แนวคิดของ Home Isolation เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงมากขึ้น มีผู้ติดเชื้อหลักหลายพันคน จนทำให้เตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอ ประกอบกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล หรืออยู่โรงพยาบาลในระยะเวลาสั้น ๆ และไปพักฟื้นต่อที่บ้านหรือสถานที่ที่รัฐจัดให้

ซึ่ง Home Isolation หรือการแยกกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่อยู่ในเกณฑ์ดังนี้

1. ผู้ป่วยโควิด-19 ที่กำลังรอ admit หรือรอเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ. ซึ่งแพทย์พิจารณาแล้วว่า สามารถรักษาตัวที่บ้านได้

2. ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวใน รพ. หรือสถานที่ที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วันและแพทย์พิจารณาว่าสามารถทำ Home Isolation ต่อได้

 

ผู้ที่เข้าเกณฑ์ในการทำ Home Isolation

1. เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดี หรือไม่มีอาการ ( asymptomatic cases)

2. อายุน้อยกว่า 60 ปี

3. มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

4. ต้องไม่มีภาวะอ้วน หรือดัชนีมวลกาย >30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว >90 กก.

5. ไม่มีโรคร่วม ดังนี้ โรคปอกอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ,โรคไตเรื้อรัง (CKD ระยะที่ 3,4) โรคหัวใจและหลอดเลือด,โรคหลอดเลือดสมอง,โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

6. อยู่คนเดียวหรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน

7. ยินยอมแยกตัวในที่พักของตัวเอง

การปฎิบัติตัวของผู้ป่วยโควิด-19 เมื่อทำ Home Isolation

1. ห้ามออกจากที่พัก และห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้าน

2. ห้ามเข้าใกล้หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

3. แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกไม่ได้ควรแยกให้ห่างจากผู้อื่นให้มากที่สุด และความเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท

4. ห้ามรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

5. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากไม่ได้อยู่คนเดียว

6. ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลทุกครั้งที่จำเป็นต้องสัมผัสกับของใช้ต่าง ๆ

7. แยกซักเสื้อผ้า และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่ หรือผงซักฟอก

8. ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น

9. แยกขยะ โดยมัดปากถุงขยะให้แน่น

 

ข้อแนะนำเพิ่มเติม :

            ถ้าบ้านที่มีพื้นที่เพียงพอ ควรให้ผู้ป่วยแยกอยู่ในห้องส่วนตัวคนเดียว ถ้าเป็นไปได้ควรเป็นห้องที่มีห้องน้ำในตัว แยกภาชนะของใช้ส่วนตัว ส่งข้าวให้เอาวางไว้หน้าห้อง แล้วไลน์บอก เพื่อให้ผู้ป่วยเปิดประตูมาหยิบข้าวไปทานเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการพูดคุยหรือการสัมผัสให้มากที่สุด หรือให้อาหารเป็นข้าวกล่อง

            ถ้าที่อยู่อาศัยเป็นคอนโด ห้องเช่า แฟลต ไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะแยกออกเป็นห้องชัดเจน เพื่อความปลอดภัย แนะนำให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องคนเดียว และบุคคลอื่นที่ไม่ติดเชื้อให้ไปพักอาศัยที่อื่นเป็นการชั่วคราว เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับคนในครอบครัว

 

 

สิ่งที่ผู้ป่วยโควิด-19 จะได้รับการสนับสนุนเมื่อต้องทำ Home Isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน)

            อุปกรณ์ประเมินอาการ ได้แก่ ปรอทวัดไข้ และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดแบบหนีบนิ้ว เพื่อประเมินการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดว่าปกติดีหรือไม่ ค่าปกติจะอยู่ที่ประมาณ 97-100% ถ้าตัวเลขอยู่ที่ 94% หรือต่ำกว่านั้น คืออยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะมีแนวโน้มที่เชื้อโควิด-19 จะลงปอด  การประเมินอาการผ่านระบบเทเลเมด หรือ การนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากร ทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-timeโดยแพทย์และพยาบาลทุกวัน

1. การให้ยารับประทาน ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

2. อาหารสามมื้อ

3. การติดตามประเมินอาการ และให้คำปรึกษา

หากมีอาการเปลี่ยนแปลงหรือแย่ลงให้แจ้งทีมแพทย์ และรีบนำส่งโรงพยาบาล

สิ่งสำคัญ คือ ต้องสังเกตอาการของตัวเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากอาการแย่ลง เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูง ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบติดต่อ รพ.ที่รักษาอยู่ ทางรพ.จะมีรถไปรับเพื่อนำส่งเข้ารับการรักษาที่ รพ. หรือหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องเดินทางมา รพ.ด้วยตัวเอง แนะนำให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้รถสาธารณะ และต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากมีผู้ร่วมยานพาหนะไปด้วยให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศ และเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เดินทางไปด้วย

 

            นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การแยกกักตัวที่บ้าน คือ การ admit ผู้ป่วยรายใหม่ไว้ดูแลที่บ้านก่อน หากอาการแย่ลงจะรับมาดูแลรักษาที่โรงพยาบาล และเป็นการบริหารจัดการเตียงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จากที่ผู้ป่วยต้องอยู่โรงพยาบาล 14 วัน จะนำผู้ป่วยที่รักษา 7 – 10 วันแล้วอาการดีขึ้น ออกไปแยกกักตัวที่บ้าน จะช่วยให้มีเตียงเพิ่มอีกประมาณ 40 – 50%  เพื่อรับผู้ป่วยใหม่ 

สำหรับการแยกกักตัวในชุมชน กรมการแพทย์ กทม. โรงเรียนแพทย์ ได้เตรียมสถานที่แล้ว ส่วนใหญ่ใช้สถานที่โล่งๆ เช่น ศาลาวัด หรือหอประชุมโรงเรียน นอกจากนี้ยังสามารถใช้แคมป์คนงานหรือหมู่บ้านที่มีที่แยกตัวให้กับผู้ติดเชื้อ และไม่ควรเกิน 200 คนเพื่อลดแออัด และสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะ แยกน้ำเสียหรือขยะออกจากชุมชนได้ โดยรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ที่ไม่ต้องใช้ออกซิเจน ซึ่งขอขอบคุณภาคประชาสังคม และเพจต่าง ๆ ที่ช่วยประสานรวบรวมจำนวนผู้ป่วยมาขึ้นทะเบียน สนับสนุนอาหารให้ผู้ป่วย

            สำหรับการแยกกักตัวที่บ้านและแยกกักตัวในชุมชนนั้น ซึ่งได้กำหนดเกณฑ์ของผู้ติดเชื้อ ต้องสมัครใจ และสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำได้ สถานที่เหมาะสม ใช้จุดแข็งของไทย คือ บ้าน วัด โรงเรียน โดย Home Isolation บ้านต้องมีห้องนอนแยก ส่วน Community Isolation ใช้วัด หรือโรงเรียน มีช่องทางสื่อสารผ่านเทเลคอนเฟอเรนซ์ วิดีโอคอล ติดตามอาการทุกวัน โดยแพทย์ พยาบาล วันละ 2 ครั้ง และมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน  รวมทั้งต้องลงทะเบียนกับสถานพยาบาล (มีแผนขยายไปยังชุมชนอบอุ่น และสถานพยาบาลใกล้บ้าน) 

ผู้ติดเชื้อจะได้รับเครื่องวัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และแนะนำวิธีทดสอบง่ายๆ กรณีสงสัยว่าปอดมีปัญหาหรือไม่ โดยให้วัดออกซิเจนในเลือดก่อนออกกำลังกายลุกนั่ง 1 นาที และวัดซ้ำหลังทำ หากปริมาณออกซิเจนลดลงมากกว่า 3 % จะรับมารักษาที่โรงพยาบาล และมีระบบรีเฟอร์ผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม  และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข