แค่อสังหาไม่พอ "สิงห์ เอสเตท" ลั่นกลองรบบุกน่านน้ำใหม่ เดินหน้าองค์กรด้วย "4 กลุ่มธุรกิจ" ตั้งเป้ารายได้ทะยาน 3 เท่าใน 3 ปี

highlights

  • ปัจจุบัน โครงการอสังหาฯ เชิงพาณิชย์, โรงแรม รีสอร์ต และโครงการที่พักอาศัย คือ 3 กลุ่มธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับ สิงห์ เอสเตท รวมมากกว่า 96%
  • สิงห์ เอสเตท ได้ประกาศรุกกลุ่มธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ 4 จะประกอบด้วย โครงการนิคมอุตสาหกรรม, ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า, ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้พอร์ตโฟลิโอบริษัท
  • ภายใต้ 4 ธุรกิจนี้ พวกเขาตั้งเป้าว่าจะต้องเพิ่มการเติบโตของรายได้ให้บริษัทได้มากถึง 3 เท่าตัว ภายใน 3 ปีต่อจากนี้ มองไปถึงการ Synergy สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต และยังเล็งขยายการทำงานในรูปแบบความร่วมมือใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 

เป็นที่รู้กันว่า "สิงห์ เอสเตท" หรือ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) คือบริษัทผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนสัญชาติไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการที่พวกเขาได้พัฒนา "โครงการอสังหาฯ เชิงพาณิชย์" อาคารสำนักงานที่ตั้งตระหง่านโดดเด่นตามทำเลสำคัญทั่วกรุงเทพฯ รวมไปถึง "โรงแรม รีสอร์ต" หรือ "โครงการที่พักอาศัย" ทั้งแนวราบและแนวสูง

 

ซึ่งถ้าไปพลิกดูข้อมูล สิงห์ เอสเตท ดูในรายละเอียดก็จะพบว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา พวกเขาสร้างรายได้จากท้ัง 3 กลุ่มดังกล่าวได้ดังนี้ (อื่นๆ อีก 4%)

  1. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ - พื้นที่อาคารสำนักงานและค้าปลีกรวม 140,000 ตรม. > สร้างรายได้ให้บริษัทรวม 15%
  2. ธุรกิจโรงแรมรีสอร์ต - 39 แห่ง ใน 5 ประเทศ รวม 4,647 ห้อง > สร้างรายได้ให้บริษัทรวม 24%
  3. ธุรกิจโครงการที่พักอาศัย - 23 โครงการ ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ และคอนโดมิเนียม (แนวสูง) เช่น แบรนด์สันติบุรี The ESSE และแบรนด์อื่นๆ > สร้างรายได้ให้บริษัทรวม 57%

อย่างไรก็ตามพวกเขาดูจะไม่ได้นิ่งนอนใจกับภาวะการแข่งขันของตลาด เรื่อยไปจนถึงปัจจัยภายนอกอย่างโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้เราไม่สามารถประเมินสถานการณ์และผลกระทบต่างๆ โดยรอบ ได้อย่างชัดเจนเหมือนเดิมอีกต่อไป

 

อาคารสำนักงาน Singha Complex หัวมุมถนนอโศก

 

นั่นจึงทำให้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2654 สิงห์ เอสเตท จึงได้ออกมาประกาศแผนการดำเนินธุรกิจที่สำคัญของบริษัทด้วยการรุกธุรกิจใหม่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง ติดอาวุธที่หลากหลายให้กับพอร์ตโฟลิโอธุรกิจบริษัท เดินหน้าสู่การเติบโตของรายได้และผลกำไรแบบก้าวกระโดด ยั่งยืน และกระจายความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยกลุ่ม "ธุรกิจใหม่" ที่ทาง สิงห์ เอสเตท มองไว้ประกอบไปด้วย โครงการนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ

และภายใต้การผสมผสาน 4 กลุ่มธุรกิจ  สิงห์ เอสเตท ตั้งเป้ามาตรวัดและเป้าหมายที่จะต้องจับต้องได้ คือการที่พวกเขาจะต้องดันรายได้ของบริษัทในอนาคตให้เติบโตได้ถึง 3 เท่าตัว ภายในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ หรือกลายเป็นรายได้ราว 20,000 บาทต่อปี เท่านั้นยังไม่พอ การมีกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเติมแกร่งเสริมความหลากหลายให้สิงห์ เอสเตท เช่นนี้ ยังทำให้พวกเขาคาดการณ์อีกด้วยว่า มูลค่าสินทรัพย์บริษัทจะต้องเพิ่มขึ้น จาก 65,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ไปเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสินทรัพย์ 80,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566

 

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการ บมจ. สิงห์ เอสเตท เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานรุกน่านน้ำใหม่ของบริษัทว่า “ปีนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่เรากำลังเข้าสู่เฟสต่อไปของการพัฒนาธุรกิจของสิงห์ เอสเตท เราจะเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและธุรกิจสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่จะมาต่อยอดและเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อนำสิงห์ เอสเตท ก้าวไปสู่การเป็นหนึ่งใน "ธุรกิจแถวหน้าของประเทศไทย" ที่ผนึกกำลังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า และธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง สร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด และสร้างผลตอบแทนที่ดี”

“ที่ผ่านมา เราให้ความสำคัญกับการนำบริษัท เดินทางจากจุดเริ่มต้นในฐานะบริษัทของครอบครัว ที่บริหารจัดการสินทรัพย์และดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูล มาสู่การเป็นบริษัทมหาชน ที่มีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ มีสินทรัพย์อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลาย กระจายอยู่ในหลายภูมิภาค

“สำหรับตอนนี้ เมื่อเรามองไปที่เส้นทางข้างหน้า เราเชื่อมั่นในอนาคตของประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางธุรกิจของสิงห์ เอสเตท ในขณะเดียวกัน เรายังเดินหน้ามองหาโอกาสที่จะสร้างการเติบโตใหม่ๆ ในระดับโลก ไปพร้อมกันด้วย”

 

ด้าน ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท ได้กล่าวถึงแผนการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นไว้ว่า สิงห์ เอสเตท จะเดินหน้าบูรณาการ ยกระดับธุรกิจต่างๆ ของบริษัทให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ผสมผสานกับการทำงานร่วมกับกลุ่มธุรกิจเดิมอย่าง ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจที่พักอาศัย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงธุรกิจ และศักยภาพในการคว้าโอกาสทางธุรกิจใหญ่ๆ ที่จะเข้ามา

 

ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งยืนยันการตัดสินใจที่ถูกต้องของบริษัทฯ ในการวางโครงสร้างธุรกิจเป็น 4 กลุ่มธุรกิจที่เชื่อมโยงกัน เพื่อจะทำให้บริษัทฯ สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดี ได้อย่างสม่ำเสมอ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากจะคาดเดา ทั้งในประเทศและทั่วโลก

“เราหวังว่าจากนี้เป็นต้นไป กลุ่มธุรกิจที่ 4 จะเป็นธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มและต่อยอดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นแกนหลักมาแต่เดิม และจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ได้อย่างมากมาย เพราะด้วยแนวทางการเดินหน้า 4 กลุ่มธุรกิจของสิงห์ เอสเตท ก็จะทำให้เรามีจุดโดดเด่นที่แตกต่าง และทำให้เราเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ได้มากกว่า นอกจากนี้ ยังจะช่วยให้เรามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น จากการเติมเต็มซึ่งกันและกันของกลุ่มธุรกิจต่างๆ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน และการบูรณาการธุรกิจ และจะช่วยให้เรามีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จากการที่ธุรกิจในเครือมีวงจรทางธุรกิจที่แตกต่างกัน มีรูปแบบความเสี่ยงไม่เหมือนกัน และเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ประจำและสม่ำเสมอ”

 

โครงการคอนโดมิเนียม The ESSE Sukhumvit 36

ไม่เพียงเท่านี้ สิงห์ เอสเตท ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาแนวคิดและวิธีการใหม่ๆ ของการดำเนินงานเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตของบริษัทฯ และเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ (Resilient Business)  ทั้งยังมีเป้าหมายแสวงหาความร่วมมือทั้งภายในประเทศและระดับโลก เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งความสามารถในการแข่งขัน และช่วยขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นในอนาคตอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือการประกาศศักดาของ สิงห์ เอสเตท ในการมุ่งมั่นที่จะรุกกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างความแกร่ง โอกาส และการเติบโตที่ยั่งยืนให้กับบริษัท สะท้อนให้เห็นถึงแรงกระหายของบริษัทที่หวังเดินหน้าต่อ "จิ๊กซอว์" ชิ้นสำคัญๆ กับพอร์ตธุรกิจของพวกเขาที่ไม่เคยหยุดนิ่งมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา