โควิด-19 ระลอกนี้  พบการระบาดในครอบครัวเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยเด็ก และผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาในการกลืนยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนจึงพัฒนายาฟาวิพิราเวียร์แบบน้ำเชื่อม ให้เด็ก และผู้สูงอายุรับยาต้านไวรัสได้เร็วขึ้น 

             ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์  ได้แถลงข่าว เปิดตัวตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับต้านเชื้อในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความยากลำบากในการกลืนเม็ดยา โดยสถานการณ์การระบาดระลอกนี้ มีผุ้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และส่วนหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อเด็กค่อนข้างมาก จากภาพรวมพบเด็กติดเชื้อ 10 %จากคนไข้ทั้งหมด  และเมื่อติดเชื้อแล้ว เพื่อรักษาไม่ให้อาการหนัก จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส ฟาวิพิราเวียร์ ด้วยความรวดเร็วภายใน 4 วันหลังเริ่มมีอาการ ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรง และลดการเสียชีวิตได้ 

             โดยในจำนวนผู้ป่วยเด็กทั้งหมดมีจำนวน 1 ใน 3 ที่จำเป็นต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ แต่การให้ยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็ก ขณะนี้ต้องใช้วิธีการบดยาละลายน้ำ มีข้อจำกัดยามีตะกอน ปริมาณยาที่ได้รับไม่แน่นอน มีรสชาตขม ติดลิ้น ทำให้เด็กกลืนยาก แต่สำหรับยาน้ำเชื่อมที่ผลิตขึ้น ใช้ได้เลย ปริมาณยาคงที่ และกินง่าย

"ทั่วโลกตอนนี้ มียาไม่กี่ชนิดที่ใช้ได้ หนึ่งในนั้น คือ การใช้ยาต้านไวรัส “ยาฟาวิพิราเวียร์” ที่ช่วยลดความรุนแรงของโรค

ซึ่งยานี้เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2014 ที่ญี่ปุ่น ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ มีการใช้มานานแล้ว และมีการประกาศในองค์การอนามัยโลก สามารถใช้รักษาโรคอีโบล่า”

ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์สามารถใชัในเด็กอายุต่ำกว่า 5-7 ปี หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถกลืนยาเม็ดได้  โดยยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ 1ขวด บรรจุ 60 ซีซี วิธีใช้ตามคำสั่งแพทย์ รับประทาน ขณะท้องว่างวันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง / โดยควรเก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศา   เมื่อจ่ายยาไปแล้ว ยาจะมีอายุแค่ 30 วัน ไม่แนะนำให้เก็บยาไว้นาน เนื่องจากตัวยาจะหมดประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้แพทย์เตือน “ยาฟาวิพิราเวียร์” ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เพราะต้องมีการติดตามอาการ โดยข้อมูลจาก ทีมกุมารแพทย์ รพ.จุฬาภรณ์ฯ ระบุว่า ช่วงวัยตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สัดส่วนในการให้ยากับเด็กจะขึ้นอยู่กับขนาดน้ำหนักของเด็ก ส่วนใหญ่การให้ยาในเด็ก ในวันแรกจะถูกให้ยาจำนวนมากตามสัดส่วน หลังจากนั้นจะค่อยๆลดลง  เบื้องต้นเป็นเวลา 5 -10 วัน

ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ในคนไข้เด็กของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ช่วงอายุ 8 เดือน - 5 ปี  จำนวน 12 ราย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการติดตามการรักษา พบว่า ผลตอบสนองต่อการรักษาได้ดี และไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง

สำหรับกำลังการผลิตยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขณะนี้ สามารถผลิตและแจกจ่ายให้ผู้ป่วยประมาณ 300 คนต่อสัปดาห์ ในอนาคตหากโรงพยาบาลใดที่มีความพร้อมในการผลิต  สามารถขอสูตรตำรับยาดังกล่าวไปผลิตได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลเรื่องคุณภาพ  ส่วนแพทย์ หรือสถานพยาบาล สามารถขอรับยาได้ผ่านทางช่องทาง www.favipiravir.cra.ac.th ได้

จากข้อมูลในการดูแลเด็กที่ติดเชื้อโควิดในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ พบว่า ที่ผ่านมาเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 ถึง 3 เท่า  ตอนนี้ดูแลเด็กอยู่ประมาณ 80 คน ตั้งแต่อายุ 3 เดือนจนถึง 15 ปี  ส่วนใหญ่ เมื่อติดเชื้อแล้ว เด็กจะมีอาการน้อย และอาการไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่   แนะนำผู้ปกครองหากเด็กอยู่ระหว่างรอเข้าระบบการรักษา ขอให้รักษาอาการเบื้องต้นเหมือนกับรักษาอาการหวัดโดยทั่วไป อย่างไรก็ตามเมื่อเด็กหายป่วยจากโควิดแล้ว ยังควรต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนอีก 1 เดือน