“จีน” เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งในจีนเองและทั่วโลก ซึ่งที่ผ่านมาจีนเคยประสบปัญหามลภาวะจากภาคอุตสาหกรรมและการปล่อยมลพิษจากรถยนต์บนท้องถนน ที่มาจากการเติบโตด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดด ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระดับรุนแรง หลายเมืองใหญ่ของจีนมีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก

         ทำให้จีนต้องเร่งควบคุมคุณภาพอากาศอย่างจริงจัง พร้อมใช้เทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรม เพื่อรับมือวิกฤตฝุ่นทุกมิติ ซึ่งการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ คือต้นตอปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข โดยการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า และเปลี่ยนมาใช้พลังงานโซลาเซลล์,ลม ทดแทนการใช้ถ่านหินและน้ำมันคือทางออกที่ดีที่สุด

 

           

 

คืนอากาศสะอาดด้วยรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

          "รถยนต์พลังงานทางเลือก (New Energy Vehicle : NEV)" เป็นนโยบายสำคัญที่จีนมุ่งหวังให้เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์หลักในการขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจของจีนด้วย โดยจีนตั้งเป้าให้ในปี 2025 มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 30% ของรถในจีน และในปี 2035 จะต้องมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 100%

          ความสำเร็จของการสร้าง Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้าในจีน มาจาก3 ปัจจัย คือ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า 2. นโยบายส่งเสริมจากภาครัฐและภาคเอกชนให้มีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า และ 3. การผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเพื่อสร้าง Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้น

          ผ่านการสนับสนุนเงินทุนพัฒนา ทั้งโครงการก่อสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า และโครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้รถยนต์ไฟฟ้า นับจากปี 2555 ถึงปัจจุบัน จีนอุดหนุนเงินทุนในโครงการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนสำหรับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าไปหลายพันล้านหยวน แซงหน้าเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ครองแชมป์เป็นผู้ผลิต-ขายแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ได้มากที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2556 และครองอันดับ 1 ตลาดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ด้วยยอดขาย 61% ของยอดขายทั่วโลกในปี 2561 ซึ่งบริษัทสัญชาติจีน 7 บริษัท อยู่ในทำเนียบบริษัทที่ผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนระดับโลก 12 อันดับแรก  ทั้งนี้จีน ยังคงพร้อมจะพัฒนารองรับการขยาย ตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ รวมถึงการตั้งเป้าสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) อีกกว่า 12,000 สถานี และกระจายจุดชาร์จ (Charging Pile) อีกกว่า 4.8 ล้านแห่ง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้การใช้งาน

 

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 43% ทั่วโลก ในปี 2020

            สัญญาณแสดงให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางมากขึ้น ในปี 2020 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 43% ทั่วโลก เกิดมาจากราคาแบตเตอรี่ที่ลดลงอย่างมาก นักวิเคราะห์ มองว่า ถ้าราคาแบตเตอรี่ยังลดลงต่อเนื่อง ในปี 2023 และ 2025 ยอดขายอาจสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการที่ประเทศนอร์เวย์ใช้มาตรการทางภาษี ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน ก็ปรากฏว่า มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 54%

 

บริษัทแบตฯ สัญชาติอิสราเอล พัฒนาแบตฯ ชาร์จไว ภายใน 5 นาที /วิ่งไกล 480 ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

            รายงานข่าวที่น่าสนใจ เมื่อ StoreDot บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมรุ่นใหม่เพื่อใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศอิสราเอล ระบุว่า สามารถผลิตแบตเตอรี่ที่ใช้ธาตุกึ่งโลหะ จำพวกซิลิคอน เจอมาเนียม และเทคโนโลยีนาโนมาใช้แทนกราไฟต์ ซึ่งจะช่วยให้ประจุไอออนสามารถผ่านได้ไวขึ้น และทำให้ชาร์จไฟเต็มอย่างรวดเร็ว ภายใน 5 นาที รวมถึงทำให้รถยนต์ไฟฟ้า วิ่งได้ไกลถึง 480 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ซึ่งStoreDot ยังสามารถทำให้ราคาของแบตเตอรี่ถูกลงกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ที่ใช้ในน้ำมันในปัจจุบันอย่างมากอีกด้วย

            แบตเตอรี่แบบชาร์จเร็วของ StoreDot น่าจะสามารถวางตลาดได้ภายใน 3 ปีข้างหน้าและในระดับราคาที่จับต้องได้ รวมถึงน่าจะยิ่งช่วยทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

            ขณะที่ฟากของ Tesla เจ้าตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ก็กำลังเดินหน้าพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่อย่างเต็มที่ ซึ่งตอนนี้ Tesla ใช้เวลาชาร์จแบตฯ เร็วสุดก็ยังต้องใช้เวลาถึง 30 นาที แต่เร็ว ๆ นี้ กำลังจะเปิดตัวแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่ใช้ระยะเวลาชาร์จเพียง 10 นาทีออกมา ส่วนบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นอย่าง Toyota ก็กำลังจะเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ชาร์จได้ไว 10 นาทีเช่นเดียวกันในปีนี้

 

จับกระแสยานยนต์ไฟฟ้าโลกบูม เร่งสร้างโอกาสการค้าไทย

            รายงานของสำนักงานพลังงานสากล ในปี 2562 ทั่วโลกมียอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ขนาดเล็ก ที่ใช้ทั้งน้ำมันและแบตเตอรี่แบบเสียบปลั๊กอัดประจุไฟฟ้าได้ และแบบใช้แบตเตอรี่อย่างเดียว ราว 2.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% และมียอดจดทะเบียนทั้งโลกรวม 7.17 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40% ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ในปี 2573 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า PHEV และ BEV ทั่วโลก จะสูงถึง 25 ล้านคัน และมียอดสะสมประมาณ 140 ล้านคัน โดยรถยนต์นั่งขนาดเล็กจะมียอดขายสูงสุด ซึ่งตลาด จีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา และอินเดีย จะขยายตัวชัดเจน

           ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้วิเคราะห์ ข้อมูลโครงสร้างการค้าของโลกและไทยกลุ่มสินค้ายานยนต์ไฟฟ้า 3 ประเภท คือ PHEV, BEV และ HEV หรือยานยนต์ไฮบริดแบบไม่มีที่เสียบปลั๊กอัดประจุไฟฟ้า และกลุ่มชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์นั่งไฟฟ้าขนาดเล็ก 20 รายการ พบว่า ในปี 2562 การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของทั้งโลกมีมูลค่ารวม 70,817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 55%  โดย ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และจีน มีบทบาทในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลกครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเป็นตลาดผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีศักยภาพ

          สำหรับประเทศไทย  ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563ได้ส่งออกยานยนต์ไฟฟ้า เกือบทั้งหมดเป็นรถ HEV มูลค่า 309.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 155% ไปตลาดส่งออก 3 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าของไทย มีมูลค่า 4,145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน แสดงให้เห็นว่า ไทยยังคงเป็นผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แต่การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าไปยังผู้ผลิตและตลาดสำคัญของโลกอย่างญี่ปุ่น จะเป็นโอกาสให้ไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลกมากขึ้น

            ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง จากกลุ่มผู้ผลิตหลัก และกลุ่มอาเซียน (เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) ที่ต้องการผันตัวเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเช่นเดียวกับไทย

            ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมธุรกิจและระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า ให้ดึงดูดการลงทุน เพื่อเป็นได้ทั้งฐานการผลิตและตลาดที่มีศักยภาพ อาจจะหาพันธมิตรผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญของโลก เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และจีน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาและเพิ่มโอกาสในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้าโลก

            ด้านภาครัฐต้องอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน เพื่อให้เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบ และส่งเสริมการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อหาโอกาสในประเทศใหม่ ๆ เช่น เม็กซิโก ที่สามารถเข้าตลาดสหรัฐฯ ผ่านความตกลง USMCA (United States-Mexico-Canada Agreement) หรือ เยอรมนี เพื่อเข้าสู่ตลาดยุโรป ตลอดจนพิจารณาการลงทุนในประเทศที่เป็นตลาดเดิมเพื่อรักษาฐานลูกค้า และลดความเสี่ยงกรณีที่ค่ายรถจากประเทศอื่นเข้าไปลงทุนผลิตและจำหน่ายในตลาดเหล่านั้น