สำหรับกรณีที่เจ้าของที่ดินอ้างว่าที่ดินของตนถูกที่ดินของผู้อื่นล้อมรอบจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ หากเจ้าของที่ดินจะเข้าไปรังวัดและถ่ายรูปบริเวณทางพิพาทในที่ดินเพื่อเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีแพ่งจะเป็นความผิดฐานบุกรุกหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาก่อนว่าการขอเปิดทางจำเป็นนั้นมีหลักการและหลักเกณฑ์อย่างไร

            ในเรื่องทางจำเป็นนั้น กฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 โดยกำหนดขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อม

มาตรา 1349 ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้

        ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ

        ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้

        ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้

จากบทบัญญัติในมาตรา 1349 วรรคหนึ่งนี้ ทางจำเป็นจะขอได้ต่อเมื่อที่ดินมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ และผู้ที่มีสิทธิขอทางจำเป็นได้ ต้องเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อมเท่านั้น แม้จะเป็นคนที่ปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดิน แต่หากไม่ใช่เจ้าของก็ไม่อาจฟ้องขอเปิดทางจำเป็นได้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 1349 จะเห็นได้ว่าการขอเปิดทางจำเป็นจะต้องมีเหตุให้สามารถขอได้ด้วย ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

  1. ที่ดินแปลงหนึ่งมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ตามมาตรา 1349 วรรคหนึ่ง

คำว่า "ทางสาธารณะ" หากพิจารณาถึงนิยาม ตามที่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 บัญญัติไว้ ก็จะมีความหมายว่า ทางบก ทางน้ำ สำหรับประชาชนใช้ในการจราจร รวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดินสำหรับประชาชนโดยสาร ดังนั้น ทางสาธารณะตามที่ระบุไว้ในมาตรา 1349 นี้ ต้องเป็นทางสาธารณะที่ประชาชนสามารถใช้สัญจรไปมาได้ด้วย หากทางสาธารณะนั้นไม่ได้ถูกใช้มาเป็นเวลานาน เช่น คลองที่น้ำตื้นเขินและปัจจุบันประชาชนไม่ได้ใช้เรือสัญจร กรณีนี้แม้ที่ดินแปลงนั้นจะอยู่ติดกับคลอง ก็ไม่ถือว่าคลองเป็นทางสาธารณะ เจ้าของที่ดินมีสิทธิขอเปิดทางจำเป็นได้ อย่างไรก็ดี หากเจ้าของที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้สามารถใช้ทางผ่านไปสู่ทางสาธารณะได้ ก็ยังไม่ถือว่าที่ดินนั้นมีทางออกสู่ทางสาธารณะ เพราะสิทธิที่ได้รับนั้นไม่ใช่สิทธิทางกฎหมาย เจ้าของที่ดินยังสามารถฟ้องขอเปิดทางจำเป็นได้

2. ที่ดินมีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่ต้องข้าม สระ บึง หรือทะเล ตามมาตรา 1349 วรรคสอง การจะขอเปิดทางจำเป็นตามหลักเกณฑ์นี้ได้ ต้องเป็นกรณีที่ที่ดินต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือสภาพลำบากในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีจะออกสู่ทางสาธารณะได้ จะต้องผ่านคูน้ำ 4-5 เมตร ละการผ่านคูน้ำนั้นไม่ได้ลำบาก เพียงแต่ไม่สะดวก กรณีนี้ไม่อาจขอเปิดท่างจำเป็นได้ เพราะคูน้ำ ไม่ใช่สระ บึง หรือ ทะเล แต่หากเป็นกรณีที่ที่ดินติดกับแม่น้ำ ซึ่งประชาชนไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรอีกต่อไป กรณีนี้เจ้าของที่ดินสามารถฟ้องขอเปิดทางจำเป็นได้

3. ที่ดินมีทางออกสู่สาธารณะได้ แต่มีทางชันซึ่งระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมาก ตามมาตรา 1349 วรรคสอง เช่น ที่ดินติดกับหน้าผา บนหน้าผามีถนน แต่จะออกไปที่ถนนได้จะต้องปีนหน้าผาซึ่งไม่สะดวก กรณีนี้เจ้าของที่ดินมีสิทธิขอเปิดทางจำเป็น

ในส่วนวิธีทำทางจำเป็นนั้น ถูกบัญญัติไว้ในมาตรา 1349 วรรคสาม คือ

  1. เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอีกล้อมต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น

"ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็น" หมายความว่า เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินอื่นล้อมจะขอผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่แปลงใดก็ได้ เพราะมาตรา 1349 วรรคหนึ่งไม่ได้บัญญัติว่า เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่อยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุดเท่านั้น ดังนั้น เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินอื่นล้อมจะใช้ทางจอกสู่ทางสาธารณะซึ่งเป็นทางที่สั้นที่สุดก็ได้ เพราะเป็นทางที่เหมาะสมสำหรับเจ้าของที่ดินซึ่งถูกล้อม หรือจะใช้ทางออกผ่านที่ดินแปลงใดซึ่งล้อมอยู่ก็ได้ แต่ต้องใช้สิทธิโดยสุจริต

  1. เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุด

คำว่า "ต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุด" ไม่ได้หมายความว่า ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นมีสิทธิเพียงเดินผ่านเท่านั้น แต่ผู้ใช้ทางจำเป็นมีสิทธิใช้ยานพาหนะผ่านทางจำเป็นได้ด้วย แต่การใช้ทางจำเป็นต้องทำให้ที่ดินที่ล้อมอยู่เสียหายน้อยที่สุด

เรื่องทางจำเป็นนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่า ต้องเชื่อมต่อกับทางสาธารณะโดยตรง ความมุ่งหมายสำคัญของมาตรา 1349 ก็เพื่อให้ที่ดินที่ถูกล้อมอยู่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้เท่านั้น ดังนั้น การขอให้เปิดทางจำเป็นปลายทางก็ไม่จำเป็นต้องติดทางสาธารณะเสมอไป และทางจำเป็นเป็นข้อจำกัดกรรมมสิทธิ์ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ใช้ทางจำเป็นมีสิทธิใช้ทางจำเป็นได้ โดยอำนาจแห่งกฎหมาย มาตรา 1349 จึงไม่จำต้องจดทะเบียนอีก ตามมาตรา 1338

จากที่กล่าวมาข้างต้น อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แล้วเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่นั้นจะได้รับประโยชน์อะไรจากการที่ยอมให้ผ่านทาง กฎหมายจึงได้กำหนดค่าทดแทนของการเปิดทางจำเป็นไว้ใน มาตรา 1349 วรรคสี่ คือ ผู้มีสิทธิจะผ่านในทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการขอเปิดทางผ่าน โดยค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ยังอาจกำหนดเป็นเงินรายปีได้ แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องใช้ค่าทดแทนก่อนจึงใช้ทางจำเป็นได้ ดังนั้น การฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นจึงไม่จำต้องเสนอชดใช้ค่าทดแทน แต่เป็นหน้าที่ของเจ้าของที่ดินที่ถูกฟ้องให้เปิดทางที่จะต้องเรียกร้องค่าทดแทนขึ้นมาเอง

เมื่อพิจารณาถึงประเด็นปัญหาที่ว่า เจ้าของที่ดินถูกที่ดินของผู้อื่นล้อมรอบจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ หากเจ้าของที่ดินจะเข้าไปรังวัดและถ่ายรูปบริเวณทางพิพาทในที่ดินเพื่อเป็นพยานหลักฐานในการฟ้องคดีแพ่งย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุก เพราะ แม้สิทธิในการใช้ทางจำเป็นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายก็ตามแต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่นจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมใช้ทางผ่านที่ดินของตนเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมที่จะเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของผู้อื่นได้โดยพลการ ทั้งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นตามกฎหมายดังกล่าวจะต้องพิจารณาจากสภาพความจริงในขณะนั้น ว่าเข้าเงื่อนไขตามที่ มาตรา 1349 และมาตรา 1350 บัญญัติไว้หรือไม่ด้วย  เมื่อข้อเท็จจริงในเรื่องที่ว่าเจ้าของที่ดินจะขอเปิดทางจำเป็นได้หรือไม่ยังไม่เป็นที่ยุติ จึงต้องให้ศาลในคดีแพ่งชี้ขาดข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นยุติก่อนว่าตามสภาพของที่ดินนั้น เข้าเงื่อนไขเป็นทางจำเป็น หากเจ้าของที่ดินเข้าไปรังวัดและถ่ายรูปทางในที่ดินของผู้เสียหายโดยพลการ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข เป็นความผิดฐานบุกรุก (อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2564)

สำหรับวิธีการแก้ไขของเจ้าของที่ดินที่ถูกปิดล้อม เพื่อไม่ให้เป็นการกระทำความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 จะต้องพิจารณาถึงประเด็นข้อพิพาททั่วไปสำหรับการฟ้องเปิดทางจำเป็น กล่าวคือ

1. ทางที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเปิดนั้นเป็นทางจำเป็นหรือไม่ มีข้อพิจารณา ได้แก่ ใกล้ทางสาธารณะที่สุด สะดวกที่สุด เหมาะสมกับความเป็นจำกว่าทางอื่น และ

 2. โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะ กว้าง xx เมตร ได้ตามฟ้องหรือไม่ หรือทางพิพาทมีความกว้างเพียงใด

ซึ่งจากประเด็นทั้ง 2 ข้อ ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเจ้าของที่ดินไม่มีความจำเป็นถึงขนาดที่จะต้องเข้าไปรังวัดและถ่ายรูปทางในที่ดินก่อนจึงจะฟ้องคดีได้ โดยในทางปฏิบัติทั่วไปเจ้าของที่ดินเพียงแค่ยื่นฟ้องเพื่อขอเปิดทางจำเป็นพร้อมภาพร่างแผนที่สังเขป โดยอาจจะขอคัดระวางที่ดินจากสำนักงานที่ดินซึ่งมีที่ดินของตนอยู่ พร้อมทำเครื่องหมายเพื่อแสดงถึงทางจำเป็น โดยมีรายละเอียด ความกว้างยาวของทางพิพาท ระยะจากเขตที่ดินไหนไปจดเขตที่ดินไหน และอาจอ้างอิงถ่ายภาพทางพิพาทจากบริเวณที่ดินของตน หรืออาจจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยโดยอาศัยอากาศภาพถ่ายทางอากาศจากโปรแกรม Google map, Google earth, และ Land maps โดยอ้างอิงพิกัดตามโฉนดของกรมที่ดิน เป็นต้น แล้วจึงทำคำร้องขอรังวัดที่ดินในส่วนทางจำเป็น โดยศาลจะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินออกมารังวัดที่ถูกปิดล้อมต่อไป

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าเมื่อมีการนำคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว ในคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดิน ควรให้เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเข้าไปดำเนินการ ไม่ควรเข้าไปเองโดยพลการ ประกอบกับ กรณีขอเปิดทางจำเป็นนั้น โจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปรังวัดหรือถ่ายรูปที่ดินของผู้อื่นก่อนฟ้อง เพราะการพิจารณาคดีในการสืบพยานศาลในคดีแพ่งย่อมต้องมีคำสั่งให้มีการพิสูจน์ถึงหลักเกณฑ์ว่าเข้าเงื่อนไขว่าจะสามารถขอเปิดทางจำเป็นได้หรือไม่ซึ่งได้อธิบายไว้ข้างต้นแล้ว (อ่านบทความ ความผิดฐานบุกรุก )