"ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์" เผยสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัด EEC กลุ่มจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) มีการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID -19 ซึ่งมีผลต่อกำลังซื้อและความมั่นใจในการซื้อที่อยู่อาศัยของจังหวัดในกลุ่มพื้นที่ EEC เป็นอย่างมาก

            ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยใน EEC ช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 และครึ่งแรกปี 2564  พบว่า ในไตรมาส 2 ปี 2564 มีการชะลอตัวของทางด้านอุปทาน โดยการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ลดลงร้อยละ -1.3 แต่ด้านการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในไตรมาส 2 ปี 2563 ซึ่งเป็นระยะแรกของการเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19  (ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 มีการออกใบอนุญาตจัดสรรต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ถึงร้อยละ -52.8 หรือที่เคยอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 5,700 หน่วยต่อไตรมาส)

            ส่วนด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่สะท้อนกำลังซื้อที่อยู่อาศัยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยจำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -10.4 และมูลค่าลดลงร้อยละ -8.0  ด้านภาพรวมสถานการณ์ในช่วงครึ่งแรกปี 2564 เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ถึงสองระลอก ส่งผลให้ทั้งอุปทานและอุปสงค์ของตลาดที่อยู่อาศัยหดตัวลง โดยอุปทานการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินลดลงทั้งจำนวนโครงการและจำนวนหน่วย ร้อยละ -22.8 และร้อยละ -15.7 ตามลำดับ

            แต่ด้านการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำมากในช่วงที่ไม่ปกติ ส่วนด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า โดยจำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -21.9 และมูลค่าลดลงร้อยละ -18.1 ตามลำดับ

            ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกปี 2564 มีโครงการที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินจากกรมที่ดินจำนวน  71 โครงการ 7,090 หน่วย ลดลงทั้งจำนวนโครงการและจำนวนหน่วย โดยลดลงร้อยละ -22.8  และ ร้อยละ -15.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมี  92  โครงการ  8,409 หน่วย ในจำนวน 7,090 หน่วย

            โดยส่วนใหญ่ใบอนุญาตจัดสรรที่ดินเป็นทาวน์เฮ้าส์มากที่สุด จำนวน  3,682 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.9 ของจำนวนการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั้งหมด รองลงมาเป็นบ้านแฝดจำนวน  1,676 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.6 และบ้านเดี่ยวจำนวน  1,667 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.5 ส่วนที่เหลือเป็น อาคารพาณิชย์ และที่ดินจัดสรร ตามลำดับ

             เมื่อพิจารณารายจังหวัดในพื้นที่ EEC ในครึ่งแรกปี 2564 จังหวัดที่มีการออกใบอนุญาตจัดสรรมากที่สุด เรียงลำดับได้ดังนี้

            อันดับ 1 จังหวัดชลบุรี มีจำนวน 3,704 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.2 ของการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั้งหมด และมีการออกใบอนุญาตจัดสรรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2

            อันดับ 2 จังหวัดระยอง มีจำนวน 2,782 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.2 มีการออกใบอนุญาตจัดสรรลดลงร้อยละ -7.3

            อันดับ 3 จังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำนวน 604 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.5 มีการออกใบอนุญาตจัดสรรลดลงมากถึงร้อยละ -70

 

            ด้านการออกใบอนุญาตก่อสร้าง พบว่า ครึ่งแรกปี 2564 มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ทั้งที่เป็นบ้านที่ประชาชนสร้างเอง บ้านในโครงการจัดสรร และอาคารชุด มีจำนวนประมาณ  17,049 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 แบ่งออกเป็นการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวนประมาณ 13,895  หน่วย และอาคารชุด จำนวนประมาณ 3,154  หน่วย ซึ่งที่อยู่อาศัยแนวราบมีการออกใบอนุญาตลดลงร้อยละ -1.8 แต่อาคารชุดมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 78.9 เมื่อเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 

            เมื่อพิจารณารายจังหวัดในพื้นที่ EEC ในครึ่งแรกปี 2564  จังหวัดที่มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยมากที่สุด เรียงลำดับได้ดังนี้

            อันดับ 1 จังหวัดชลบุรี มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยประมาณ 10,389 หน่วยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60.9 ของการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งหมด

            อันดับ 2 จังหวัดระยอง มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยประมาณ 3,722 หน่วยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.8 ของการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งหมด

            อันดับ 3 จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยประมาณ 2,938 หน่วยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.2 ของการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งหมด

            ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ในช่วงครึ่งแรกปี 2564 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC จำนวน 16,045 หน่วย  มีมูลค่า 37,855 ล้านบาท จำนวนหน่วยและมูลค่าลดลง ร้อยละ -21.9 และร้อยละ -18.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 มีจำนวน 20,550 หน่วย และมูลค่า 46,209 ล้านบาท

            เมื่อพิจารณารายจังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมากที่สุด โดยเรียงตามมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เรียงลำดับได้ดังนี้

            อันดับ 1 จังหวัดชลบุรี มีจำนวน 12,489 หน่วย ลดลงร้อยละ -5.3 และมีมูลค่า 30,436 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -3.6

            อันดับ 2 จังหวัดระยอง มีจำนวน 2,794 หน่วย ลดลงร้อยละ -47.5 และมีมูลค่า 5,874 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -43.8

            อันดับ 3 จังหวัดฉะเชิงเทรา มีจำนวน 762 หน่วย ลดลงร้อยละ -62.6  และมีมูลค่า 1,545  ล้านบาท ลดลงร้อยละ -63.1

            ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ประเมินสถานการณ์ภาพรวมปี 2564 โดยประมาณการในด้านอุปทานการขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดินในปี 2564 จะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -17.5 ถึง 0.8 การขอใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -9.2 ถึง 11

            ส่วนด้านอุปสงค์ในปี 2564 คาดการณ์ว่า หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -37.8 ถึง -24 แต่จำนวนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดว่าจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 9.5 ถึง 33.8 เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2563