ภาพความเสียหายจากการล็อกดาวน์ ด้วยความหวังที่ต้องการลดจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด – 19 แต่อาจช้าไม่ทันการณ์ เพราะโควิด สายพันธุ์เดลตา กลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย และส่งผลให้การควบคุมการแพร่ระบาดยากขึ้น ประสิทธิภาพของวัคซีนที่เรามีสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ลดลง จำนวนวัคซีนที่คาดว่าจะจัดหาได้ต่ำกว่าที่คาด และเป็นภาระกับระบบสาธารณสุขมากยิ่งขึ้น ผลกระทบหนักมาตกอยู่ที่  “เศรษฐกิจไทย” ยิ่งในช่วงวิกฤติโควิดแบบนี้เห็นได้ชัดเจนว่า ประชาชนขาดความเชื่อมั่น กำลังซื้อสินค้าลดลงอย่างมาก และเลือกจับจ่ายเงินซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น  

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำ การประเมิน “ส่องเศรษฐกิจไทยในวิกฤติโควิด” ประเมินภาพความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยจากการล็อกดาวน์รอบล่าสุดนี้ ธปท. พบว่า เศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายเกิดขึ้น ทั้งในด้านกว้างและด้านลึก โดยด้านลึก พบว่า ความเสียหายจากการระบาดในระลอกที่ 2 และ 3 ทำให้เศรษฐกิจดิ่งลงไปใกล้เคียงกับความเสียหายในการล็อกดาวน์ครั้งแรกแล้ว แต่ที่น่ากังวลคือ กราฟยังปักหัวลงได้อีก ขณะที่ด้านความกว้างผลความเสียหายของมาตรการล็อกดาวน์ แม้ว่าครั้งนี้จะล็อกดาวน์ในพื้นที่ 13 จังหวัด แต่พื้นที่ส่วนอื่นของประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายก็ลดลงเช่นเดียวกับพื้นที่ล็อกดาวน์

“จากการสำรวจนักวิเคราะห์ ประชาชนและภาคธุรกิจ โดยภาคครัวเรือนมองว่า กว่าที่จะกลับมาใช้ชีวิตปกติน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 65 ขณะที่ภาคธุรกิจยังมีความหวังที่จะกลับมาเปิดให้บริการเป็นปกติในไตรมาสแรกของปี 65 ขณะที่ประเมินจากสถานการณ์วัคซีนในขณะนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่เดิมคาดว่าจะเกิดขึ้นในสิ้นปีนี้น่าจะล่าช้าออกไป และยังไม่ชัดเจนว่า จะสามารถสร้างภูมิ คุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในปีหน้าได้หรือไม่”

ธปท. ได้ประเมินภาพความเสียหายจากการล็อกดาวน์ และความไม่แน่นอนที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงสูงขึ้นในอนาคต ใน 3 กรณีคือ กรณีที่ดีที่สุด คาดว่า หากมาตรการล็อกดาวน์ ดำเนินการได้ดี และส่งผลให้ผู้ติดเชื้อเริ่มลดลงประมาณ 40% และสามารถควบคุมได้ภายในเดือน ส.ค. โดยไม่เกิดการระบาดรอบใหม่ เศรษฐกิจไทยจะได้รับความเสียหายจากการล็อกดาวน์ หรือส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดลง -0.8%

ขณะที่กรณีที่แย่ที่สุดคือ การระบาดยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสามารถควบคุมให้การระบาดลดลงเพียง 20% แต่ยังสามารถควบคุมได้ภายในช่วงสิ้นปีนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง 2%

ส่วนค่ากลาง คาดว่าจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดในขณะนี้ การล็อกดาวน์จะกระทบเศรษฐกิจ ให้หดตัวลง 1.2% อย่างไรก็ตาม ยังนำตัวเลขความเสียหายมาหักลบจากการขยายตัวในขณะนี้ไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยบวกที่จะมาจากมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมของภาครัฐ และการส่งออกที่ดีขึ้น โดย ธปท.จะนำการประเมินความเสียหายนี้ไปรวมในการ ประมาณการเศรษฐกิจครั้งหน้า ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อการขยายตัวตามประมาณการเดิมแน่นอน

ขณะนี้ยังมีความผันผวนและไม่แน่นอนสูงมาก เพราะการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้า ทำให้สามารถกลับมาระบาดได้ใหม่ หากความเร็วในการจัดหาและกระจายวัคซีนไม่เร็วพอ หรือการ์ดตก ทำให้ ธปท.ไม่ได้ประเมินภาพในกรณีเลวร้าย เพราะสถานการณ์ยังสามารถพัฒนาไปได้อีก โดยมองว่า มาตรการทั้งการเงินและการคลัง อาจจะไม่เพียงพอที่จะรับมือกรณีเลวร้ายได้ ทำให้ต้องเตรียมความพร้อมทั้งมาตรการการเงินและการคลังให้มากที่สุด

 

กสิกรไทย ประเมินเศรษฐกิจอาจติดลบ แนะรัฐฯใช้นโยบายช่วยลดค่าน้ำ-ไฟ ช่วยประชาชน

              นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “แนวโน้มเศรษฐกิจโลกต่อการกลับมาของ Covid-19” ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปีนี้ มีโอกาสติดลบ หากโควิด-19 กลายพันธุ์กลับมาระบาดรุนแรงมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และประเทศสหรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และหากสภาพการแพร่ระบาดเป็นเช่นนี้ อุตสาหกรรมด้านท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบระยะยาว โดยช่วงเดือนพ.ค. มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพียง 500 ราย และมีจำนวนการเข้าพักเพียง 5 ห้อง สะท้อนถึงความยากลำบากของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม และภัตตาคาร 

             แต่หากสถานการณ์การระบาดไม่รุนแรง จีดีพีของไทยปีนี้จะเติบโตได้ที่ 1% แต่ต้องมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพฉีดให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และต้องมียาบำบัดรักษาที่เพียงพอ โดยประเมินว่าการท่องเที่ยวของประเทศ ไทยประเมินว่าจะฟื้นตัวครึ่งปีหลังของปี 65

            รวมถึงเรื่องหนี้ด้วย เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งคาดว่ารัฐบาลจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไร ให้ประชาชนลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ โดยก็มีการเรียกร้องค่าใช้จ่าย การลดค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งต้องกลับมาใช้นโยบายนี้อีกครั้ง เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาที่ประชาชนไม่มีรายได้ในช่วงนี้

 

 

 

 

EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2021 เหลือโต 0.9% ชี้เงินเยียวยาอาจไม่พอ

            ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจปีนี้ ว่าจะเติบโตเหลือ 0.9% จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 1.9% ตามการระบาดโควิด-19 ที่ปรับแย่ลงมากกว่าที่คาด ทั้งนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไทยลดลง การบริโภคที่มีความเสียหายเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนที่จะได้รับผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงาน โดยแม้คาดว่าภาครัฐจะมีเม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจมากกว่าที่เคยคาด แต่ก็ยังจะไม่เพียงพอ โดยกรณีเลวร้ายเศรษฐกิจไทยมีโอกาสหดตัวที่ -0.4%

            การบริโภคภาคเอกชนจะถูกกระทบค่อนข้างรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 3 ก่อนฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงปลายปี โดยการระบาดในประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤติ สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการฉีดวัคซีนที่มีความล่าช้ากว่าแผน และมีประสิทธิภาพน้อยลงในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ Delta ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูง จึงทำให้ EIC คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะปรับลดลงต่ำกว่า 100 ราย ต่อวัน ซึ่งใช้เวลากว่า 8 เดือนตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเมษายน (คาดการณ์เดิมใช้เวลาแค่ 4 เดือนในควบคุมโรค) โดยมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนกว่า 7.7 แสนล้านบาท (ราว 4.8% ของ GDP) ซึ่งมีสาเหตุหลักทั้งจากผลของมาตรการล็อกดาวน์ ความกังวลของประชาชนต่อการติดเชื้อ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก ตลอดจนรายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานในหลายภาคธุรกิจที่จะปรับลดลงมาก

            ทั้งนี้มาตรการภาครัฐที่ออกมาจนถึงปัจจุบันยังไม่เพียงพอทั้งในเชิงพื้นที่ ระยะเวลา และปริมาณเงินรวม กล่าวคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกระจายไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ สะท้อนจาก Facebook Movement Range ที่บ่งชี้ว่า การเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลงทุกจังหวัด แม้ไม่โดนล็อกดาวน์ เพราะประชาชนมีความกังวลกับการติดเชื้อจึงลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง ขณะที่ระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบก็มีแนวโน้มยาวนานอย่างน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3

            ดังนั้น มาตรการชดเชยรายได้แรงงานและผู้ประกอบการล่าสุดที่ครอบคลุมแค่จังหวัดที่โดนล็อกดาวน์และชดเชยเพียง 1 เดือน จึงไม่น่าเพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้ โดย EIC คาดว่า ในกรณีฐาน ภาครัฐจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบันอย่างน้อยอีกราว 1.5 แสนล้านบาท รวมเป็นใช้เม็ดเงินจาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ราว 2 แสนล้านบาทในปีนี้

 

KKP research คาดล็อกดาวน์อย่างน้อย 3 เดือน เสี่ยงทำไทยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกปี

 

          KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า การระบาดระลอกปัจจุบันของไทยจะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างน้อย 3 เดือนกว่าสถานการณ์จะบรรเทาความรุนแรงลง ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการบริโภคและการลงทุนที่จะลดลงในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตของการบริโภคทั้งปีติดลบ และกระทบต่อการคาดการณ์ GDP ในปี 2021 จากการเติบโตที่ 1.5% เหลือเพียง 0.5% แม้ว่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นก็ตาม เมื่อนับรวมกับบตัวเลขการคาดการณ์ GDP ในปี 2022 ที่ 4.6% ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้รวมกับปีหน้าที่ระดับ 5.1% ไม่เพียงพอชดเชยการหดตัวของเศรษฐกิจในปี 2020 ที่หดตัวลง 6.1% และเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ในการกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด -19

อย่างไรก็ตามในกรณีเลวร้าย หากจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ที่ยาวนานกว่าสามเดือน หรือต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่มีข้อจำกัดมากขึ้น กระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายของเศรษฐกิจไทย KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะถูกกระทบเพิ่มเติมอีก -1.3% และทำให้เศรษฐกิจในปีนี้หดตัวลง 0.8%

แผนวัคซีนที่ล่าช้าและไม่แน่นอน เพิ่มต้นทุนต่อเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์เพิ่มเติม

           ปัจจุบันมีคนไทยได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้วเพียง 3.5 ล้านคน หรือคิดเพียง 5% ของประชากร และเกือบทั้งหมดได้รับวัคซีน Sinovac (3.3 ล้านคน) ที่มีงานวิจัยพบว่ามีประสิทธิผลจำกัดต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า และมีแนวโน้มที่ภูมิคุ้มกันลดลงเรื่อย ๆ ความไม่แน่นอนในการจัดหาวัคซีนกำลังสร้างความเสี่ยงต่อสร้างภูมิคุ้มกันโดยรวม KKP Research คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ เพียง 35% ของประชากรจะได้รับวัคซีนครบสองโดส

          การฉีดวัคซีนที่ล่าช้าเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจผ่านการปิดเมืองเพิ่มเติม จากการศึกษาของกลุ่มประเทศ OECD พบว่าการมีสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนแล้วครบ 2 โดส สามารถลดการแพร่ระบาดได้เทียบเท่ามาตรการล็อกดาวน์บางมาตการ เช่น หาก 7% ของประชากรได้รับฉีดวัคซีนครบสองโดสจะลดโอกาสการแพร่ระบาดเฉลี่ยได้เทียบเท่ามาตรการปิดโรงเรียน คำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน หรือการห้ามเดินทางระหว่างประเทศ แต่ถ้าหากมีประชากรได้รับวัคซีนครบสองโดสในระดับมากกว่า 13% ของประชากร ก็จะสามารถลดการแพร่ระบาดได้ผลเทียบเท่ามาตรการปิดสถานที่ทำงาน สำหรับประเทศไทยที่สัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วยังอยู่ในระดับต่ำมาก ทางออกที่เหลืออยู่จึงเป็นมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และเป็นการเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

งานศึกษามหาวิทยาลัย Harvard ใน 152 ประเทศชี้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ มีข้อจำกัดสำคัญ คือ ผลของมาตรการจะมีประสิทธิผลสูงสุดไม่เกินช่วง 2 เดือนแรก โดยหลังจากบังคับใช้มาตรการผ่านไป 60 วัน ผลที่ได้จะไม่ดีมาก เนื่องจากความร่วมมือต่อมาตรการจะลดลงอย่างมาก (lockdown fatigue) ด้วยข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้การล็อกดาวน์ให้ประสบผลสำเร็จจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องแข่งกับเวลา และในขณะเดียวกันถึงแม้จะมีการล็อกดาวน์ที่เข้มข้น แต่สิ่งสำคัญต้องทำควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายได้เร็วยิ่งขึ้น คือ 1) เร่งเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาเชื้อ เช่น การแจกหรือการอุดหนุน rapid antigen test และ facility สำหรับ home isolation 2) จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงต่อสายพันธุ์เดลต้า