริม SMEs และ Startup ทั้งในส่วนของการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยอาศัยกลไกของตลาดเงิน ตลาดทุน และการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ

4. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจตาม BCG Model (Bio-Circular-Green Economic Model) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยกระทรวงการคลังจะสนับสนุนโครงการต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่สังคมพลังงานสะอาด เช่น มาตรการส่งเสริมให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) การออก Sustainability Bond เพื่อนำเม็ดเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้สำหรับโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือโครงการเพื่อการพัฒนาสังคม เป็นต้น

5. การสนับสนุนการส่งออกและนำเข้าสินค้า โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วในการส่งออกและนำเข้าสินค้า เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจของผู้ส่งออกและนำเข้า

6. การส่งเสริม Digital Government ในการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระทรวงการคลังได้พัฒนาต่อยอดระบบงานต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งขยายขอบเขตการใช้ Digital ทั้งในด้านการบริหารจัดการของภาครัฐ เช่น ระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดเก็บภาษี รวมทั้งการให้บริการด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว โปร่งใส และประหยัดเงินงบประมาณ เป็นต้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่า การดำเนินการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจการคลังไทยฟื้นตัวอย่างมั่นคงและยั่งยืน