ความคืบหน้าการตรวจสอบอาคารถล่มที่จังหวัดปทุมธานี ขณะนี้สภาวิศวกรอยู่ระหว่างประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบลคลองหก เพื่อทราบรายละเอียดเกี่ยวกับงานก่อสร้าง เพื่อนำเข้าสู่ขั้นตอนการไต่สวน โดยคณะกรรมการจรรยาบรรณ ซึ่งมีโทษตั้งแต่ตักเตือน ไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต และมีบทลงโทษสูงสุด ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้วิศวกรยังอาจได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227, 238 และ 269 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพอีกด้วย
รองเลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า อาคารหลังนี้มีโครสร้างประเภทพื้นไร้คานแบบอัดแรงทีหลัง หรือพื้นโพสต์ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับการก่อสร้างอาคาร 5 ชั้นขึ้นไป เนื่องจากก่อสร้างได้รวดเร็ว โดยปกติต้องมีการเสริมสลิงอัดแรงในพื้นเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักได้อย่างปลอดภัย แต่เนื่องจากเป็นโครงสร้างที่ไม่มีคานจึงย่อมมีความอ่อนแอ และอาจนำไปสู่การวิบัติแบบเฉือน ที่พื้นจะทะลุผ่านเสาลงไปกระแทกพื้นชั้นล่างๆ เป็นทอดๆ เหมือนกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่า Pancake collapse (แพนเค้ก คอลแลปส์) หมายถึงการวิบัติเริ่มเกิดขึ้นที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วลามไปทั่วอาคาร จนทำให้พังถล่มทั้งหลัง มักเกิดขึ้นในระหว่างที่ทำการก่อสร้าง ที่คอนกรีตยังไม่ได้อายุและไม่แข็งแรงพอ และจะอันตรายยิ่งหากมีการเร่งรีบ หรือลัดขั้นตอนการก่อสร้าง
เบื้องต้นสันนิษฐานว่า การถล่มของอาคาร อาจเกิดได้จาก 5 สาเหตุด้วยกัน คือ 1.ขั้นตอนการก่อสร้างไม่ถูกต้องหรือไม่ตรงตามแบบ 2.การก่อสร้างที่เร่งรีบเกินไป 3.การออกแบบที่ผิดพลาด 4.การใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน และ 5.ฐานรากวิบัติ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังคงพยายามผลักดัน กฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8(13) ซึ่งจะมีการกำหนดข้อบังคับและบทลงโทษอย่างชัดเจน และได้มีการร่างไว้ตั้งแต่ปี 2543 แล้ว แต่ปัจจุบันยังคงไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้การควบคุมไม่สามารถทำได้เข้มงวด เนื่องจากสภาวิศวกร ไม่มีอำนาจในเชิงกฎหมาย ทั้งนี้ การก่อสร้างอาคารที่มีความสูง 3 ชั้นขึ้นไป ถือว่าเป็นงานวิศวกรรมควบคุม // การออกแบบและก่อสร้าง จะต้องมีวิศวกรที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมโยธา ซึ่งออกโดยสภาวิศวกร และวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้างจะต้องอยู่ประจำสถานที่ก่อสร้างตลอดเวลา
ที่มา : VoiceTV