การปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะให้ความคุ้มครองจะกลับเข้าสู่ระดับ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.2564 เป็นต้นไป  ได้ถูกพูดถึงกันในโลกโซเชียลมีเดียบางท่านอาจจะไม่เข้าใจถึงการปรับลดการคุ้มครองเงินฝากในครั้งนี้

            นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า  เกณฑ์ดังกล่าวกำหนดไว้ในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยการกำหนดวงเงินความคุ้มครองเงินฝากของไทย เป็นไปตามหลักการสำคัญของระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีประสิทธิผล  ซึ่งเป็นหลักการสากล โดยครอบคลุมกลุ่มผู้ฝากเงินรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ของประเทศ และส่งเสริมการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ระบบการเงินทั้งระบบทั้งในส่วนของผู้ฝากเงินจะเกิดความตระหนักในการบริหารจัดการความเสี่ยง และในส่วนสถาบันการเงินที่จะต้องบริหารจัดการการดำเนินกิจการให้มีประสิทธิภาพ

            ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กระทรวงการคลัง ยืนยันว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินในประเทศไทย ยังคงมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ ทั้งในส่วนของระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) อยู่ที่ระดับ 20% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ประกอบกับการมีสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง และสามารถรองรับความผันผวนของสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายเวลาวงเงินความคุ้มครองเงินฝากเดิมออกไปอีกนอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเกิดความเชื่อมั่นในระบบการคุ้มครองเงินฝากที่มีประสิทธิภาพ

วันนี้ Terrabkk ได้นำข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน จากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก มาไขข้อสงสัยกันค่ะ

 

 

ถาม : คุ้มครองเงินฝากคืออะไร

ตอบ : การคุ้มครองเงินฝากเป็นนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากเงินมั่นใจฝากเงินกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง และเป็นการดูแลผู้ฝากเงินรายย่อยซึ่งเป็นผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ของแต่ละสถาบันการเงิน ทั้งนี้หากสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะได้รับการคุ้มครองภายในวงเงินและระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

            ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากก่อตั้งเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ.2551 โดยมีการกำหนดวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท และเพื่อให้ผู้ฝากเงินเข้าใจและปรับตัวกับระบบการคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดจำนวน จึงได้กำหนดให้ปรับวงเงินคุ้มครองลดหลั่นลงตามลำดับ (จากความคุ้มครองเต็มจำนวน 50 25 15 10 5 และ 1 ล้านบาทตามลำดับ) โดยในวันที่  11 สิงหาคม พ.ศ.2564 จะถึงกำหนดการคุ้มครองเงินฝากที่ 1 ล้านบาทตามที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย

 

ถาม : วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท มีผลอย่างไรบ้าง

ตอบ : ผู้ฝากเงินทุกรายจะได้รับการคุ้มครองภายใต้วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท โดยผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาทจะได้รับความคุ้มครองเต็มจำนวน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ฝากเงินร้อยละ 98.03 ของผู้ฝากเงินทั้งหมดเป็นผู้ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท

            ส่วนของผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากเกินกว่าวงเงินคุ้มครองในสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต จะได้รับความคุ้มครองตามวงเงิน คือ 1 ล้านบาท โดยส่วนเกินจากวงเงินคุ้มครองจะอยู่ภายใต้การดำเนินการชำระบัญชีของสถาบันคุ้มครองเงินฝากต่อไป ทั้งนี้การเฉลี่ยทรัพย์ที่ได้จากการชำระบัญชีจะขึ้นกับมูลค่าทรัพย์ที่ได้รับการจัดการและตามระยะเวลาที่ดำเนินการ

 

ถาม : ใครเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองบ้าง

ตอบ : ผู้ฝากเงินทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยการคุ้มครองผู้ฝากเงินแต่ละราย (รวมกันทุกบัญชี) ต่อ 1 สถาบันการเงิน คำนวนจาก เงินต้น ดอกเบี้ย ทุกบัญชี ทุกสาขา รวมกัน หักหนี้ที่เกินกำหนดชำระ (ของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น) ภายใต้วงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาท

 

ถาม : เงินฝากประเภทไหนที่ได้รับความคุ้มครอง

ตอบ : เงินฝากเงินสกุลบาท และเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ได้แก่ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก และ 5.ใบรับฝากเงิน

 

ถาม : ฝากเงินกับสถาบันการเงินไหนได้รับความคุ้มครอง

ตอบ : สถาบันการเงินภายที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ณ ปัจจุบัน ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ไทย 19 แห่ง สาขาธนาคารต่างประเทศ 11 แห่ง บริษัทเงินทุน 2 แห่ง และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 35 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564)

สามารถตรวจสอบรายชื่อสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองได้ที่ https://www.dpa.or.th/articles/view/list-of-insured-financial-institutions

 

ถาม : สถาบันการเงินปัจจุบันเป็นอย่างไร

ตอบ : ปัจจุบัน สถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยฐานะที่เข้มแข็ง มีเงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง จึงไม่ต้องกังวล        

 

            สรุปง่ายๆ ก็คือ ปัจจุบันในประเทศไทย มีผู้ฝากเงินกว่า 98.03% ของผู้ฝากเงินทั้งหมด คิดเป็นจำนวน 82 ล้านราย เป็นผู้ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งหากสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต ลูกค้ากลุ่มนี้จะได้รับการคุ้มครองเงินเต็มจำนวน

            ส่วนผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านบาท จะรับความคุ้มครองตามวงเงิน คือ 1 ล้านบาท ส่วนเงินเกินจากวงเงินคุ้มครอง ยังมีสิทธิได้รับคืน แต่ต้องรอการชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นก่อน จากนั้นจะได้รับคืนตามลำดับการชำระคืนเจ้าหนี้ตามกฎหมาย

            ซึ่งการคุ้มครองเงินฝาก ก็จะคุ้มครองทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลแต่ละราย (รวมกันทุกบัญชี) ต่อ 1 สถาบันการเงิน เช่น นายหนึ่ง มีบัญชีกับธนาคาร ก. จำนวน 3 บัญชี จะนับเป็น 1 ราย  หรือนายสอง มีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร 5 แห่ง จะนับเป็น 5 ราย เป็นต้น   

โดยการคุ้มครองเงินฝากนี้ จะครอบคลุมเงินสกุลบาท และเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ คือ เงินฝากกระแสรายวัน, เงินฝากออมทรัพย์, เงินฝากประจำ, บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามไปที่ สายด่วนสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โทร 1158